ผู้สูงวัยกับโรคต่อมลูกหมากโต

28 ก.ย. 2567 | 02:35 น.
อัพเดตล่าสุด :28 ก.ย. 2567 | 02:59 น.

ผู้สูงวัยกับโรคต่อมลูกหมากโต คอลัมน์ ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

หลายปีก่อน เพื่อนรักที่เป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจของผมคนหนึ่ง ได้ไปผ่าตัดต่อมลูกหมาก ในช่วงนั้นผมก็ยังไม่เข้าใจถึงโรคต่อมลูกหมากโต หลังจากนั้นอีกไม่นาน ก็มีเพื่อนอีกคนหนึ่ง ก็มีปัญหาโรคต่อมลูกหมากโตเช่นเดียวกัน สุดท้ายหลังจากที่ทนยื้อมานานพอสมควร ก็ต้องเข้าห้องเชือดให้แพทย์ผ่าตัดเช่นกัน

ผมจึงได้สอบถามเพื่อคนดังกล่าวว่า ทำไมเขาจึงรู้ว่าตนเองเป็นโรคต่อมลูกหมากโต เขาจึงเล่าว่า ช่วงแรกๆเขามีความรู้สึกว่าปัสสาวะลำบากมาก  เวลาเข้าห้องน้ำไปขับปัสสาวะ จะต้องออกแรงในการขับถ่ายมาก รู้สึกเหมือนปัสสาวะไม่หมด บางครั้งก็รู้สึกเหมือนมีปัสสาวะเหลืออยู่ในกระเพาะ หลังจากปัสสาวะเสร็จเสมอ  อีกอาการหนึ่งคือ ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะตอนกลางคืน (Nocturia) ทำให้ต้องตื่นขึ้นมาเข้าห้องน้ำหลายครั้ง  และปัสสาวะไม่ต่อเนื่อง การไหลของปัสสาวะจะเป็นพัก ๆ และมีความรู้สึกเหมือนต้องหยุดและเริ่มใหม่เสมอ หรือบางครั้งก็เหมือนอั้นปัสสาวะไม่อยู่ เวลาปวดปัสสาวะขึ้นมา จะต้องรีบวิ่งหาส้วมเสมอ มิเช่นนั้นก็จะฉี่ราดกางเกง อาการเหมือนมีความต้องการที่จะปัสสาวะทันทีและควบคุมได้ยาก เขาจึงไปปรึกษาแพทย์ แพทย์ได้ทำการตรวจวินิจฉัย จึงทราบว่าเป็นโรคต่อมลูกหมากโต เขาจึงตัดสินใจทำการเข้ารับการผ่าตัดตามคำแนะนำแพทย์นั่นเอง

โรคต่อมลูกหมากโต หรือ Benign Prostatic Hyperplasia (BPH) เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้ชายวัยกลางคนและผู้สูงอายุเช่นพวกเรานั่นแหละครับ ซึ่งต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะขนาดเล็ก ที่อยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะและล้อมรอบท่อปัสสาวะ มีหน้าที่หลักคือการผลิตของเหลว  ที่เป็นส่วนหนึ่งของน้ำอสุจิ เมื่อผู้ชายมีอายุมากขึ้น ต่อมลูกหมากมักจะขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ  ซึ่งอาจทำให้เกิดการอุดกั้นการไหลของปัสสาวะที่ผ่านท่อปัสสาวะ ส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ ที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน

สาเหตุที่ทำให้ต่อมลูกหมากขยายตัว เท่าที่ผมอ่านในบทวิจัยหลายบท ผมก็ยังทราบแน่ชัดว่าเกิดจากอะไร  แต่ก็มีอยู่ในบทวิจัยบางฉบับที่เชื่อว่า ฮอร์โมนเพศชายอย่าง เทสโทสเตอโรน (Testosterone) และไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน (Dihydrotestosterone: DHT) อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของต่อมลูกหมาก นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ  ที่สามารถเพิ่มโอกาสในการเกิดโรคนี้ได้ เช่น เมื่ออายุที่เพิ่มขึ้น ผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 50 ปี มักมีความเสี่ยงในการเกิดโรคต่อมลูกหมากโตสูงขึ้น หรืออาจจะเป็นเพราะพันธุกรรม  หากมีคนในครอบครัวที่เป็นโรคต่อมลูกหมากโต ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคก็จะเพิ่มขึ้น  หรือฮอร์โมนไม่สมดุล การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนและเอสโตรเจนดังที่กล่าวมาแล้ว 

หากโรคต่อมลูกหมากโตไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น การอุดตันของท่อปัสสาวะ การขยายตัวของต่อมลูกหมากทำให้ปัสสาวะไม่สามารถไหลออกได้ตามปกติ ส่งผลให้เกิดการอุดตันและอาจต้องใส่สายสวนปัสสาวะ หรือการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เกิดจากการปัสสาวะไม่หมด ทำให้เกิดการสะสมของแบคทีเรีย ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ บางรายก็จะทำให้เกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ  ที่เกิดจากการสะสมของตะกอนในปัสสาวะที่ไม่ถูกขับออกจากกระเพาะปัสสาวะ จนทำให้เกิดความเสียหายต่อกระเพาะปัสสาวะและไต หากปล่อยให้การอุดตันเกิดขึ้นนาน ๆ อาจทำให้กระเพาะปัสสาวะและไต  ทำงานผิดปกติและเกิดความเสียหายถาวรได้ ซึ่งถ้าหากเลวร้ายมาก ก็จะทำให้เกิดเป็นมะเร็งในต่อมลูกหมากได้เลยครับ

การวินิจฉัยโรคต่อมลูกหมากโตของแพทย์ ก็สามารถทำได้ด้วยหลายวิธี เช่น การตรวจทางทวารหนัก (Digital Rectal Exam : DRE) แพทย์จะตรวจขนาดและลักษณะของต่อมลูกหมาก ผ่านการสัมผัสทางทวารหนักเพื่อประเมิน ซึ่งเวลาที่เราไปตรวจร่างกายประจำปี แพทย์ที่อยู่ในห้องตรวจ ท่านก็จะให้เรานอนตะแคงงอเข่า จากนั้นแพทย์ก็จะสวมถุงมือยาง แล้วใช้นิ้วมือล้วงเข้าไปทางทวารหนักของเรา แล้วคว้านดูรอบๆช่องทวาร เพื่อประเมินว่ามีการขยายตัวมากน้อยเพียงใดนั่นเองครับ

อีกหนึ่งวิธีที่สามารถตรวจได้ คือการตรวจปัสสาวะ เพื่อตรวจสอบว่ามีการติดเชื้อหรือมีสารผิดปกติในปัสสาวะ และการตรวจเลือด เพื่อตรวจระดับของ Prostate-Specific Antigen (PSA) ซึ่งเป็นสารที่อาจเพิ่มขึ้นในผู้ที่มีภาวะต่อมลูกหมากโตหรือต่อมลูกหมากอักเสบ  บางครั้งแพทย์ก็จะตรวจด้วยอัลตราซาวด์ เพื่อดูภาพของต่อมลูกหมากและตรวจความผิดปกติของต่อมลูกหมาก  เช่น มีนิ่วหรือการอุดตันในทางเดินปัสสาวะหรือไม่นั่นเองครับ  อีกทั้งการตรวจวัดความเร็วในการไหลของปัสสาวะ เพื่อตรวจสอบว่าปัสสาวะไหลช้าหรือไม่? ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญญาณของการอุดตันของท่อปัสสาวะ ที่เกิดจากต่อมลูกหมากโตนั่นเองครับ

การรักษาโรคต่อมลูกหมากโตก็มีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและสุขภาพทั่วไปของผู้ป่วย วิธีการรักษาที่พบบ่อย คือถ้าหากอาการไม่หนัก หรือมีอาการเบื้องต้นเท่านั้น แพทย์ท่านก็จะจ่ายยามาให้ทาน แต่ถ้าหากรุนแรงหรือมีการอุดตันของท่อปัสสาวะมาก ก็จะใช้วิธีการผ่าตัดเลยครับ โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือสอดผ่านท่อปัสสาวะเพื่อตัดต่อมลูกหมาก วิธีนี้จะเป็นการผ่าตัดเอาอวัยวะบางส่วนที่มีปัญหาออกไป อีกวิธีหนึ่ง คือการผ่าตัดด้วยเลเซอร์ (Laser Surgery) ในการทำลายเนื้อต่อมลูกหมากที่เกินออก แต่ก็เป็นการผ่าตัดที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อย แต่ก็สามารถใช้วิธีนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน ในปัจจุบันมีการพัฒนาเทคนิคใหม่ ๆ ในการรักษาโรคต่อมลูกหมากโต เช่น การฝังอุปกรณ์ Uro Lift เพื่อเปิดทางเดินปัสสาวะให้กว้างขึ้น โดยไม่ต้องตัดเนื้อต่อมลูกหมาก หรือการรักษาด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (HIFU) ซึ่งใช้คลื่นเสียงในการทำลายเนื้อต่อมลูกหมากที่เกินออก

วิธีที่จะลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคต่อมลูกหมากโต จะต้องลดการบริโภคคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ เพราะเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ อาจทำให้เกิดการระคายเคืองในทางเดินปัสสาวะ และทำให้เกิดอาการปวดปัสสาวะบ่อย  หรือลดการดื่มน้ำก่อนนอน การลดปริมาณการดื่มน้ำในช่วงเย็น จะช่วยลดอาการปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืนได้ ซึ่งนั่นคือความเสี่ยงในการเกิดโรคดังกล่าวนั่นเอง ดังนั้นเมื่อเราอายุมากขึ้น ถ้าหากยังไม่ว่างที่จะขึ้นสวรรค์ ก็ควรต้องระมัดระวังและปฎิบัติตนอย่างมีวินัย จึงจะมีชีวิตในบั้นปลายอย่างมีความสุขด้วยประการฉะนี้แล.......