ผู้นำทางจิตวิญญาณอย่างแท้จริง

30 ก.ค. 2566 | 22:30 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ส.ค. 2566 | 14:30 น.

ผู้นำทางจิตวิญญาณอย่างแท้จริง คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

พูดถึงผู้นำทางจิตวิญญาณอย่างแท้จริงของแต่ละประเทศ ผมเชื่อว่าแทบทุกประเทศในโลกนี้ เขาก็จะมีของเขาแทบทุกประเทศ แต่ละแห่งมักจะมีความโดดเด่นกันไปแต่ละอย่างแต่ละบุคคลไป แต่ทุกท่านแน่นอนว่าจะต้องเป็นผู้สร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประชาชนในประเทศของนั้นๆ ที่รวมถึงทุกๆ ประการที่แตกต่างกันออกไป

ที่ประเทศจีนเอง ท่านดร.ซุน ยัต เซ็น หรืออีกในนามหนึ่งคือดร.ซุน จง ซาน ท่านก็เช่นเดียวกัน ท่านได้รับการขนานนามว่า เป็น “บิดาแห่งชาติของประเทศจีน (國父)” ท่านได้สร้างคุณงามความดีไว้ให้แก่ชนรุ่นหลังของจีน ไว้หลากหลายประการมาก สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัด และชาวจีนได้นำมาใช้ในการบริหารประเทศ แม้จะเป็นช่วงสั้นๆ ในจีนแผ่นดินใหญ่ เพราะหลังจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนได้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ไปเป็นการปกครองแบบระบอบคอมมิวนิสต์ แต่ที่จีนในไต้หวัน ก็ยังคงนำมาใช้อยู่จนถึง นั่นก็คือ “แนวคิดการปกครองระบอบลัทธิไตรประชา (The Three Principles of the people ) 三民主義 อันประกอบด้วย การดำรงค์ชีพของประชาชน 民生 เอกราชของประชาชน民主 และอำนาจอธิปไตยของประชาชน 民權 ซึ่งเป็นรูปแบบประชาธิปไตรของท่านดร.ซุน ยัต เซ็น ที่มีพื้นฐานความต้องการให้ประชาชนทุกคน ต้องได้รับสิทธิและเสรีภาพอย่างเสมอภาคกันนั่นเองครับ

หากเรามาดูแนวความคิดของท่านดร.ซุน ยัต เซ็น ในแนวความคิดลัทธิไตรประชา ผมคิดว่าในยุคที่เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในแผ่นดินของประเทศจีน ทำให้ประชาชนมีความทุกข์ยากในการดำรงชีพอย่างแสนสาหัส ท่านจึงได้มีแนวคิดดังกล่าวขึ้นมา เพื่อนำมาบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชนชาวจีนในยุคนั้น

โดยแนวคิดหลักการแรก คือ การดำรงชีพของประชาชน 民生  ถ้าจะมองแบบผิวเผิน หรือนำไปเปรียบเทียบก็จะคล้ายๆ กับหลักการในลัทธิสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ ที่มีการแบ่งสรรปันส่วนที่ดินและทรัพย์ต่างๆ ให้เท่าเทียมกันในหมู่ของประชาชน แต่หากมองให้ลึกซึ้งลงไปกว่านั้น จะเห็นว่าท่านคงอยากจะทำให้ประชาชนหลุดพ้นจากความยากจน ให้ทุกคนมีสิทธิในการดำรงชีพที่เท่าเทียมกันนั่นเอง

ซึ่งส่วนตัวของผมก็คิดว่า นั่นเป็นแนวคิดที่สุดโต่งของโลกในอุคมคติ ที่ทุกคนใฝ่ฝันอยากให้เป็นเช่นนั้น แต่ก็ค่อนข้างจะยากมากๆทีเดียวครับ อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องยอมรับนับถือว่า ในยุคดังกล่าวยังมีบุคคลที่กล้าคิดและนำมาใช้ในการบริหารประเทศอยู่ครับ

หลักการที่สองคือ ความเป็นเอกราชของประชาชน 民主 เป็นแนวคิดที่เกิดจากในยุคนั้น มหาอำนาจจักรวรรดินิยมจากชาติตะวันตก ยังคงคุกคามตามหัวเมืองต่าง ๆ บนผืนแผ่นดินของจีน จึงทำให้ดร.ซุน ยัต เซ็น ได้ใช้หลักการต่อต้านจักรวรรดินิยมและลัทธิล่าอาณานิคมมาสอดแทรก เพราะต้องยอมรับว่า ประเทศจีนนั้นเป็นประเทศที่มีพื้นที่ใหญ่มาก รวมทั้งมีชนชาติพันธุ์ที่ค่อนข้างจะหลากหลาย ภาษาที่ใช้ก็แตกต่างกันออกไปหลายภาษา

การรวมประเทศให้เป็นเอกราชร่วมกันนั้น เป็นสิ่งที่ลำบากยากเข็ญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคนั้นยังมีกลุ่มก้อนของเหล่าทหารตามหัวเมืองต่างๆ ที่เรียกว่า 大軍伐 หรือเหล่าเผด็จการทหารใหญ่ ยิ่งทำให้การรวมประเทศนั้นยากยิ่งขึ้น แต่ดร.ซุน ยัต เซ็น ท่านก็มุ่งมั่นที่จะทำให้ประชาชนทุกหมู่เหล่า ต้องมีเอกราชของประเทศจีนให้ได้ นับว่าท่านมีความกล้าหาญมาก ซึ่งก็สอดคล้องกับหลักแนวคิดที่สาม จำกัดนะครับ

หลักการสุดท้ายคือ แนวคิดอำนาจอธิปไตยของประชาชน 民權  ดร.ซุน ยัต เซ็น ท่านมองว่า รัฐบาลในอุดมคติ จะต้องเป็นรัฐที่แบ่งแยกองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย ออกเป็น 3 เสาหลักด้วยกัน ซึ่งก็เหมือนกับประเทศประชาธิปไตยทั่วไป ที่มีอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ซึ่งตามหลักของมองเตสกิเออ (Montesquieu) ที่หลายๆ ประเทศประชาธิปไตยนำมาใช้กันอยู่ในปัจุบัน ดร.ซุน ยัต เซ็น ยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเลือกตั้ง โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน (แหม....ชั่งคล้ายกับประเทศไหนก็ไม่รู้นะครับ) ในขณะที่การเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยของประชาชน สามารถแสดงออกได้ 3  แนวทาง คือ อำนาจการออกเสียงเลือกตั้ง (Election) อำนาจถอดถอน (Recall ) และอำนาจการลงประชามติ (Referendum) ซึ่งจะเห็นว่า นี่เป็นแนวคิดที่ทันสมัยมากในยุคนั้น

แนวคิดดังกล่าวของดร.ซุน ยัต เซ็นนี้ ในความคิดของผม ก็เป็นการนำเอาหลักการประชาธิปไตยยุคใหม่มาประยุกต์ใช้ โดยนำมาผสมผสานกับการสร้างรากฐาน ในการส่งเสริมให้ประชาชนมีความอยู่ดีกินดี และมีสิทธิเสรีภาพอย่างยั่งยืน แต่ในเสรีภาพนั้นจะต้องไม่ไปริดรอนสิทธิของผู้อื่นด้วยเช่นกัน

เราจะเห็นว่าในยุคต้นๆ ของการโยกย้ายถิ่นฐานจากแผ่นดินใหญ่มาอยู่บนเกาะไต้หวัน อันมีเหตุเนื่องมาจากแนวความคิดที่ไม่ตรงกันของเหล่านักการเมืองทั้งหลาย เราคงมิบังอาจไปวิจารณ์นะครับ แต่ต่อมาการเมืองในไต้หวันก็เริ่มมีวิวัฒนาการเปลี่ยนไปอีกเยอะ จนทำให้ปัจจุบันนี้ในไต้หวันเอง แนวคิดไตรประชา ของท่านดร.ซุน ยัต เซ็น ก็ค่อนข้างจะถูกลบเลือนหรือผิดเพี้ยนไปจากเดิมมาก

การศึกษาในคนรุ่นใหม่ๆ ก็ไม่ได้มีการบรรจุเอาหลักแนวคิดดังกล่าวนี้ เข้ามาเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนไปแล้ว จะมีแต่กลุ่มชาวจีนโพ้นทะเล ที่ยังเป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยม ยังมีการรำลึกและเข้าถึงแก่นสารที่แท้จริงของหลักแนวคิด “ไตรประชา” ดังกล่าวอยู่อย่างมิลืมเลือนเสมอมา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวจีนโพ้นทะเลที่ประเทศไทยเรา ทุกๆ ปีสมาคมจงหัวแห่งประเทศไทย ที่ได้รับการก่อตั้งโดยดร. ซุน ยัต เซ็น ก็จะจัดงานสัมมนาที่เกี่ยวกับความรู้ทางด้านหลักแนวคิดดังกล่าวนี้เสมอมา ปีนี้ก็เป็นปีที่ 27 แล้วครับ

ท่านใดที่สนใจเข้าร่วมรับฟังสัมมนาใน “งานเสวนาแนวคิดทฤษฎีของดร.ซุนยัดเซน” ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 20 สิงหาคม ที่จะถึงในอีกสามอาทิตย์หน้านี้  ณ โรงแรม  Royal Orchid Sheraton Hotel ที่ซอยเจริญกรุง 30 สีลม กทม. ตั้งแต่เวลา 13:00 - 18:00 น.

การบรรยายครั้งนี้ เป็นการบรรยายภาษาจีนกลางครับ ท่านสามารถสมัครเข้ามาร่วมรับฟังได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้นครับ สนใจติดต่อไปที่ สมาคมจงหัวแห่งประเทศไทย หรือที่เบอร์โทร 02-718 5274-80 คุณแพรว ที่นั่งมีจำนวน