ร้อยเรื่อง พันเหตุการณ์ สูญหมื่นล้าน ปี 67

19 ธ.ค. 2567 | 04:51 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ธ.ค. 2567 | 05:06 น.

ร้อยเรื่อง พันเหตุการณ์ สูญหมื่นล้าน ปี 67 : บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4054

นับถอยหลังสู่ศักราชใหม่ ที่เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วัน ทำให้อยากย้อนกลับไปดูว่า ในปี 2567 มีเรื่องราวอะไรที่เกิดขึ้นและสร้างแรงกระเพื่อมให้กับเศรษฐกิจไทยบ้าง

ต้องยอมรับว่า ปี 2567 มีหลากเรื่องราวที่ต้องเกาะติด ทั้งข่าวดี และข่าวร้าย ที่ถูกพูดถึงไม่ว่าจะเป็น โครงการแจกกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้กับกลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านคน ในเดือนกันยายน, โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ที่ตอนหลังปรับเปลี่ยนมาเป็นโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 10 ไร่ แทน, การยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรคเป็น 30 บาทรักษาทุกที่ ที่จะครอบคลุมทั่วประเทศภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2567

ส่วนสถานการณ์ที่สร้างความตื่นตระหนก ตกใจเห็นจะหนีไม่พ้น การเปิดโปงขบวนการธุรกิจตลาดแบบตรง “ดิไอคอนกรุ๊ป” ที่มีความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน หลอกลวงลงทุน ซึ่งมีผู้เสียหายมากกว่า 1 หมื่นคน มูลค่าความเสียหายกว่า 3,200 ล้านบาท

รวมไปถึงคดีฉ้อโกง-หลอกให้ร่วมลงทุนโครงการด้านสุขภาพของ “หมอบุญ-นพ.บุญ วนาสิน” ซึ่งมีผู้เสียหายกว่า 250 คน มีมูลค่าความเสียหายรวม 7,500 ล้านบาท ฯลฯ

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นในปี 2567 แต่อีกหนึ่งสถิติ คือ ควรรับรู้ไว้ถึงความเดือดร้อนของประชาชน คือ เรื่องร้องทุกข์ของผู้บริโภค ซึ่งในปีนี้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รายงานการรับเรื่องร้องทุกข์ทั่วประเทศ ณ วันที่ 17 ธ.ค. 2567 พบว่า มีผู้ร้องทุกข์จำนวน 24,925 เรื่อง กำลังดำเนินการ 10,936 เรื่อง ยุติแล้ว 13,989 เรื่อง โดยจังหวัดที่มีเรื่องร้องทุกข์มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี และสมุทรปราการ ตามลำดับ

แยกตามประเภทร้องทุกข์ ได้แก่ หมวดสินค้า จำนวน 11,778 เรื่อง คิดเป็น 47.25% บริการ 8,704 เรื่อง คิดเป็น 34.92% อสังหาริมทรัพย์ 3,343 คิดเป็น 13.41% สินค้า,บริการ 964 เรื่อง คิดเป็น 3.87% อสังหาริมทรัพย์,บริการ 83 เรื่อง คิดเป็น .33% ไม่ระบุ 32 เรื่อง คิดเป็น .13% อสังหาริมทรัพย์,สินค้า 18 เรื่อง คิดเป็น .07% อสังหาริมทรัพย์, สินค้า, บริการ 2 เรื่อง คิดเป็น .01% และ บริการ,สินค้า 1 เรื่อง คิดเป็น .00%

สาเหตุของการร้องทุกข์ ได้แก่ 1. ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้บริการ 2. ตรวจสอบข้อเท็จจริง 3. ไม่ได้รับความเป็นธรรม 4.สั่งซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้า

ขณะที่อีกหน่วยงาน คือ สภาองค์กรของผู้บริโภค พบว่า มีผู้เข้ามาร้องทุกข์จำนวน 17,717 เรื่อง โดย 5 เรื่องที่มีผู้ร้องเรียนสูงสุด ได้แก่ สินค้าและบริการทั่วไป 7,688 เรื่อง มูลค่าความเสียหาย 446 ล้านบาท การเงินและการธนาคาร 4,216 เรื่อง มูลค่าความเสียหาย 1,074 ล้านบาท

การสื่อสาร โทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ 1,954 เรื่อง มูลค่าความเสียหาย 17 ล้านบาท อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย 938 เรื่อง มูลค่าความเสียหาย 881 ล้านบาท และบริการสุขภาพ 936 เรื่อง มูลค่าความเสียหาย 69 ล้านบาท

หากประมวลโดยภาพรวม จะเห็นว่า ปัญหาที่ผู้บริโภคพบมากที่สุด ได้แก่ ปัญหาการซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ซื้อของไม่ได้ของ และของที่ได้ไม่ตรงปก

รองลงมาคือ ปัญหาการเงินการธนาคาร ทั้งปัญหาแอปปล่อยเงินกู้ การถูกขโมยข้อมูลส่วนบุคคล และการทวงหนี้โหด และปัญหาการสื่อสาร โทรคมนาคมฯ ซึ่งเป็นเรื่องของปัญหาแก๊งมิจฉาชีพ ที่โทรศัพท์หรือส่ง SMS แอบอ้างเป็นหน่วยงานต่างๆ หลอกให้เหยื่อหลงเชื่อและโอนเงิน รวมถึงการหลอกดูดเงินออกจากบัญชีธนาคาร

จะว่าไปแล้ว ปัญหาต่างๆ ก็ไม่แตกต่างจากปีก่อนหน้า บ่งบอกได้ว่า ปัญหาเหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข หรือแก้ไม่ตรงจุด ทำให้ยังเกิดขึ้น และสร้างความเดือดร้อนมาจนถึงทุกวันนี้ 

หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,054 วันที่ 19 - 21 ธันวาคม พ.ศ. 2567