หน้าที่ของการเป็นเจ้าของ กิจการครอบครัว

02 ก.พ. 2567 | 22:00 น.

หน้าที่ของการเป็นเจ้าของ กิจการครอบครัว : Family Business Thailand รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

การเป็นเจ้าของธุรกิจครอบครัวมีความซับซ้อนมากกว่าที่หลายคนคิด และโครงสร้างความเป็นเจ้าของยังมีผลต่อการเสียภาษี (Taxation) และการคุ้มครองทรัพย์สิน (Asset Protection)ด้วย นอกจากนี้เจ้าของธุรกิจครอบครัวยังจะต้องทบทวนในเรื่องของการกำกับดูแลทุกครั้งเมื่อคนรุ่นใหม่ก้าวเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจครอบครัว เนื่องจากการตัดสินใจจะซับซ้อนขึ้นเมื่อครอบครัวเจ้าของมีขนาดใหญ่ขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษจึงเป็นเรื่องของโครงสร้างความเป็นเจ้าของ (Ownership Structure) และหน้าที่ของเจ้าของกิจการ (Ownership Function) ดังรายละเอียดต่อไปนี้

โครงสร้างความเป็นเจ้าของ (Ownership Structure) ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณา ได้แก่เรื่องของ ภาษี ทรัพย์สิน และการสืบทอดกิจการ เริ่มต้นที่ ภาษี (Tax) เป็นต้นทุนวัตถุดิบที่สำคัญสำหรับธุรกิจครอบครัว ดังนั้นรูปแบบความเป็นเจ้าของที่ประหยัดภาษีมากที่สุด เมื่อพิจารณาจากสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบที่ธุรกิจดำเนินอยู่คือแบบใด โครงสร้างความเป็นเจ้าของในปัจจุบันช่วยให้เจ้าของสามารถดึงกำไรและเงินทุนออกจากธุรกิจ โดยไม่ต้องมีภาระด้านภาษีมากเกินไปหรืออาจส่งผลกระทบในทางลบอื่นๆหรือไม่

หน้าที่ของการเป็นเจ้าของ กิจการครอบครัว

ขณะที่ในส่วนของการคุ้มครองทรัพย์สิน (Asset)  ควรพิจารณาว่าโครงสร้างรูปแบบใดที่ช่วยปกป้องมูลค่าของธุรกิจและทรัพย์สินได้ดีที่สุดในกรณีที่มีการฟ้องร้อง การล่มสลายของสถาบันครอบครัว หรือเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อื่นๆ เป็นต้น และการวางแผนสืบทอดกิจการ (Succession) ซึ่งทุกธุรกิจต้องจัดทำในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง โครงสร้างหรือกระบวนการกำกับดูแลแบบใดที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านความเป็นเจ้าของไปสู่รุ่นต่อไปได้ดีที่สุด

ไม่ว่าจะภายในช่วงชีวิตของเจ้าของปัจจุบันหรือหลังเจ้าของเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม ทั้งนี้สิ่งที่ต้องตระหนักคือช่วงที่ธุรกิจกำลังเปลี่ยนผ่านจากรุ่นสู่รุ่น โครงสร้างความเป็นเจ้าของที่เหมาะสมกับเป้าหมายในปัจจุบันอาจไม่เหมาะกับเจ้าของรุ่นต่อไป นอกจากนี้โครงสร้างความเป็นเจ้าของที่ออกแบบมาไม่เหมาะสมอาจเป็นตัวเร่งให้เกิดการยุติธุรกิจครอบครัวเร็วขึ้น ดังนั้นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักควรตอบคำถามต่อไปนี้ให้ได้

  • ครอบครัวจะรักษามรดกไว้ได้ดีที่สุดและจะขยายกิจการได้อย่างไร
  • รูปแบบความเป็นเจ้าของช่วยให้ธุรกิจครอบครัวดีขึ้นในระยะยาวหรือไม่
  • รูปแบบโครงสร้างที่เป็นอยู่นี้มีความยั่งยืนหรือไม่ สามารถปรับเปลี่ยนได้หรือไม่

หน้าที่ของเจ้าของ (Ownership Function) สำหรับรูปแบบเจ้าของธุรกิจครอบครัวมักจะไม่มีความซับซ้อนในการระบุตัวเจ้าของ ทั้งนี้ธุรกิจครอบครัวที่นำโดยผู้ก่อตั้งนั้นการตัดสินใจเกี่ยวกับความเจ้าของอาจจะทำบนโต๊ะอาหาร โดยกลยุทธ์ธุรกิจมีความชัดเจน เจ้าของธุรกิจครอบครัวมีอำนาจควบคุมสูงและสามารถเชื่อมโยงกับเป้าหมาย

ความมุ่งมั่นตั้งใจ ค่านิยม และวิสัยทัศน์ของผู้ก่อตั้งได้อย่างแท้จริง ความท้าทายหลักของธุรกิจครอบครัวคือการสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้สืบทอด ขณะที่ธุรกิจครอบครัวรุ่นที่ 2 ยังคงสานต่อเป้าหมายและวิสัยทัศน์ของผู้ก่อตั้งต่อไป อย่างไรก็ตามธุรกิจครอบครัวควรใช้รูปแบบความเป็นเจ้าของที่มีโครงสร้างมากขึ้น

เนื่องจากในระยะนี้มักจะมีเจ้าของมากกว่าหนึ่งราย และแน่นอนว่าความเป็นเจ้าของในธุรกิจครอบครัวที่เจริญรุ่งเรืองหลายรุ่นย่อมมีความท้าทายมากขึ้น เพราะเป็นการยากที่จะมีความคิดเห็นสอดคล้องกันในหมู่ครอบครัวเจ้าของเมื่อถึงรุ่นที่ 3 ขึ้นไป เนื่องจากสมาชิกในครอบครัวที่เกี่ยวข้องมีจำนวนมากขึ้น

ซึ่งมักจะมีเป้าหมาย ความทะเยอทะยาน ค่านิยม และวิสัยทัศน์ที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการสร้างกรอบการกำกับดูแลครอบครัวเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของและการตัดสินใจ สำหรับการจัดการธุรกิจครอบครัวในรุ่นที่ดำเนินการโดยเครือญาติ (Cousin Consortium)

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงโครงสร้างความเป็นเจ้าของในธุรกิจครอบครัวรุ่นต่อๆไป สิ่งที่ควรพิจารณา ได้แก่

  • ใครเป็นเจ้าของ และใครเป็นเพียงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
  • ใครมีอำนาจในการตัดสินใจที่มีอิทธิพลต่อทิศทางของธุรกิจ และควบคุมการดำเนินงานและความเจริญรุ่งเรืองของบริษัทในระยะยาว
  • โครงสร้างการกำกับดูแลแบบใดที่ควรจัดตั้งขึ้น เพื่อให้เจ้าของทุกคนมีความคิดเห็นสอดคล้องกับเป้าหมายของความเป็นเจ้าของและค่านิยมของครอบครัว

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,962 วันที่ 1 - 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567