การบริหารอารมณ์ด้วยเสียงเพลงของผู้สูงวัย

24 พ.ย. 2566 | 22:33 น.
อัพเดตล่าสุด :24 พ.ย. 2566 | 23:42 น.

การบริหารอารมณ์ด้วยเสียงเพลงของผู้สูงวัย คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่อวันจันทร์ที่ 20 ที่ผ่านมา ผมได้ไปร่วมพิธีอุปสมบทของเพื่อนสนิทท่านหนึ่ง ที่จังหวัดเชียงใหม่ ช่วงก่อนจะขึ้นเครื่องบินเพื่อเดินทางกลับมากรุงเทพฯ ผมมีเวลาเหลืออยู่อีกประมาณสองชั่วโมง ผมเห็นว่านานแล้วไม่ได้มาเชียงใหม่ จึงได้นัดเพื่อนสนิท ที่พำนักอยู่ที่เชียงใหม่ เธอชวนให้ผมมาพบกันที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลแอร์พอร์ต ตอนแรกคิดว่าเพื่อนคงจะชวนเราไปทานข้าวกระมั้ง? แต่พอมาถึงที่ห้างดังกล่าว เพื่อนบอกว่าให้รอที่ชั้น 4 ของห้างฯ เพราะที่นั่นจะมีร้านอาหารอยู่หลายร้าน 

พอเพื่อนมาถึงก็พาผมไปที่ร้านหนึ่งที่ไม่ใช่ร้านอาหาร แต่เป็นแหล่งรวมตัวของผู้สูงวัยทั้งหลาย ซึ่งทุกท่านก็กำลังขะมักเขม้นขึ้นไปร้องคาราโอเกะกันอย่างสนุกสนาน ผมจึงสอบถามเพื่อนไปว่า ที่นี่คือร้านอะไรเหรอ? เพราะจะว่าเป็นร้านคาราโอเกะก็ไม่น่าจะใช่ จะว่าเป็นร้านอาหารก็ไม่เห็นโต๊ะไหนเขาสั่งอาหารมาทานกัน หรือว่าเป็นร้านกาแฟบนโต๊ะก็ไม่มีกาแฟอีกแหละ เลยไม่เข้าใจว่าคือร้านอะไร?
         
พอสอบถามจึงได้คำตอบว่า ที่นี่ทางห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเขาเปิดให้เป็นที่ชุมนุมของผู้สูงอายุ โดยไม่คิดค่าเช่าสถานที่ ส่วนภายในร้านด้านในกึ่งกลางห้อง เขามีเวทีเล็ก ๆอยู่เวทีหนึ่ง บนเวทีทางห้างฯ ก็เอื้อเฟื้อเครื่องคาราโอเกะให้ และมีผู้สูงอายุท่านหนึ่ง ทำหน้าที่จิตอาสา คอยรับใบจองเพลง และคอยเปิดเพลงให้คิวที่จะขึ้นมาร้อง ผู้สูงอายุแต่ละท่านที่ขึ้นไปร้องเพลง ก็มีทั้งที่ร้องเก่งมาก กับกลุ่มที่ร้องพอ(ทน)ฟังได้ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป พอเพื่อนพาผมเดินเข้าไปด้านใน ทุกคนต่างมีน้ำใจหันมายิ้มให้ 

อีกทั้งยังมีผู้สูงวัยท่านหนึ่ง เดินมาชวนผมให้ออกไปร้องเพลงร่วมกับพวกท่านเหล่านั้น ซึ่งผมก็ปฏิเสธไป เพราะไม่อยากไปทำให้บรรยากาศของกลุ่มท่านเสียไป แต่ที่ผมสังเกตเห็น ทุกท่านต่างมีความสนิทสนมกันเป็นอย่างดี ผมถามเพื่อนที่พาผมไปว่า เคยรู้จักกันมาก่อนหรือเปล่า? เขาบอกว่าก็มารู้จักกันที่นี่แหละ ผู้สูงวัยทุกท่านล้วนมีน้ำใจดีกันทุกคน จึงทำให้มาเพียงสอง-สามครั้งก็สนิทสนมกันแล้ว ผมฟังแล้วก็อดที่จะชื่นชมในใจไม่ได้ครับ
       
ในความคิดของผม ผู้สูงวัยทุกท่านหากต้องการให้ชีวิตที่เหลืออยู่ ได้มีความสุขในบั้นปลายชีวิต  มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการดูแลสุขภาพของตนเอง ซึ่งหมายรวมถึง 4 ด้านด้วยกัน ประกอบด้วย สุขภาพร่างกาย สุขภาพจิตใจ สุขภาพสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอารมณ์ ด้านแรกคือสุขภาพร่างกาย ซึ่งต้องทำให้ร่างกายแข็งแรงเข้าไว้ เพื่อป้องกันโรคภัยไข้เจ็บไม่ให้กล้ำกลายเข้ามาสู่ตัวเรา โดยอาจจะมีการตรวจดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ต้องตื่นรู้ในการที่จะต้องเข้าหาแพทย์ ที่ปัจจุบันนี้แพทย์ก็มีอยู่มากมายหลากหลายช่องทางที่จะเข้าถึง อีกทั้งจะต้องรู้จักการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเช่นกัน ไม่สามารถละเลยได้เลยครับ
     
ในส่วนของสุขภาพจิตใจ ก็จะต้องทำจิตใจให้เบิกบาน ไม่เป็นคนขี้วีนหรือโกรธง่าย ต้องเข้าใจโลกเข้าไว้ ทางที่ดีที่สุดต้องรู้จักปล่อยวาง อย่าปล่อยให้จิตใจเราหม่นหมองไปกับสิ่งต่างๆ ง่ายๆ ต้องทำให้จิตใจเราสงบ เยือกเย็นลง ไม่มองโลกในแง่ร้าย หรือบางท่านก็อาจจะเข้าวัดเข้าวาเพื่อแสวงหาความสงบของจิตใจ หรือถ้าทำไม่ได้ ก็ขอให้คิดเสียว่าเข้าวัดตอนนี้ สบายใจกว่าตอนเข้าวัดตอนที่ต้องส่งไปหลังวัด (ส่งเข้าเมรุ) นะครับ  

อีกด้านหนึ่งคือสุขภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งหมายถึงสิ่งแวดล้อมที่มีทั้งสิ่งแวดล้อมที่มีชีวิต และสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีชีวิต สิ่งแวดล้อมที่มีชีวิต ก็คือคนที่อยู่ใกล้ตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นลูกหลาน ญาติโกโหติกาทั้งหลาย รวมทั้งเพื่อนฝูงที่นับวันจะมีน้อยลงไปเรื่อยๆ นั่นแหละครับ หากเรามีสิ่งแวดล้อมที่มีชีวิตเหล่านั้นที่ดีๆ ก็จะทำให้คุณภาพชีวิตของเราดีไปด้วย แต่ถ้าหากเรามีแต่คนไม่ดีอยู่รอบกายเรา คงทำให้ชีวิตที่เหลืออยู่บนโลกใบนี้ มีแต่ความเศร้าหมองอย่างไม่ต้องสงสัยครับ 
      
สุดท้ายคือสุขภาพอารมณ์ เราควรจะสร้างอารมณ์ของเรา ให้เบิกบานได้อย่างไม่ยากจนเกินไป ด้วยการแสวงหาสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขกับการมีอารมณ์ที่สุนทรีได้ ด้วยการทำในสิ่งที่เรารักเราชอบ อย่าฝืนใจตัวเราเอง สิ่งใดที่เราทำแล้วรู้สึกว่าไม่ใช่ หรือทำแล้วมีแต่ความทุกข์ทรมาน ก็อย่าได้ริทำ ให้ปล่อยข้ามๆ ไปบ้างก็จะดีครับ ผมเชื่อว่าทุกคนล้วนมีสิ่งที่ตนเองรักตนเองชอบอยู่ด้วยกันทุกคน บางคนอาจจะมองว่า การร้องเพลงเป็นเรื่องที่น่าเบื่อหนาย แต่สำหรับบางคนก็อาจจะเห็นต่าง เวลาที่เขาได้มีโอกาสถือไมค์ร้องเพลง จะเป็นเวลาที่เขามีความสุขที่สุด ผมมีเพื่อนคนหนึ่ง ที่เป็นคนชอบร้องเพลงมากๆ ทุกวันเธอจะส่งคลิปที่เธอร้องเพลง มาให้เพื่อนๆ ได้รับฟังเสมอ ผมเองก็แอบที่จะชื่นชมเธอ ที่เห็นสีหน้าแววตาของเธอ เวลาที่เธอถือไมค์ร้องเพลงครับ
      
ในวันที่ผมขึ้นไปเห็นผู้สูงวัยที่เชียงใหม่เหล่านั้น ได้ออกมาพบปะสังสรรค์กันทุกวัน ที่ชั้น 4 ของห้างเซ็นทรัลแอร์พอร์ต  หากจะมองแบบเผินๆ ก็ดูเหมือนไม่มีอะไร? แต่จริงๆ แล้ว นี่คือการสร้างกุศลอันยิ่งใหญ่ ที่บางท่านอาจจะไม่ได้มองเหมือนผมก็ได้ เพราะการที่ผู้สูงวัยได้มีการสร้างสังคม (Community) ของผู้สูงวัย โดยมารวมตัวกันทุกวัน เป็นการทำให้ชีวิตบั้นปลายของแต่ละท่าน ได้มีความหมายมากขึ้น อีกทั้งเป็นการสร้างการรอคอยวันเวลา ที่ไม่น่าเบื่อหน่ายในชีวิตประจำวันของผู้สูงวัย นั่นก็เป็นการให้วันเวลาที่เหลืออยู่อีกไม่มาก ได้มีความหมายอย่างยิ่ง นี่คือสิ่งที่ต้องขอขอบคุณห้างสรรพสินค้าที่ใจดี กรุณาเอื้อเฟื้อสถานที่อันมีมูลค่าแพง ให้แก่ผู้สูงวัยเหล่านั้นด้วยครับ