“ฮีทสโตรก” ภัยเงียบหน้าร้อน เสี่ยง เสียชีวิตได้

09 เม.ย. 2567 | 04:08 น.
อัปเดตล่าสุด :09 เม.ย. 2567 | 04:11 น.

“ฮีทสโตรก” ภัยเงียบหน้าร้อน เสี่ยง เสียชีวิตได้ : Tricks for Life

ในช่วงหน้าร้อน ที่มีอุณหภูมิร้อนจัดและความชื้นในอากาศสูง ล้วนเป็นสาเหตุให้เกิดโรค

“ฮีทสโตรก” หรือโรคลมแดด เป็นภาวะฉุกเฉินร้ายแรง ที่ส่งผลต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เสียชีวิต

“นพ.จิรภัทร โล่ห์ประธาน” อายุรแพทย์เวชบำบัดวิกฤต โรงพยาบาลเวชธานี ให้ข้อมูลว่า  “ฮีทสโตรก” (Heatstroke) หรือโรคลมแดด เป็นโรคที่พบได้บ่อยในช่วงฤดูร้อน โดยเกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป ทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้ทัน จนส่งผลกระทบต่อระบบไหลเวียนโลหิตและระบบสมอง

“ฮีทสโตรก” ภัยเงียบหน้าร้อน เสี่ยง เสียชีวิตได้

อาการเริ่มต้น

จะเริ่มจากอุณหภูมิร่างกายค่อย ๆ สูงขึ้น จนร่างกายไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้รู้สึกผิดปกติ ได้แก่ ไม่มีเหงื่อออก แม้จะอากาศร้อน  รู้สึกกระหายน้ำมาก หน้ามืด ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย ซึม สับสน ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว หายใจหอบ ตัวแดง

วิธีบรรเทา

ถ้าหากมีอาการเหล่านี้จะต้องหยุดพักทันที ดื่มน้ำให้มากๆ เพื่อทดแทนภาวะขาดน้ำ หากมีอาการโรคฮีทสโตรก สามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นเพื่อลดอุณหภูมิในร่างกายโดย

  • นำผู้มีอาการเข้ามาในที่ร่ม ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก
  • ให้นอนราบ ยกเท้าและสะโพกสูง
  • คลายเสื้อผ้าให้หลวม ถอดเสื้อผ้าออกเท่าที่จำเป็น
  • ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัว ซอกคอ รักแร้ และศีรษะ
  • ร่วมกับใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน
  • เทน้ำเย็นราดลงบนตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด

หลังจากนั้นรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที ห้ามฝืนตัวเองเด็ดขาด เพราะจะทำให้นำไปสู่การเกิดอาการเกร็งกล้ามเนื้อ ชัก หมดสติ หัวใจหยุดเต้น และถึงแก่ชีวิตได้

“ฮีทสโตรก” ภัยเงียบหน้าร้อน เสี่ยง เสียชีวิตได้

กลุ่มที่มีความเสี่ยงจะเกิดโรคฮีทสโตรก ได้แก่ ผู้สูงอายุ  เด็ก ผู้ที่อดนอน ผู้ที่ดื่มเหล้าจัด  ผู้ที่ทำงานในสภาพอากาศที่ร้อนชื้น นักกีฬา ผู้ที่มีโรคประจำตัว   เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจโรคอ้วน ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ และผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

แนวทางการป้องกันโรคฮีทสโตรก

  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในสภาพอากาศร้อนจัดหรือกลางแจ้งเป็นเวลานาน ๆ หากสามารถเลี่ยงได้ ควรเลือกเวลาที่ต้องการทำกิจกรรม เช่น ช่วงเช้ามืด หรือระหว่างพระอาทิตย์ตกดิน
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดภาวะร่างกายขาดน้ำ เช่น เครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน กาแฟ เหล้า เบียร์ เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้จะทำให้เสียน้ำทางปัสสาวะในปริมาณสูง
  • เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ไม่ควรอยู่ในที่อากาศร้อนและไม่ควรอยู่ตามลำพัง
  • ดื่มน้ำให้มากขึ้นและเพียงพอในแต่ละวัน กรณีออกกำลังกายหรือทำงานใช้แรงควรดื่มน้ำ 2-4 แก้วทุกชั่วโมง และสวมเสื้อผ้าที่เนื้อผ้าเบาบาง ระบายอากาศได้ดี และไม่รัด

หากรู้ตัวว่าจะต้องไปอยู่ในที่อากาศร้อนควรป้องกันตัวเองจากแสงแดดโดยสวมใส่แว่นกันแดดหรือหมวก ส่วนใหญ่แล้วโรคลมแดดเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยการรักษาสุขภาพและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคลมแดดที่ถูกต้อง