ทุนนิยมแบบ อดเปรี้ยวไว้กินหวาน บทเรียนจากธุรกิจครอบครัว (จบ)

06 ม.ค. 2567 | 07:30 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ม.ค. 2567 | 07:53 น.

ทุนนิยมแบบ อดเปรี้ยวไว้กินหวาน บทเรียนจากธุรกิจครอบครัว (จบ) : Family Business Thailand รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

2. การสร้างความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นอีกคุณลักษณะที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวแตกต่างจากธุรกิจทั่วไป การทำงานของธุรกิจครอบครัวแบบทุนนิยมอดเปรี้ยวไว้กินหวานจึงไม่ได้คิดถึงถึงผลประโยชน์ตนเองฝ่ายเดียวแต่จะให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วยเสมอ

เพราะตระหนักดีว่าทุกฝ่ายล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจของครอบครัวประสบความสำเร็จในระยะยาว จากการมีความผูกพันส่วนตัวกับเจ้าของครอบครัว ธุรกิจครอบครัวจึงมักมีความสัมพันธ์อันยาวนานกับซัพพลายเออร์ ผู้จัดจำหน่าย ลูกค้า และพนักงาน

ทุนนิยมแบบ อดเปรี้ยวไว้กินหวาน บทเรียนจากธุรกิจครอบครัว (จบ)

อีกทั้งธุรกิจครอบครัวยังเก่งในเรื่องการเข้าหาชุมชนและแสดงอัตลักษณ์ของครอบครัว มีความไว้วางใจและการพึ่งพากันในชุมชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละแห่ง จึงช่วยให้ธุรกิจครอบครัวเอาชนะความท้าทายที่เกิดจากความไม่แน่นอนในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจได้ ทั้งนี้ความร่วมมืออันแข็งแกร่งของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนี้เห็นได้ชัดเจนในช่วงที่เกิดโรคระบาด ซึ่งเป็นช่วงที่ธุรกิจครอบครัวจำนวนมากสามารถฟื้นตัวกลับมาดำเนินธุรกิจและสร้างผลกำไรได้เร็วกว่าธุรกิจทั่วไป

3. การมุ่งมั่นนำค่านิยมครอบครัวมาใช้ในทางปฏิบัติ บทเรียนสำคัญที่สุดจากธุรกิจครอบครัวอีกอย่างหนึ่ง คือรากฐานที่แข็งแกร่งของค่านิยมครอบครัว การหยั่งรากลึกของค่านิยมครอบครัวช่วยให้ธุรกิจครอบครัวพัฒนาวิสัยทัศน์และเป้าหมายร่วมกัน กำหนดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนและสอดคล้องกันในการทำธุรกิจ และค่านิยมจะขับเคลื่อนนโยบายและแนวปฏิบัติในธุรกิจครอบครัว

รวมถึงค่านิยมครอบครัวยังเป็นเข็มทิศทางศีลธรรม สร้างแรงบันดาลใจในการปฏิบัติงานที่ดีเยี่ยม และช่วยให้ธุรกิจครอบครัวมีความมั่นคงและรักษาแนวปฏิบัติที่สม่ำเสมอ สามารถเอาชนะความยากลำบากและแก้ไขข้อขัดแย้งทางจริยธรรมในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา

ตัวอย่างเช่น ในการวิจัยเชิงคุณภาพเกี่ยวกับการนำค่านิยมครอบครัวมาใช้ในทางปฏิบัติ พบว่า Tatas และกลุ่ม Godrej Group ได้รับความไว้วางใจและความผูกพันจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยมีสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมที่มีรากฐานมาจากระบบค่านิยมที่แข็งแกร่ง ซึ่งสืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่นนั่นเอง

การสร้างค่านิยมและนำมาใช้ทางปฎิบัติของครอบครัวเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา และทำได้ยากลำบาก แต่ผลลัพธ์ที่ได้นั้นคุ้มค่าอย่างยิ่งที่จะลงมือทำ ซึ่งระบบทุนนิยมอดเปรี้ยวไว้กินหวานของธุรกิจครอบครัวนั้นต้องการค่านิยมร่วมของครอบครัวเพื่อใช้ในการยึดเหนี่ยวกันในระยะยาว

ที่มา: Navneet Bhatnagar, Nupur Pavan Bang and Sougata Ray.  2023.  What family and non-family businesses can learn from each other.  The Economic Times News. Available: https://economictimes.indiatimes.com/news/company/corporate-trends/what-family-and-non-family-businesses-can-learn-from-each-other/articleshow/99276293.cms?from=mdr

ข้อมูลเพิ่มเติม: www.familybusinessthailand.org

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,954 วันที่ 4 - 6 มกราคม พ.ศ. 2567