การให้การศึกษาสำหรับนักบริบาลผู้ดูแลผู้สูงวัย

13 ก.ค. 2567 | 00:05 น.

การให้การศึกษาสำหรับนักบริบาลผู้ดูแลผู้สูงวัย คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ช่วงที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสพบเพื่อนสนิทท่านหนึ่ง ที่ทำโรงเรียนผู้บริบาลเพื่อทำการดูแลผู้สูงวัย ปรากฏว่าไปไม่รอด เพื่อนท่านนี้เสียเงินเสียทองไปเยอะทีเดียว แทบจะพูดได้ว่าเงินที่สะสมมาเกือบทั้งชีวิต ต้องหมดไปกับการทำโรงเรียนดังกล่าว ซึ่งเขามาเห็นผมทำโรงเรียนผู้บริบาลเช่นเดียวกัน เขาก็เตือนผมด้วยความห่วงใยว่า ข้อควรระวังต่างๆมีอะไรบ้าง? 

ซึ่งตัวเขาเองบอกผมว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดของเขา คือการที่ไม่มีนักเรียนมาเรียนที่โรงเรียนเขา อีกทั้งคุณครูที่มาสอนก็หายากมาก ซึ่งเขามองว่า เป็นเพราะเทรนของการดูแลผู้สูงวัย ที่ช่วงแรกเขาก็คิดว่า ประเทศไทยเราเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้ว แต่เหล่าคนรุ่นลูกในวันนี้ ไม่ได้มีความประสงค์ที่จะเรียนรู้ เพื่อนำมาประกอบเป็นอาชีพในอนาคตข้างหน้ากันมากพอ จึงได้เกิดปัญหาดังกล่าวนั่นเองครับ
 

ปัญหาดังกล่าวในสังคมปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และจำนวนของผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การให้การศึกษาแก่ผู้ดูแลผู้สูงวัย จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในสายตาของผม  เนื่องจากผู้สูงวัยต้องการการดูแลที่พิเศษ และมีความซับซ้อนมาก อย่างที่ผมเคยพูดว่า “ผู้สูงวัยร้อยคน ก็มีร้อยโรค” การเตรียมความพร้อมและการพัฒนาความรู้ ให้กับคนรุ่นใหม่ ที่จะมาเป็นนักบริบาลหรือผู้ดูแลผู้สูงวัย จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้การดูแลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและให้ผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีในชีวิตบั้นปลายของคนที่แก่ตัวลงนั่นแหละครับ
       
เรื่องของปัญหาของโรงเรียนนักบริบาลหรือผู้ดูแลผู้สูงวัย ต้องแบ่งออกเป็นสองปัจจัยหลักๆ ด้วยกัน คือปัจจัยที่เกิดจากไม่มีนักเรียนเข้ามาเรียน กับปัจจัยที่ไม่ค่อยมีคุณครูที่เข้ามาสอนในโรงเรียน เนื่องจากพอไม่มีนักเรียน คุณครูก็ไม่ค่อยอยากจะสอนนั่นเอง ในส่วนของปัญหาไม่มีนักเรียนอยากจะเข้ามาเรียน เราก็ต้องเข้าใจในความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ เพราะคนที่เรียนจบมาเพื่อทำงานนี้ เงินเดือนไม่ได้มากเหมือนพยาบาลวิชาชีพ หรือแม้กระทั่งผู้ช่วยพยาบาล ก็ยังมีเงินเดือนสูงกว่านักบริบาลด้วยซ้ำไป 
 

ในขณะที่การเรียนเป็นนักบริบาลใช้เวลาเรียนร่วมครึ่งปี ในขณะที่ผู้ช่วยพยาบาลใช้เวลาเรียนเพียงสองปี หรือมากกว่าเพียงปีครึ่งเท่านั้น เงินค่าตอบแทนที่ได้ ก็เป็นกอบเป็นกำมากกว่า ในขณะที่เมื่อเป็นผู้ช่วยพยาบาลแล้ว หากได้เรียนเพิ่มอีกปีครึ่ง เขาหรือเธอก็สามารถอัพเกรดตนเองเป็นพยาบาลวิชาชีพแล้ว อีกทั้งการทำงานด้านนักบริบาลหรือผู้ดูแลผู้สูงวัย วันทั้งวันก็ต้องอยู่ดูแลผู้เฒ่าผู้แก่ ที่ไม่ใช่เป็นบิดา-มารดาตนเอง ย่อมไม่ค่อยมีเด็กไทยคนไหน ถ้าไม่มีความจำเป็นจริงๆ อยากจะกระโดดเข้ามาทำงานนี้เท่าที่ควรครับ 
       
อีกปัจจัยหนึ่งที่มาจากคุณครูผู้สอน หากไม่มีนักเรียนที่กระตือรือร้นที่อยากจะเรียน ก็เป็นธรรมดาของคุณครู ที่ไม่อยากจะสอนครับ อีกทั้งการให้การศึกษาแก่นักบริบาลหรือผู้ดูแลผู้สูงวัย เพื่อช่วยให้พวกเขาเข้าใจความต้องการพิเศษของผู้สูงวัย ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ทำให้สามารถดูแลได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เช่น การจัดการกับโรคเรื้อรัง การดูแลเรื่องโภชนาการ และการให้การสนับสนุนด้านจิตใจ การฝึกปฏิบัติตนให้ยอมรับกับเรื่องราวที่จะมาถึงในอนาคต (การจากโลกนี้ไป) และการใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างมีความสุข จึงเป็นสิ่งสำคัญที่นักบริบาลหรือผู้ดูแลผู้สูงวัยต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้เลยละครับ 
         
นอกจากปัญหาที่กล่าวมาแล้วนี้ คุณครูต้องสื่อสารให้นักเรียนที่เป็นนักบริบาล ต้องทำให้ตนเองเป็นผู้ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ ในการลดภาระทางด้านการแพทย์ เพราะนักบริบาลที่มีความรู้ที่ดี จะสามารถช่วยลดจำนวนการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของผู้สูงวัย และลดภาระทางด้านการแพทย์ ทำให้ระบบสาธารณสุขสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นี่คือนักบริบาลที่ดี 

ดังนั้นการดูแลผู้สูงวัย นักบริบาลต้องท่องจำไว้ในใจเสมอว่า ผู้สูงวัยที่เราดูแลอยู่นั้น เปรียบเสมือนญาติผู้ใหญ่ของตัวเราเอง จำเป็นต้องให้ใจกับการดูแลที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งนำมาซึ่งสุขภาพที่ดีของผู้สูงวัยที่เราดูแลอยู่ จึงยากกว่าสอนนักเรียนสายสามัญธรรมดามากครับ
           
ในส่วนของโรงเรียนเอง ก็ต้องมีแนวทางการพัฒนาให้การศึกษา ให้แก่ครูผู้สอนนักบริบาลหรือผู้ดูแลผู้สูงวัย ด้วยการให้ไปอบรมสัมมนาการหาความรู้ใหม่ๆ เข้ามาสู่สถานบริบาลที่ตนเองทำงานอยู่ เพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะใหม่ๆ ให้กับตัวคุณครูเอง และเพื่อนำมาใช้ในโรงเรียนที่สอนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลด้านสุขภาพ การให้ความช่วยเหลือในกิจวัตรประจำวัน การให้การสนับสนุนด้านจิตใจ และการจัดการกับโรคเรื้อรังต่างๆ เป็นต้น รวมทั้งมีการให้คุณครูเพิ่มขีดความสามารถในด้านการดูแลผู้สูงวัยดัวยการเสริมเรื่องนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามา เพื่อไม่ให้ทั้งครูและนักเรียนเกิดความจำเจหรือเบื่อหน่าย นี่คือสิ่งที่จะทำให้ครูในโรงเรียน ได้มีโอกาสในการเพิ่มทักษะให้แก่ตนเองและเหล่านักเรียนตลอดเวลา  
        
จะเห็นว่าการให้การศึกษาแก่ผู้ดูแลผู้สูงวัย เป็นสิ่งที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในสังคมปัจจุบัน เนื่องจากผู้สูงอายุมีความต้องการการดูแลที่พิเศษและซับซ้อน การพัฒนาความรู้และทักษะของผู้ดูแล จะช่วยให้การดูแลผู้สูงวัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและส่งผลให้ผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การจัดการศึกษาและการสนับสนุนผู้ดูแล จึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง 

ดังนั้นผมก็ได้แต่บอกเพื่อนไปว่า อย่าเพิ่งท้อใจต่อการต้องเสียสละทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์ หากผู้ที่ตั้งใจทำโรงเรียนอยู่ ท้อแท้ และละทิ้งเลิกกิจการไป แล้วคนแก่อย่างพวกผม อนาคตจะให้ใครมาดูแลละครับ