ปัญหาสายตากับผู้สูงวัย

20 ต.ค. 2566 | 21:05 น.

ปัญหาสายตากับผู้สูงวัย คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่อหลายอาทิตย์ก่อน มีเพื่อนที่เป็นผู้สูงอายุ (แต่ที่จริงเขาอ่อนกว่าผมหนึ่งปี) มาจากอยุธยา ที่เคยสร้างบ้านทรงไทยให้ผมมาก่อน ได้เข้ามากรุงเทพฯ เลยแวะมาเยี่ยมเยือนผม เธอมาพร้อมลูกสาวและลูกเขย เราได้สนทนากันอยู่พักใหญ่ๆ ทำให้ผมได้สังเกตเห็นว่า ดวงตาเธอเริ่มแดงและน้ำตาจะไหลเล็กน้อย ทั้งๆ ที่เราไม่ได้คุยเรื่องที่มีอะไรสะเทือนใจเลย หนำซ้ำยังมีแต่เสียงหัวเราะกันอย่างสนุกสนานเสียด้วยซ้ำ 

ผมจึงถามเธอไปว่า “สายตาคุณเป็นอะไรหรือเปล่า? ทำไมจึงเหมือนคนมีปัญหาตา” เธอตอบว่า  “พักนี้ดวงตามีปัญหาต้อกระจก สายตาเริ่มมองไม่ค่อยเห็น จะดูอะไรทีก็ต้องเพ่งมองมากๆจึงจะมองเห็น นี่ก็นัดหมอไว้ ว่าให้ไปผ่าตัดต้อกระจก แต่ยังกลัวการผ่าตัดอยู่ ฉันเลยยังผัดวันประกันพรุ่งอยู่ รอให้ทำใจได้ก่อนค่อยไปผ่าตัด” ผมจึงบอกเธอไปว่า การที่เชื่อฟังหมอเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับคนอายุอย่างพวกเรา อย่าดื้อ! สมควรต้องไปผ่าตัดได้แล้ว อย่าได้กลัว ผมมีแต่เคยเห็นคนไปผ่าตัดต้อกระจกแล้วมีแต่มองเห็นดีขึ้น ยังไม่เคยได้ยินว่าคน คนที่ผ่าตัดแล้วตาบอดเลยสักคน ดังนั้นตัดสินใจไปเถอะ อย่ากลัวอีกต่อไปเลย

พักหลังๆ มานี้ ผมเจอผู้สูงอายุหลายคนที่มาหาผม มักจะมีปัญหาเรื่องของสายตาเสมอ ถ้าไม่ใช่เป็นสายตาสั้น ก็สายตายาว หรือไม่ก็เป็นต้อกระจก ต้อหิน ต้อเนื้อ ต้อลมกันเสียส่วนใหญ่ ซึ่งสามารถพูดได้ว่า คนเราเมื่อแก่ตัวลงมา เรื่องสายตาเสื่อมโทรมมักเป็นเรื่องปกติกันแล้วละครับ ดังนั้นเราจะเห็นว่าในโรงพยาบาลทั่วไป แผนกจักษุแพทย์ ลูกค้าที่เป็นผู้สูงอายุจะมีให้เห็นกันเป็นประจำเลยครับ ส่วนใหญ่ตัวของผู้สูงวัยเอง มักจะไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับตนเอง รู้แต่ว่าทำไมวันนี้มืดจังเลย บางท่านก็ถึงกับดุลูกหลานว่า ทำไมไม่เปิดไฟฟ้า ว่าไปโน่นเลยครับ
           
เรามาดูกันว่า เรื่องของสายตาสั้นก่อนเป็นอันดับแรก คงไม่ต้องบอกนะครับว่าเป็นเพราะอะไร? ก็เป็นที่รู้ๆ กันอยู่แล้วว่า ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของสายตาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่อาจเกิดได้จากพฤติกรรมการใช้สายตา ที่ไม่รู้จักทะนุถนอมดวงตา ซึ่งผู้สูงวัยมักจะเป็นน้อยกว่าคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาวหรือเด็กๆ เพราะการใช้สายตาเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นการอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ การเล่นโทรศัพท์มือถือ หรือการอ่านหนังสือในที่ที่มีแสงน้อย คนแก่อย่างพวกเราไม่ค่อยทำกัน สิ่งเหล่านี้สามารถทำให้มีอาการสายตาสั้นได้ ดังนั้นพวกเราชาวผมขาวทั้งหลาย คงมีคนที่ใช้สายตาแบบเปลืองๆ ดังกล่าว น้อยกว่าคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาวอยู่แล้วครับ 

ส่วนสาเหตุของสายตายาว (Hyperopia) คนส่วนใหญ่ที่ประสบปัญหาภาวะสายตายาว ก็มีอยู่ด้วยกัน 2 สาเหตุหลักๆ คือสาเหตุมาจากพันธุกรรมและสาเหตุจากสุขภาพของผู้ที่ประสบปัญหาเอง สาเหตุแรกที่มาจากปัญหาด้านพันธุกรรม หากผู้สูงอายุเองมีปัญหาสายตายาว ก็มีความเป็นไปได้สูงมาก ที่มีคนอื่นๆ ในครอบครัวจะมีปัญหานี้เช่นเดียวกัน เพราะว่ามันสามารถสืบทอดทาง DNA ได้นั่นเอง 

ส่วนสาเหตุหลังที่อาจมีสาเหตุมาจากปัญหาทางด้านสุขภาพ เช่น ผู้สูงวัยที่มีอาการโรคเบาหวาน โรคตาเล็ก (microphthalmia) มะเร็งบริเวณรอบดวงตา หรือปัญหาเกี่ยวกับเส้นเลือดรอบดวงตา ทำให้เกิดภาวะผิดปกติทางสายตา หรือเกิดอาการกระจกตาแบนมากเกินไป หรือขนาดของลูกตาสั้นเกินไป เมื่อเทียบกับความยาวของลูกตา การรวมแสงจึงตกอยู่หลังจอประสาทตา จึงทำให้ไม่สามารถมองเห็นวัตถุในระยะใกล้ได้ไม่ชัดเจน แต่มองเห็นวัตถุในระยะไกลได้ชัดเจนกว่า นั่นคืออาการของสายตายาวแหละครับ
      
เรามาดูอีกปัญหาหนึ่ง คือตามีอาการเป็นต้อ ที่นับรวมๆ มีอยู่ 4 ชนิดอย่างที่กล่าวมานั่นแหละครับ ซึ่งผู้ที่เป็นตาต้อแต่ละชนิด ก็มีสาเหตุการเกิดโรคที่แตกต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่จะเกิดจากการใช้สายตามากกว่าปกติ จ้องแสงมากจนเกินไป แสงที่เป็นอันตรายมากที่สุดก็คือรังสีของแสง UV นั่นแหละครับ การใช้ยากับดวงตาผิดประเภท หรือใช้ยาอย่างต่อเนื่องกันนานเกินไป จนทำให้ดวงตาผิดปกติและเป็นต้อขึ้นมา 
       
โดยปกติต้อเนื้อและต้อลม มักจะเกิดจากแสงแดด ฝุ่นควัน มลภาวะ รังสีของแสง Ultraviolet หรือ UV และการใช้สายตามากเกินพอดี  ก็จะทำให้เกิดอาการต้อเนื้อและต้อลมได้ ส่วนอาการของต้อกระจก มักจะเกิดจากรังสีของแสงแดด และรังสีของแสง UV และการใช้ยาสเตียรอยด์  เศษเหล็ก เศษหิน หรือสารเคมีกระเด็นเข้าตา สายตาสั้นมาก จนทำให้เลนส์ตาเสื่อมสภาพ 

ซึ่งอาการของต้อกระจกนี้ ส่วนใหญ่มักจะเกิดกับผู้สูงอายุเป็นหลัก ส่วนคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาวหรือเด็กๆ มักจะไม่ค่อยเป็นกัน อย่าถามผมนะครับ ว่าทำไมไม่เป็นละ? ถ้าถามก็จะตอบว่า “ไม่ว่างเป็น” ส่วนผู้ที่เป็นต้อหิน มักจะเกิดจากกรรมพันธุ์ และอายุที่มากขึ้น ทำให้เส้นประสาทในดวงตาถูกทำลาย จนทำให้การมองเห็นของสายตาแย่ลงไป ส่วนสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดอาการ ก็จะคล้ายกับโรคต้อชนิดอื่นๆ ได้เช่นกัน
          
เมื่อรู้สาเหตุแล้ว คราวนี้ก็ต้องบอกว่า ก็ควรจะต้องระมัดระวังตัวเองแหละครับ ไม่มีใครช่วยท่านได้หรอก นอกจากหมอตาหรือจักษุแพทย์แล้วละครับ เป็นอันว่า ถ้าไม่อยากให้ลูกกะตามองไม่เห็น ก็ต้องรู้จักดูแลตัวเองแล้วละครับ อย่ารอให้ “ชีวิตฉันมีแต่....พาไป จะไปที่ใดก็มีแต่....พาเดิน” ละครับ!!!