ก้าวสู่ศักราชใหม่ 2568 ตรงกับ ปีมะเส็ง งูเล็ก แต่ดูเหมือนอะไรๆ จะไม่เล็ก แต่ในทางกลับกันจะเป็นงูพ่นไฟ เนื่องจากมีกูรูหลายสำนักทำนายทายทักว่า แนวโน้มกำลังซื้อชะลอตัวไม่ต่างไปจากปี 2567 ตัวแปรหลัก หนี้ครัวเรือนที่สูง แม้สถาบันการเงินจะเข้มงวดปล่อยกู้ สะกัดไม่ให้ภาระหนี้เติมเข้าสู่ระบบ
รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แจกเงิน 10,000 บาทสำหรับกลุ่มเปราะบาง คนพิการ แจกเงินผู้สูงอายุ 10,000 บาท มาตรการ Easy E-Receipt มาตรการสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศ ซื้อสินค้าและลดหย่อนภาษี เริ่ม ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม-28 กุมภาพันธ์ 2568 อีกทั้งโครงการแก้หนี้ “คุณสู้ เราช่วย” ที่รัฐบาลคาดการว่า จะเกิดการหมุนเวียนขอสินเชื่อใหม่
แม้จะเป็นเรื่องที่ดีแต่ ระยะยาวมองว่า เป็นดาบสองคม ด้านดีช่วยให้สินเชื่อใหม่หมุนเวียน แต่อีกมุมจะเกิดการกลับมาสร้างหนี้ใหม่
ขณะกระทรวงการคลังคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2568 จะขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี จากปัจจัยบวก 4 ด้านหลัก คือ การบริโภคภาคเอกชน การส่งออกสินค้า การท่องเที่ยว และ การลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน
นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ในปี 2568 คาดว่าจะมีจำนวน 39 ล้านคน ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ อีกทั้งจากการเร่งรัดการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุน และการเร่งรัดโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ แต่ประเมินว่า เศรษฐกิจจะไม่ขยายตัวแบบอู่ฟู่มากนัก
ในทางกลับกัน ที่น่ากังวล ปัจจัยเสี่ยงสงครามการค้า จากการมาของ “โดนัลด์ ทรัมป์” เข้ามารับตำแหน่งในเดือนมกราคม 2568 ซึ่งมีผลเกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจการค้าโลก รวมถึงในอีกหลากหลายมิติ
และที่เลี่ยงไม่ได้ คือ สงครามจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์อีกหลายคู่ ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย-ยูเครน สงครามตะวันออกกลาง ล้วนมีผลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ รวมถึงไทยแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะต้นทุนราคานํ้ามัน พลังงาน ภาคการขนส่ง วัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น และนำมาซึ่งต้นทุนสินค้าในประเทศ รวมถึงที่อยู่อาศัย
อย่างไรก็ตาม ทางออกที่ดีที่กูรูทางเศรษฐกิจ มองว่า รัฐบาลควรมีนโยบายสร้างงานสร้างรายได้ให้ประชาชน และธุรกิจเอสเอ็มอีที่ชัดเจน จุดนี้จะเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนได้เองตามธรรมชาติในอนาคต
หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 44 ฉบับที่ 4,057 วันที่ 29 ธันวาคม 2567 - 1 มกราคม พ.ศ. 2568