ปี 2025 ปีแห่งความหวังของเมียนมา

05 ม.ค. 2568 | 22:00 น.

ปี 2025 ปีแห่งความหวังของเมียนมา คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้วิเคราะห์สถานการณ์ของประเทศเมียนมา ในปี 2025 โดยวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจของเมียนมาด้านเดียว แต่ด้วยหน้ากระดาษมีจำกัด วันนี้ผมขออนุญาตวิเคราะห์เพิ่มเติมต่ออีกหลายๆ ด้านนะครับ

ถ้าเราจะมองแนวโน้มของเมียนมาในปี 2025 นี้ให้ครอบคลุมทั้งหมด ต้องดูกันหลายๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นทั้งปัจจัยภายในประเทศ และจากปัจจัยภายนอกประเทศ ซึ่งครั้งนี้ผมจะขอวิเคราะห์ให้รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านสังคม ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและด้านความสงบภายในประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญมากในการที่จะเป็นความหวังหนุนให้ประเทศเมียนมาได้มีความหวังที่จะสร้างสันติภาพและความสงบให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป

ปัจจัยทางด้านสังคม ซึ่งเราก็ต้องยอมรับว่า วันนี้ประเทศเมียนมากำลังเผชิญกับการแบ่งแยกทางสังคมและชาติพันธุ์ รวมถึงการขาดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เหตุผลเป็นเพราะหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา เราจะเห็นการทำงานของเจ้าหน้าที่ราชการหลายภาคส่วน ซึ่งเจ้าหน้าที่ราชการก็คือชาวเมียนมาที่มาจากหลายชาติพันธุ์ ดังนั้นจึงทำให้ยังมีปัญหาการบูรณาการในการทำงานและขาดประสิทธิภาพ  

นั่นอาจจะเป็นเพราะยังมีความคิดเห็นขัดแย้งกัน ทำให้ปัญหาความไม่เห็นพ้องต้องกันของประชาชนนั่นเอง ผมก็ยังเชื่อว่าปีนี้ก็คงจะเหมือนปีที่ผ่านๆ มา ประเทศเมียนมายังคงมีความท้าทายอย่างมาก ดังนั้นสันติภาพและความสงบที่จะเกิดขึ้นได้ จะต้องมีความสมัครสมานสามัคคีกันอย่างแท้จริงของประชาชนก่อน ซึ่งถ้าจะเป็นเช่นนี้ได้ คงต้องมองไปที่การเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ให้เป็นที่พึงพอใจของทุกชนชาติพันธุ์นั่นเอง นั่นเป็นจุดเริ่มต้นก่อนเลยครับ 

อีกเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม นั่นก็คือเรื่องการขาดแคลนทรัพยากรด้านต่างๆ และการให้บริการขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นด้านพลังงาน ด้านการศึกษาและการดูแลสุขภาพ ที่ยังคงเป็นความท้าทายสำคัญของประเทศเมียนมา ซึ่งในปีที่ผ่านมา สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ยังไม่เพียงพอที่จะให้บริการแก่ประชาชนเลย อาจจะเป็นเพราะความสงบภายในประเทศ ที่เป็นอุปสรรคต่อการให้บริการ แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องมีหน้าที่ในการจัดการกับปัญหาเหล่านั้น ผมเชื่อว่าในปีนี้ เราคงได้เห็นความพยายามของรัฐบาลเมียนมา ที่จะสามารถก้าวข้ามปัญหานี้ไปให้ได้ นั่นคือความคาดหวังอันดับต้นๆ เลยครับ

 

อีกด้านหนึ่งที่จะเป็นความหวังของปีนี้ นั่นก็คือ ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ประเทศเมียนมาในปี 2025 ยังคงต้องเผชิญกับแรงกดดันจากปัญหาของการแทรกแซงจากประเทศฝั่งตะวันตก ในต้นปีนี้หลังจากที่สหรัฐอเมริกาได้มีพิธีสถาปนาประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ขึ้นดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ชาวเมียนมาเองคงจะคาดหวังว่า จะมีการลดทอนความกดดันจากชาติตะวันตกลงไปบ้าง ซึ่งก็จะทำให้เกิดความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ไปในทิศทางที่ดีขึ้น

นั่นหมายรวมถึงการตั้งคำถามในระดับนานาชาติ เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คงจะดีขึ้นหรือไม่? คำถามและความคาดหวังนี้ คงต้องรอดูนโยบายจากว่าที่ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ว่าจะออกมาอย่างไร? และจะมีความผ่อนคลายลงหรือไม่?

ด้านความสัมพันธ์กับประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งอาเซียนก็มีบทบาทสำคัญในการพยายามเจรจาหาทางออกในวิกฤตของเมียนมาตลอดมา แม้จะมีความยากลำบากในการหาข้อยุติที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ก็ตาม ผมก็ยังเชื่อมั่นว่า ในปีนี้เราก็จะยังคงเห็นถึงความตั้งใจของสมาชิกในชาติอาเซียน ยังคงไม่ยอมทิ้งประเทศเมียนมาแน่นอนครับ อีกทั้งเราก็ได้เห็นการสนับสนุนจากชาติมหาอำนาจที่เป็นพี่ใหญ่ในภูมิภาคนี้ อย่างเช่นประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนและอินเดีย ที่มีผลต่อการเข้าไปช่วยเหลือเมียนมาทั้งทางตรงและทางอ้อมอยู่ ซึ่งก็จะมีผลในการฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจและด้านการเมือง โดยเฉพาะในด้านการลงทุนและด้านการพัฒนาประเทศของเมียนมานั่นเองครับ

ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การขนส่ง และระบบสาธารณูปโภคของประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจเติบโต และประชาชนสามารถเข้าถึงสิ่งจำเป็นได้  ผมเองเคยได้เข้าร่วมประชุมในการประชุมกลุ่มสมาชิกประเทศลุ่มแม่น้ำโขง-ล้านช้าง ที่เมืองคุนหมิง ก็ได้พบกลุ่มผู้แทนจากประเทศเมียนมา ที่เป็นถึงระดับปลัดกระทรวงการลงทุน ท่านได้เข้าร่วมประชุม และได้ขึ้นเวทีโปรโมทการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากประเทศกลุ่มสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ให้เข้าไปลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างถนน พลังงาน และระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อช่วยให้การเคลื่อนย้ายสินค้าและคนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยนั่นเองครับ

ปี 2025 นี้ซึ่งเป็นปีแห่งความหวังของประเทศเมียนมา หากประเทศเมียนมาสามารถฟื้นฟูเสถียรภาพทางการเมืองและพัฒนาเศรษฐกิจได้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินว่า ประเทศเมียนมาจะสามารถก้าวข้ามวิกฤตและเติบโตได้หรือไม่?

จากการวิเคราะห์ของผมในด้านต่างๆ จะเห็นได้ว่า ปี 2025 ของประเทศเมียนมานี้ จะเป็นปีที่สำคัญในการฟื้นฟูประเทศในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ความหวังจะจริงได้ ต้องขึ้นอยู่กับการสร้างเสถียรภาพภายในประเทศ และการได้รับการสนับสนุนจากประเทศต่างๆ ซึ่งจะเป็นความหวังในการฟื้นฟูของประเทศเมียนมา อีกทั้งต้องขึ้นอยู่กับประชาชนในชาติของเมียนมาและรัฐบาลเมียนมา ที่จะทำให้ประชาชนชาวเมียนมา ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก และสามารถนำพาไปสู่สันติภาพและความสงบสุข อีกทั้งการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคตต่อไปครับ