โรคฮีทสโตรกที่มากับฤดูร้อน

12 เม.ย. 2567 | 23:20 น.

โรคฮีทสโตรกที่มากับฤดูร้อน คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันสงกรานต์มหามงคลแล้วนะครับ ไม่ทราบว่าท่านรู้สึกเหมือนผมมั้ยว่า อากาศปีนี้ร้อนอบอ้าวเป็นพิเศษยิ่งกว่าทุกๆปี โดยฤดูร้อนปีนี้ได้เริ่มร้อนมาได้เกือบสองอาทิตย์แล้ว ที่บ้านของผมเอง แม้แต่น้ำปะปาที่ไหลออกมาจากท่อก็มีความร้อนมากกว่าปกติ สงสัยเป็นเพราะว่าท่อน้ำบ้านผม ช่างก่อสร้างเขาเดินท่อลอยออกมาตากแดดหรือเปล่านะนี่ จนทำให้น้ำที่ส่งมาทางท่อน้ำปะปา สามารถเปิดอาบโดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องทำน้ำร้อนได้เลย โดยปกติผมเป็นคนที่ชอบอาบน้ำอุ่นเป็นประจำทุกวัน แต่สองอาทิตย์นี้น้ำปะปาก็ร้อนเกินกว่าสี่สิบกว่าองศาเซลเซียสแล้วครับ ก็ดีไปอย่าง ประหยัดค่าไฟดีครับ

สำหรับผู้สูงวัยในช่วงอากาศร้อนๆเช่นนี้ ควรจะต้องระมัดระวังกันให้มาก เพราะโอกาสที่จะเกิดอาการหน้ามืดเป็นลม ที่เกิดจากอาการเป็นลมแดด หรือที่เรียกว่า “โรคฮีทสโตรก”(Heatstroke)เป็นไปได้สูงมาก อาการดังกล่าวนี้ เกิดจากร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป โดยร่างกายจะมีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ร่างกายก็จะระบายความร้อนไม่ทัน เพราะมีการสูญเสียน้ำจากร่างกาย ออกไปทางเหงื่อเป็นจำนวนมาก ผู้ป่วยส่วนใหญ่ ที่เป็นผู้สูงวัยก็จะมีอาการซึมหรือชัก ซึ่งเกิดจากเซลล์ของอวัยวะทำงานผิดปกติ ดังนั้นหากเห็นอาการดังกล่าว ควรจะรีบเอาผ้าชุบน้ำเย็นเล็กน้อย มาเช็ดตัวให้แก่ผู้สูงอายุ แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศเราเป็นประเทศในเขตร้อนชื้น ซึ่งอาการโรคฮีทสโตรก จะมีโอกาสน้อยกว่าประเทศในเขตหนาว แต่ไม่ได้แปลว่าจะไม่เป็นนะครับ

ถ้ามองถึงในยุคโบราณของไทยเรา บรรพบุรุษของเราก็มีความชาญฉลาด ที่จะรับมือกับอากาศร้อน โดยการใช้อาหารที่ให้ความเย็นมาดับร้อนกัน อีกทั้งผลไม้เขตร้อนที่เรามีอยู่อย่างเหลือเฟือ ก็มีส่วนช่วยให้เราผ่านพ้นโรคเป็นลมแดดหรือฮีทสโตรกได้เป็นอย่างดี อาหารที่ผมจะขอยกเป็นตัวอย่าง เช่น ข้าวแช่ แกงขี้เหล็ก แกงจืดฟัก หรือขนมบางอย่างเช่น ปลาแห้งแตงโม ข้าวเหนียวมะม่วง ผลไม้ลอยแก้ว หรือชาไทย เป็นต้น ส่วนที่เป็นผลไม้ที่ออกมาตามฤดูกาลที่สามารถคลายร้อนได้ ก็มีมากมายหลายชนิด เช่น มะม่วง มังคุด แตงไทย แตงโม เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นยาสมุนไพรสารพัดประโยชน์ สำหรับการป้องกันโรคลมแดดอย่างได้ผลชะงัดจริงๆ ครับ

 

ประเทศที่อยู่ในเขตหนาวจะพบลักษณะเช่นนี้มากกว่าเรา จากการที่ผมไปดูในบทวิจัย ที่น่าสนใจมีอยู่หนึ่งบท เป็นงานวิจัยของคุณหมอท่านหนึ่ง ชื่อ Charles L. Sprung ท่านทำงานวิจัยเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงทางโลหิตวิทยาของโรคลมแดดในผู้สูงอายุ”(Hemodynamic Alterations of Heat Stroke in the Elderly) ขอบเขตการวิจัยอยู่ในกรุงนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เป็นการวิจัยการเปลี่ยนแปลงทางโลหิตวิทยาแบบต่อเนื่อง ในผู้สูงอายุ 7 รายที่ป่วยเป็นโรคลมแดด อายุเฉลี่ยของผู้สูงอายุเหล่านั้นคือ 72 ± 6 ปี การตอบสนองของระบบไหลเวียนโลหิตต่อจังหวะความร้อน เป็นแบบไฮเปอร์ไดนามิกและไฮโปไดนามิก ทำให้ทราบว่า ภาวะการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว เกิดขึ้นก่อนการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคลมแดดจำนวนมาก ผู้ป่วยโรคลมแดดสามารถแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม ตามลักษณะการไหลเวียนโลหิต คือกลุ่มไฮเปอร์ไดนามิก จะมีดัชนีการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น ความต้านทานของหลอดเลือดในระบบลดลง และความต้านทานของหลอดเลือดในปอดลดลง ส่วนกลุ่มไฮโปไดนามิก จะมีดัชนีการเต้นของหัวใจลดลง เพิ่มความต้านทานของหลอดเลือดอย่างเป็นระบบ และความต้านทานต่อหลอดเลือดในปอดแบบแปรผัน อย่างไรก็ตาม ทั้งสองชนิดล้วนแล้วแต่อันตรายถึงแก่ชีวิตได้ทั้งสองชนิด หากไม่ได้รับการเยียวยาอย่างทันท่วงทีครับ

จะเห็นว่าความร้อนของอากาศนั้น มีความสำคัญต่อผู้สูงอายุมาก ไม่เพียงแต่โรคเป็นลมแดดหรือฮีทสโตรกเท่านั้น ยังมีโรคอื่นๆที่เป็นกันมาก ในช่วงเวลาฤดูร้อนเช่นกัน เช่นโรคอาหารเป็นพิษ ที่ส่วนใหญ่จะเกิดจากอาหารเหล่านั้น ไม่ได้มีการเก็บรักษาที่ดี หรือเกิดการเน่าเสียหรือบูดก่อนนำมารับประทาน ซึ่งจะทำให้เกิดอาการถ่ายเป็นน้ำติดต่อกันหลายครั้ง หรือถ่ายออกมามีมูกเลือดปะปนอยู่ในอุจจาระภายใน 24 ชั่วโมง บางรายอาจจะถึงกับอาเจียนจนเกิดความอ่อนเพลียอย่างหนักเลยก็มีครับ

ยังมี “โรคบิด” ก็มักจะเกิดในช่วงอากาศร้อนๆนี่แหละครับ ซึ่งสังเกตุได้จากการที่ผู้ป่วยมักจะมีไข้สูง ปวดท้องแบบปวดเบ่งถ่าย อุจจาระบ่อย หรืออุจจาระมีมูกเป็นเลือด นี่ก็เป็นอีกหนึ่งโรคที่มากับฤดูร้อนด้วยเช่นกัน

อหิวาตกโรค ก็มักจะพบมากในช่วงฤดูร้อน เพราะสังเกตุดูจะเห็นว่าพาหะนำโรคของอหิวาตกโรค จะเป็น “แมลงวัน” ที่จะชุกชุมในช่วงฤดูร้อนมากกว่าฤดูอื่นๆ อาการของอหิวาตกโรค ผู้ป่วยจะมีอาการเป็นไข้สูงมากกว่า 1 สัปดาห์ และยังมีอาการอื่นๆร่วมตามมาด้วย คือ ปวดศีรษะ ปวดท้อง ท้องอืด ท้องผูก บางรายอาจมีผื่นขึ้นตามหน้าอกหรือลำตัว ถ้าพบเห็นผู้สูงอายุมีอาการเช่นนั้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่า ถูกรางวัลที่หนึ่งแล้ว ต้องรีบพาตัวไปให้แพทย์ที่โรงพยาบาลตรวจรักษาโดยด่วนเลยครับ

นอกจากโรคต่างๆที่กล่าวมาแล้ว ยังมีอีกหลายโรคที่มากับความร้อน เช่น โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ โรคไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย โรคอุจจาระร่วง โรคไวรัสตับอักเสบ A เป็นต้น จะเห็นว่าอากาศปีนี้ร้อนแรงกว่าปีที่ผ่านๆมา แม้จะมีการจัดงานสงกรานต์มาคลายร้อน ต่อให้จัดทั้งเดือนก็คงไม่สามารถดับร้อนได้หรอกครับ เอาเป็นว่าทำใจร่มๆก็แล้วกันนะครับ จะได้ไม่ร้อนจนอารมณ์แปรปรวนครับ