มีเพื่อนแฟนคลับโทรศัพท์มาคุยกับผม ถามเรื่องการเงิน-การธนาคารของประเทศเมียนมา ซึ่งตั้งแต่เริ่มการเปลี่ยนแปลงการปกครองของเมียนมาเป็นต้นมา กระแสเงินสดและเงินสกุลต่างประเทศของเมียนมา ก็เริ่มมีปัญหาตลอดเวลา เพื่อนท่านนี้ได้เข้าไปทำธุรกิจในประเทศเมียนมามายาวนาน แม้ช่วงที่เกิดวิกฤติจะไม่ได้อยู่ในกรุงย่างกุ้ง เพราะเหตุการณ์โควิด-19 ทำให้ประเทศเมียนมาก็ไม่ยกเว้นการปิดประเทศ แต่ก็พอจะสัมผัสถึงบรรยากาศได้จากการรายงานของพนักงานของเขา พอเริ่มเปิดประเทศเขาก็รีบเข้าไปดำเนินกิจการต่อ และรับรู้ได้ว่า กระแสเงินสดในท้องตลาดแทบจะเข้าขั้นวิกฤติ
คำถามของเขาคือทำไมนโยบายการเงินและนโยบายการคลังของเมียนมาเขาจึงแปลกๆ เช่นการประกาศของธนาคารกลางเมียนมาแต่ละครั้ง จะต้องกระทบถึงการดำเนินธุรกรรมทางการเงินตลอดเวลา ผมก็ได้แต่ตอบไปสั้นๆ ว่า ขอให้อดทนไปก่อนสักระยะหนึ่ง เพราะเราคงไม่มีสิทธิมีเสียงอะไร ที่จะไปก้าวก่ายเขาได้หรอก ก็คงได้แต่มองด้วยสายตาที่เห็นใจเขาไปเท่านั้น และต้องเข้าใจเขาด้วยว่า ทำไมเขาถึงต้องมีประกาศต่างๆ เหล่านั้นออกมา ก็คงสามารถทำได้แค่นั้นแหละครับ
ในโลกของเราปัจจุบันนี้ นโยบายการเงิน-การคลังของแต่ละประเทศ เขาต้องอิงกับสถานะของประเทศเขาเป็นหลัก ก่อนที่จะเดินเข้าสู่การปิดประเทศ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการปิดประเทศด้วยความจำยอม หรือปิดประเทศด้วยความสมัครใจ
แน่นอนว่าหากเป็นประเทศที่มีการปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม ที่มีพรรคการเมืองเดี่ยว เช่นประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศเกาหลีเหนือ หรือประเทศคิวบา ที่ใกล้บ้านเรามากที่สุด ในอดีตก็มีประเทศเวียดนาม เขาจะปิดประเทศด้วยความสมัครใจ อีกทั้งเขาจะไม่แคร์การค้าระหว่างประเทศเลย เขาสั่งปิดประเทศทันทีที่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงได้
จากนั้นเขาก็จะเร่งรีบพัฒนาประเทศของเขาทันที จนกว่าจะคิดว่าประเทศเขามีความมั่นคงทางเศรษฐกิจดีมากพอที่จะแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ เขาจึงจะเปิดประเทศ แต่ประเทศที่ไม่ได้สมัครใจแต่ต้องอยู่ในภาวะจำยอม เพราะถูกชาติมหาอำนาจใหญ่ๆ หลายประเทศ ทำการแซงชั่นประเทศเขา ทำให้จำยอมต้องถูกปิดประเทศไปชั่วขณะ แน่นอนไม่ว่าระยะปิดประเทศจะยาวหรือสั้น ย่อมได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจหนักหนาสาหัสเช่นกันหมด ตัวอย่างที่ให้เห็นก็มี เช่นประเทศเมียนมาที่อยู่ติดพรมแดนเรานี่แหละ
ประเทศเมียนมาเองเคยถูกแซงชั่นมาแล้วในอดีต ทำให้ประเทศเกิดวิกฤติขึ้นอย่างแสนสาหัส ในช่วงปีที่ผมเข้าไปทำมาหากินแรกๆ คือในปีค.ศ.1990 จนถึงปี 2000 ต้นๆ ประเทศเมียนมาต้องเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำมากๆ ทุกอย่างดูมืดมนไปหมด ความเจริญของประเทศที่ต้องอาศัยการพัฒนาประเทศเป็นปัจจัยบ่งชี้ ต้องหยุดชะงักไปทั้งระบบ เมื่อไม่มีการพัฒนาประเทศ แม้จะต้องอยู่รอดให้ได้ แต่ความเจริญที่หยุดนิ่ง ทำให้เสมือนประเทศเดินถอยหลังไป เพราะประเทศอื่นที่เขามีการพัฒนาประเทศต่อเนื่อง แต่ประเทศตนเองไม่ได้พัฒนา ก็จะทำให้รู้ว่านั่นคือการเดินถอยหลังนั่นเองครับ
ประเทศที่มีการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยทั่วไป ที่เป็นระบบเศรษฐกิจเปิด ก็จะใช้การขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ ด้วยเครื่องยนต์ 4 เครื่องคือ C+I+G+(X-M) นั่นก็คือการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน (Consumption) + การลงทุนที่มีทั้งการลงทุนทางตรงและทางอ้อม (Investment) + งบประมาณของภาครัฐ (Government Budgets) + การส่งออกลบด้วยการนำเข้า (Exports -Imports) เพื่อเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ
แต่ประเทศเล็กๆ ที่ต้องการปิดประเทศทั้งที่จำยอมและถูกบีบบังคับทั้งหลาย ตัวกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นตัวสุดท้ายที่เป็นตัว X-M ก็จะไม่มี ดังนั้นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศก็จะหดหายไปชั่วพริบตา เพราะเงินทุนสำรองดั้งเดิมที่เคยมี ก็จะถูกใช้จ่ายออกไปไม่หยุด ก็จะเหมือนร่างกายของมนุษย์เรานั่นแหละครับ หากการขับถ่ายและไหลออกของเลือดไม่หยุด แต่การ Feeding Food ไม่มี จึงไม่มีการทดแทนส่วนที่สูญเสียไป ร่างกายจะทนสภาพย่ำแย่ไม่ได้ บางรายก็อาจจะสาบสูญไปได้ เศรษฐกิจก็เช่นเดียวกัน หากมีแต่การตั้งรับ โดยไม่สามารถหาเงินสำรองระหว่างประเทศเข้ามา แน่นอนต้องเกิดปัญหาอย่างไม่ต้องสงสัยครับ
สิ่งที่รัฐบาลเมียนมาไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากนำเอานโยบายการเงินที่เข้มงวด เข้ามาใช้ป้องกันการไหลออกไม่หยุดของเม็ดเงินหรือเลือดที่มีแต่ไหลออกนั่นเอง นโยบายที่ว่านี้ มีทั้งนโยบายระงับการชำระหนี้ชั่วคราว นโยบายเอิร์นนิ่งมันนี่หรือใช้มูลค่าเงินได้จากการส่งออกมากำหนดมูลค่าการนำเข้า นโยบายกำหนดให้ใช้เงินตราของบางประเทศมาทดแทนการใช้เงินเหรียญสหรัฐ นโยบายกำหนดสินค้าบางชนิดไม่ให้นำเข้าทางบางช่องทาง นโยบายลดอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น เพื่อป้องกันไม่ให้เงินสกุลต่างประเทศไหลออกไปมากกว่านี้นั่นเองครับ
จะเห็นว่าการถูกแซงชั่นไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ย่อมทำให้เกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประเทศไปแทรงแซงเขา อาจจะไม่รู้สึกรู้สาอะไร แต่ประเทศผู้ถูกกระทำ ผู้บริหารประเทศอาจจะไม่เจ็บไม่คันใดๆ แต่ประชาชนของประเทศนั้น นี่แหละที่จะเป็นแพะรับบาปไปอย่างน่าสงสาร สำหรับประเทศไทยเราเองแม้จะไม่ได้ถูกกระทำ แต่เมื่อประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับประเทศเรายาวไกลถึงสองพันสี่ร้อยกว่ากิโลเมตร ย่อมได้รับผลกระทบบ้างไม่มากก็น้อยครับ ดังคำที่ว่า “ฝนที่ตกอยู่ทางโน้น หนาวถึงคนทางนี้” นั่นเองครับ