การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 แต่ละพรรคการเมืองได้หยิบยก “นโยบายประชานิยม” ขึ้นมาเกทับกันทั่วหน้า โดยเฉพาะ 6 พรรคใหญ่ ประกอบด้วย ประชาธิปัตย์ ก้าวไกล ภูมิใจไทย เพื่อไทย รวมไทยสร้างชาติ และพลังประชารัฐ ที่มุ่งเน้นนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อาทิ การขึ้นค่าแรง, เพิ่มอำนาจซื้อประชาชน, อุดหนุนเกษตรกร, เพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรม และ SMEs, กระตุ้นเศรษฐกิจ ลดค่าครองชีพด้านพลังงาน รวมถึงเติมเงินในกระเป๋าเงินดิจิทัล
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ประเมินเม็ดเงินของ 6 พรรคการเมืองคาดว่าจะต้องใช้รวมกันกว่า 8.45 ล้านล้านบาท โดยพรรคเพื่อไทยใช้เม็ดเงินมากสุดประมาณ 2.96 ล้านล้านบาท รองลงมาคือพรรคก้าวไกล ใช้เม็ดเงินรวม 1.95 ล้านล้านบาท พรรคพลังประชารัฐ 1.57 ล้านล้านบาท พรรคประชาธิปัตย์ 8.27 แสนล้านบาท พรรคภูมิใจไทย 7.85 แสนล้านบาท และพรรครวมไทยสร้างชาติ 3.58 แสนล้านบาท
นโยบายหาเสียงดังกล่าว กำลังสร้างความกังวลต่อภาระการคลังของประเทศ เพราะนโยบายที่นำมาใช้ไม่ได้ระบุแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้มาจากช่องทางใด และคำนึงถึงกรอบวินัยการเงินการคลัง เพดานหนี้สาธารณะของประเทศหรือไม่
หากพิจารณากรอบรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 3.35 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย รายจ่ายประจำ 2.50 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 74.89 % ของวงเงินงบประมาณรวม รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงค้าง 33,759.1 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.01% ของวงเงินงบประมาณรวม รายจ่ายลงทุน 690,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20.60 % ของวงเงินงบประมาณรวม รายจ่ายชำระคืนเงินต้น 117,250 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.50% ของวงเงินงบประมาณรวม
ขณะที่ประมาณการวงเงินงบประมาณในปี 2568 อยู่ที่ 3.45 ล้านล้าบาท ปี 2569 อยู่ที่ 3.56 ล้านล้าบาท และ ปี 2570 อยู่ที่ 3.682 ล้านล้านบาท
ส่วนการประมาณการรายได้รัฐบาลตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567-2570 ตามแผนได้กำหนดการจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2567 อยู่ที่ 2.757 ล้านล้านบาท ปี 2568 อยู่ที่ 2.867 ล้านล้านบาท ปี 2569 อยู่ที่ 2.95 ล้านล้านบาท และปี 2570 อยู่ที่ 3.041 ล้านล้านบาท ซึ่งจะต้องกู้เงินมาชดเชยการขาดดุล
ปี 2567 ประมาณ593,000 ล้านบาท ปี 2568 ประมาณ 590,000 ล้านบาท ปี 2569 ประมาณ 615,000 ล้านบาท และปี 2570 ประมาณ 641,000 ล้านบาท
จากกรอบงบประมาณดังกล่าว จึงไม่สามารถจะมีเม็ดเงินมาสนับสนุนนโยบายการหาเสียงแบบประชานิยมดังกล่าวได้ทั้งหมด หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้ หากพิจารณาตามกรอบวงเงินงบประมาณที่ตั้งไว้
หากจะดำเนินการได้จริง การหารายได้ของรัฐบาลใหม่ ก็มีไม่กี่ทางเลือก ทางแรกเป็นการหารายได้จากการจัดเก็บภาษีในรูปแบบต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น การปรับภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT 1 % ช่วยมีรายได้เพิ่มขึ้นมา 8 หมื่นล้านบาทต่อปี หรือ หากไม่ต้องการสร้างภาระประชนเพิ่มขึ้น ก็ต้องหันไปกู้เงินมาใช้จ่ายแทน ซึ่งก็เป็นสร้างภาระให้กับประเทศกับประชาชนที่ต้องเป็นหนี้เพิ่มขึ้นอีก
ดังนั้น นโยบายหาเสียงกับเรื่องการคลังของประเทศ ต้องพิจารณาว่าแบบไหนที่จะพอเหมาะพอดี ไม่มากเกินไปจนเป็นภาระการคลังระยะยาว และเป็นอุปสรรคต่อขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศ