จากร้อยละ 3 สู่เป้าหมายร้อยละ 5: ผลลัพธ์และเส้นทางไทยสู่เศรษฐกิจรายได้สูง

30 ต.ค. 2566 | 23:05 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ต.ค. 2566 | 23:08 น.

จากร้อยละ 3 สู่เป้าหมายร้อยละ 5: ผลลัพธ์และเส้นทางไทยสู่เศรษฐกิจรายได้สูง คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์ นอกขนบ โดย สุวิทย์ สรรพวิทยศิริ “มูลนิธิ สวค.”

10 ปีที่ผ่านมา 2556-2565 การเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.9 เท่านั้น และปี 2566 คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจประเทศไทยจะเติบโตต่ำกว่าร้อยละ 3.0 หรือในกรณีเลวร้ายอาจจะกลับไปโตเท่ากับระดับเฉลี่ยคือร้อยละ 1.9 ต่อปี อีกครั้ง เป็นระดับที่การเติบโตในระดับศักยภาพของประเทศ (potential GDP growth) อยู่ที่ระดับร้อยละ 2.0 ถึง 3.0 เท่านั้น

หากพิจารณาผลลัพธ์ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไม่สามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง (middle income trap) สู่ประเทศเศรษฐกิจรายได้สูงได้ (high income economy) โดยในปี 2566 คาดว่ารายได้ต่อหัวต่อคนต่อปี (GDP per capita) ของไทยอยู่ที่ 7,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปีเท่านั้น เทียบกับระดับรายได้ขั้นต่ำของธนาคารโลกที่กำหนดไว้ว่าประเทศที่มีรายได้ต่อหัวต่อคนต่อปีเกิน 12,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี จะจัดเป็นประเทศเศรษฐกิจรายได้สูง เช่น จีน (2564, 12,556US$) และมาเลเซีย (2566, 11,850US$) ในปี 2567 ก็จะข้ามผ่านเส้น 12,500 US$

ทั้งนี้ที่ระดับรายได้ขั้นต่ำของประเทศรายได้สูง มีการเติบโตโดยเฉลี่ยร้อยละ 2.5 ต่อปี ซึ่งหากประเทศไทยเติบโตเท่ากับระดับดังกล่าวจะทำให้สรุปได้ว่า ประเทศไทยจะไม่สามารถเปลี่ยนสถานะเป็นประเทศสูงได้เลยและยังถูกทิ้งห่างออกไปเรื่อยๆ จากปัญหาดังกล่าวทำให้ประเทศไทยสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน เกิดปัญหาเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ ตามมา อย่างไรก็ตามแนวทางการแก้ไขของรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนการเติบโตใหม่สูงกว่าเดิม ผู้เขียนจะปรับเปลี่ยนอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยในระยะยาวออกเป็น 4 กรณี โดยกำหนดอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 2.5 ต่อปี ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐไม่เปลี่ยนแปลงในระดับปัจจุบันในระยะยาว และประชากรลดลงร้อยละ 0.25 ต่อปี ทั้ง 4 กรณีในช่วง 20 ปีจากปัจจุบัน (2566-2585) ดังนี้

กรณีที่ 1 หากเศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 3 ต่อปี จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศรายได้สูงในปี 2583 หรือ 18 ปี กรณีที่ 2 หากเศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 4 ต่อปี จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศรายได้สูงในปี 2579 หรือ 14 ปี กรณีที่ 3 หากเศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศรายได้สูงในปี 2577 หรือ 12 ปี และ กรณีที่ 4 หากเศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 6 ต่อปี จะทำให้เศรษฐกิจไทยกลายเป็นประเทศรายได้สูงในปี 2575 หรือ 10 ปี นับจากปัจจุบัน อย่างไรก็ตามประเทศไทยหากพิจารณาในปี 2583 เปรียบเทียบกันระหว่างกรณีร้อยละ 3 กับร้อยละ 5 แต่ผลลัพธ์ในปี 2583 นั้นต่างกันถึง 7,658 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 280,000 บาทต่อคนต่อปี

ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันทั้งในแง่ของระยะเวลาและรายได้ ที่สามารถประหยัดระยะเวลาได้ 8-10 ปีและรายได้ที่ต่างกัน 200,000 – 300,000 บาทต่อคนต่อปี อย่างมีนัยสำคัญ ย่อมส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและโอกาสของประเทศไทยในอนาคต โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่และคนระดับล่าง โจทย์สำคัญของประเทศไทยจึงอยู่ที่จะทำอย่างไร จึงเปลี่ยนการเติบโตเฉลี่ยในระยะยาวจากร้อยละ 3 เป็นอย่างน้อยร้อยละ 5 อย่างสิ้นเชิง ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องติดตามกันต่อไป