โอกาส- อุปสรรค ส่งออก "ข้าวไทย"

22 พ.ค. 2567 | 09:47 น.
อัพเดตล่าสุด :22 พ.ค. 2567 | 11:40 น.

โอกาส- อุปสรรค ส่งออก "ข้าวไทย" : บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3994

ปี 2566 ไทยส่งออกข้าวได้ 8.76 ล้านตันเพิ่มขึ้น 13.62% หรือ คิดเป็นมูลค่า 178,136 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.43% สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ขณะที่ในปี 2567 ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือด ผลผลิตข้าวโลกเพิ่มขึ้น แต่ประเทศไทยเองมีผลผลิตที่ลดลง ผนวกกับหลายประเทศลดการนำเข้าข้าว ทำให้กรมการค้าต่างประเทศประเมินว่า การส่งออกข้าวไทยจะทำได้เพียง 7.5 ล้านตัน

เรียกว่าสมรภูมิ “ส่งออกข้าว” ระอุ ดุเดือด ชนิดตาต่อตา ฟันต่อฟัน

ยิ่งเห็นตัวเลขการส่งออกข้าวไตรมาสแรกที่ผ่านมา “อินเดีย” ผู้ส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1 มีปริมาณสูงสุด 4.30 ล้านตัน แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 กลับติดลบ 28.1% และ รัฐบาลอินเดียเองก็สั่งชะลอการส่งออกข้าว หลังจากพบว่า ราคาข้าวในประเทศพุ่งสูง มากขึ้น

ส่วนไทยที่เป็นเบอร์ 2 มีการส่งออกข้าว 2.46 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 19.4% ตามด้วยเวียดนาม 2.18 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 17.7% ปากีสถาน 1.98 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 68.5% และ สหรัฐฯ 0.80 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 90.5%

โอกาสของไทยดูเหมือนจะสดใสขึ้น จากนโยบายของรัฐบาลอินเดีย ที่จะชะลอการส่งออกข้าว เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคา ให้ชาวอินเดียได้บริโภคข้าวในราคาที่สมเหตุสมผล

ขณะที่คู่แข่งสำคัญอย่าง “เวียดนาม” วันนี้ด้วยผลผลิตข้าวที่มีมากถึง 43 ล้านตัน เขากลับไม่ได้มองไทยเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว เพราะเขามองถึงมูลค่าที่เขาพึงได้ 

ในสัปดาห์ก่อนจึงเห็นรายงานอ้างอิงสื่อท้องถิ่นในเวียดนาม ที่ระบุว่า ราคาข้าวส่งออกของเวียดนามในตลาดโลก ปรับตัวสูงขึ้น 3-8 ดอลลาร์ต่อตัน ทำให้เวียดนามกลับมาทวงแชมป์ตลาดข้าวโลก ในแง่ของราคาส่งออกที่แพงที่สุด โดยอ้างอิงว่า ราคาข้าวหัก 5% แพงกว่าข้าวไทย 3 ดอลลาร์ต่อตัน

ขณะที่ผู้ส่งออกข้าวทั่วโลก เตรียมพร้อมวางแผนรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นรอบโลก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทั้ง เอลนีโญ-ลานีญา ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงปัญหาต้นทุนภาคการผลิตที่มีแต่ปรับสูงขึ้น

เชื่อว่าวันนี้ “ไทย” เองก็เตรียมความพร้อมเต็มที่ โอกาสส่งออกข้าวไทยจึงยังคงสดใส โดยเฉพาะ "ข้าวหอมมะลิ" ที่ทั่วโลกยอมรับ