ทองทิว สุวรรณทัต และนิโรธ เกษรศิริ กล่าวถึงวัดอโศการาม บางปู สมุทรปราการ ในนิตยสารโลกทิพย์ ฉบับที่ 12 เดือนปีที่ 2 เมษายน 2526 ว่าวัดงาม ที่พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ในธุตังคเจดีย์ ปี 2509 นั้น ถ้าไม่พูดถึงพระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ลี ธมฺมธโร) พระสุปฏิปันโน เจ้าอาวาส ผู้ให้กำเนิดวัดนี้ ถือว่าเป็นความบกพร่อง
เปิดประวัติ พระสุทธิธรรมรังสี หรือพ่อท่านลี ทราบว่าท่านเป็นชาวจังหวัดอุบลราชธานี เป็นลูกชาวนา ในครอบครัว ที่พ่อแม่มีลูกทั้งหมด 9 คน เรียนหนังสือ ชั้นประถมถึงอายุ 17 ปี เลิกเรียน มาช่วยพ่อแม่ทำ นาทำไร่
ในช่วงวัยหนุ่ม ที่รู้สึกเกลียดกลัว คือสตรีที่มีท้องแก่ เพราะเคยเห็นเวลาคลอดบุตรจะเจ็บปวดแสนทรมานในการประกอบอาชีพ นอกจากทำนาทำไร่ พ่ออยากจะให้ค้าขาย พวกเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เป็นต้น แต่ตนเองไม่ชอบ ขัดใจพ่ออยู่เสมอ
ในชีวิตเคยฆ่าหมาตัวหนึ่งที่มาขโมยไข่ไก่ที่ตนหมกไว้เพื่อเป็นกับข้าว แต่หมาเจ้ากรรมขโมยไปกิน จึงใช้ไม้ตีหมาตัวนั้นตาย เมื่อนึกถึงว่าเป็นบาปจึงกรวดน้ำไปให้
เรื่องที่รู้สึกรังเกียจมาก อีกเรื่อง คืองานศพ ตัวเองจะไม่ไปงานศพใดๆ แม้กระทั่งแม่ตนเองตายก็ไม่ไปเผาพี่น้องคนไหนไปงานศพกลับมาบ้าน หนุ่มลีจะสังเกตว่าเขาใช้ภาชนะอะไรตักน้ำ หรือกินข้าว ตนจะไม่ใช้สิ่งนั้น
พ่อท่านลี ลืมตาดูโลก เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2449 ที่บ้านหนองสองห้อง อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี อยู่บ้านช่วยงานพ่อแม่ จนถึง พ.ศ.2468 อายุ 20 พ่อจัดบวชพระให้สมปราถนา เพราะอยากบวชมานาน เป็นพระนวกะร่วมกับพระอื่นๆ อีก 9 องค์ เรื่องสวดเรื่องเทศน์ไม่เป็น แต่วัดเป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมประเพณี จึงหลีกหนีไม่ได้ วันหนึ่งมีศพเข้ามาในวัด หน้าที่พระต้องสวดศพ แต่ภิกษุลี ไม่ชอบ จึงหนีไปซ่อน ซ่อนพร้อมกับพระอื่นๆ เจ้าอาวาสออกตามก็ไม่พบ จึงให้พวกเณรน้อยออกค้นหา ไปพบพระไปหลบอยู่บนต้นมะม่วง
อยู่วัดตั้งใจเรียนและปฏิบัติ แต่ไม่ถูกใจปฏิปทาของพระร่วมวัด จึงหาทางว่าจะไปหาวัดอื่นที่ดีกว่าก็ให้ประจวบเหมาะว่าเวลานั้นทราบว่า หลวงปู่มั่น เดินทางมาโปรดญาติโยมที่วัดบูรพา จ.อุบลราชธานี จึงติดตามไปหา แต่พลาด เพราะหลวงปู่มั่นเดินทางออกพื้นที่ไปที่กุดลาด จึงได้ตามไปที่นั่นแต่ไม่พบเพราะหลวงปู่มั่นเดินทางกลับมาวัดบูรพาอีก จึงตามมา เมื่อได้พบจึงเล่าความประสงค์ให้ทราบ
หลวงปู่มั่นจึงสอนให้ภาวนา พุทโธ คำเดียวและให้พักกับพระอาจารย์สิงห์และพระมหาปิ่นรวมพระเณรอื่นๆ อีก 40 องค์ เมื่อพักที่นั่นได้ฟังเทศน์ทุกวัน เมื่อนึกถึงเรื่องเก่าๆ ก็ทำให้ร้อนใจ นึกถึงเรื่องใหม่ๆ ใจก็เย็น มีอารมณ์ 2 อย่างปรากฎขึ้นเสมอ
ในขณะนั้น มีพระภิกษุ ที่เป็นกัลยาณมิตรอยู่ด้วย 2 องค์ คือพระอาจารย์กงมาและพระอาจารย์สาม จึงทำสมาธิภาวนาร่วมกัน ต่อมาเดือนพฤษภาคม 2470 จึงทำญัตติใหม่เป็นพระธรรมยุต โดยพระปัญญาพิศาลเถระ วัดสระประทุม (ปทุมวนาราม) กรุงเทพ เป็นอุปัชฌาย์ พระอาจารย์เพ็ง วัดใต้ อุบลฯเป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์มั่น เป็นผู้บรรพชาให้เป็นสามเณรอยู่วัดบูรพาคืนเดียว ก็ออกไปอยู่วัดท่าวังหิน เหมือนเดิม
ชีวิตนับแต่นั้นนอกจากภาวนา ก็ออกเดินธุดงค์ ผจญภัยและเอาชนะใจไปในที่ต่างๆ รวมถึงไปโปรดญาติโยมในกัมพูชา 2 ปี จนสามารถพูดภาษาเขมรได้
วาทะที่ประทับใจมากคือเมื่อท่านร่ำลาบิดา โดยบอกว่าจะไม่ขอรับทรัพย์สินใดๆ ที่บิดาจะมอบให้ เพราะได้รับทรัพย์วิเศษจากบิดาแล้ว คือดวงตา 2 ข้าง หู 2 หู จมูก ปาก ครบอาการครบ 32 จัดเป็นก้อนทรัพย์อย่างสำคัญ โยมจะให้ทรัพย์อื่นๆ ก็ไม่อิ่มใจ เมื่อสั่งแล้วลาโยมบิดาแล้วกลับอุบลราชธานี
ชีวิตและประสบการณ์ในการออกธุดงค์ในจังหวัดต่างๆ ทั่วไทยของพ่อท่านลีมากนัก ทั้งผจญกับสัตว์ร้ายทั้งเสือ ช้างป่า ผีสาง คนร้าย แม้กระทั่งหญิสาว รวมทั้งใช้ชีวิตในดงดิบ กับชาวป่า กินแต่ผลไม้และใบไม้แต่ทนได้ เอาตัวรอดได้ เคยปราบโจร จนยอมมอบตัวเป็นศิษย์ เมื่ออยู่วัดในกรุงเทพ (วัดสระปทุม) เคยเฉียดตายที่ถนนเพชรบุรี เมื่อรถเมล์วิ่งมาเฉียดข้างๆ ขณะเดินข้ามถนนเพื่อไปรับบาตรโยมอีกฟากหนึ่งของถนน
นอกจากนั้นในการออกธุดงค์แต่ละครั้ง ได้ช่วยชาวบ้านให้พ้นจากความหวาดกลัว และภัยต่างๆ จนเป็นที่เคารพนับถือ ของประชาชนถึงทุกวันนี้ แม้จะมรณภาพไปแค่วัยเพียง 55 ปี เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2504 หลังจากอุปสมบทได้ 35 พรรษาก็ตาม
ปัจจุบันสรีระของท่าน ยังประดิษฐานที่วัดอโศการาม สมุทรปราการ