การพัฒนาเศรษฐกิจกับบทบาทโครงสร้างของเศรษฐกิจและสังคม

21 มิ.ย. 2566 | 04:54 น.
อัปเดตล่าสุด :21 มิ.ย. 2566 | 04:54 น.

การพัฒนาเศรษฐกิจกับบทบาทโครงสร้างของเศรษฐกิจและสังคม : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย...ผศ.ดร.สันต์ สัมปัตตะวนิช คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,898 หน้า 5 วันที่ 22 - 24 มิถุนายน 2566

เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปดูงานที่ประเทศฟินแลนด์ และสวีเดน และได้เดินผ่าน Nobel Prize Museum ในกรุงสต๊อกโฮล์ม ได้ฟังการบริหารจัดการพื้นที่และการทดลองสิ่งใหม่ๆ โดยภาครัฐ ในลักษณะการร่วมมือกับเอกชน เลยนึกถึงการบรรยายของ Douglass North

ก่อนอื่นขอเล่าประวัติของศาสตราจารย์ Douglass North อย่างย่อ Douglass North เป็นนักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ที่ได้รับรางวัลโนเบลในปี ค.ศ. 1993 จากแนวคิดเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเน้นไปที่เรื่องของสถาบัน (Institution) เป็นหนึ่งในแนวคิดหลักที่ IMF และ The World Bank นำไปใช้ในการดำเนินการช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา

 

 

 

เราต้องเข้าใจว่าแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่มีการเรียนการสอน และเป็นต้นแนวคิดของแบบจำลองต่างๆ ที่ใช้กันในปัจจุบัน โดยตัวเอง ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจโดยตรง หากแต่เป็นแนวคิดที่ใช้ในการอธิบายการจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วในช่วงร้อยกว่าปีที่ผ่านมา

สถาบัน (Institution) หรือ โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม ในแนวคิดของ North จะไม่มีความจำเป็น ถ้าเราอยู่ในโลกที่ไม่มีแรงเสียดทาน หรือ อุปสรรค และทุกอย่างคาดเดาได้ทั้งหมด

 

ทั้งนี้สถาบันคือระบบแรงจูงใจที่ก่อร่างปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ ช่วยให้เราสามารถคาดเดาสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมได้ในระดับนึง เทียบกับที่ไม่สามารถคาดเดาได้เลย

ดังนั้นสถาบันจึงเกิดจากการพยายามทำความเข้าใจมนุษย์และสังคมในรูปแบบต่างๆ ทั้งในด้านเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์

 

 

การพัฒนาเศรษฐกิจกับบทบาทโครงสร้างของเศรษฐกิจและสังคม

 

 

สถาบันมีสามองค์ประกอบใหญ่ 1. กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เป็นทางการ หรือ formal rule 2. ข้อจำกัดที่ไม่ เป็นทางการเช่นบรรทัดฐานทางสังคม เป็นต้น 3. ลักษณะในการจัดการควบคุมและการบังคับใช้กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เป็นทางการ เป็นแค่ส่วนเล็กๆ ในการนำพาซึ่งการตัดสินใจและพฤติกรรมของคนในสังคม

และโดยทั่วไป บรรทัดฐานทางสังคมมีส่วนสำคัญมากกว่าเป็นอย่างมาก การบังคับใช้นั้น มีทั้งการบังคับใช้กฎเกณฑ์ต่างๆ และการบังคับใช้บรรทัดฐานที่ไม่เป็นทางการ

ตัวอย่างเช่น ในการแข่งขันกีฬาที่ต้องมีการปะทะกัน เช่น ฟุตบอล จะมีทั้งกติกา และบรรทัดฐาน (นํ้าใจนักกีฬา) และกรรมการเป็นผู้ควมคุม เป็นต้น

นักกีฬาบางคนอาจจงใจทำร้าย หรือ เล่นแรงเพื่อขู่ฝั่งตรงข้าม โดยไม่ผิดกติกา แต่แสดงถึงความไม่มีนํ้าใจนักกีฬา และกรรมการควรตักเตือน หรือ ทำโทษ เพื่อไม่ให้เกิดการปะทะที่บานปลายออกไป

แต่การบังคับใช้ไม่เคยทำได้อย่างสมบูรณ์แบบ การบังคับใช้มีต้นทุนในการดำเนินการ และในการจะทำให้การบังคับใช้เป็นไปได้อย่างสมบูรณ์ อาจไม่คุ้มค่ากับต้นทุนที่ต้องจ่ายไป ในโลกที่ทรัพยากร หรืองบประมาณมีอย่างจำกัด

สังคมมนุษย์ไม่เหมือนกับวิทยาศาสตร์ที่มีกฎเกณฑ์ ที่ค่อนข้างตายตัวแน่นอน เช่น นํ้าจะเดือดที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส แต่มีความซับซ้อนทั้งในด้านข้อมูลที่มีอยู่มากมาย ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ต่อการตัดสินใจที่หลากหลาย ข้อจำกัดในด้านองค์ความรู้

รวมถึงความไม่สมบูรณ์ในการรับรู้ผล กระทบของการตัดสินใจ ทำให้แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมักไม่สามารถแก้ปัญหาสังคมได้ เพราะเราควบคุมปัจจัยที่ซับซ้อนและข้อมูลต่างๆ ไม่ได้

สิ่งสำคัญที่ต้องเข้าใจ คือ ระบบโครงสร้างต่างๆ ในสังคมมนุษย์มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ในด้านกายภาพ เรามีองค์ความรู้ที่ดีและสามารถคาดเดาธรรมชาติได้ดีกว่าแต่ก่อนมาก แต่ในด้านสิ่งที่เกิดจากจิตของเรานั้น เรามีความเข้าใจในระดับผิวเผินเท่านั้น

เช่น เราเคยมีปัญหาในการเข้าถึงอาหาร และโภชนาการ การพัฒนาระบบการเกษตร และสังคมในยุคหนึ่งทำให้เราสามารถเข้าถึงอาหารได้มากมาย ในพื้นที่ส่วนใหญ่บนโลก

แต่การที่เราสามารถจัดการสิ่งแวดล้อมทางกายภาพเหล่านี้ได้ เกิดผลที่ทำให้ระบบสังคมและเศรษฐกิจของเรามีความซับซ้อนมากขึ้น มีปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นมาทั้งในด้านมนุษย์ สังคม การเมือง และโครงสร้างทางสังคม ซึ่งเราต้องค่อยๆ จัดการหรือดูแลมันไปโดยที่เราไม่สามารถบอกได้ถึงความสำเร็จล่วงหน้า

เนื่องจากโครงสร้างทางสังคมมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่ส่งผลต่อการเกิดขึ้นของสถาบันและโครงสร้างทางสังคมต่างๆ คือ พื้นฐานทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของสังคมนั้นๆ หรือ แปลว่าการพัฒนาโครงสร้าง ถูกจัดสรรขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันในแต่ละสังคม โดยต้องคำนึงถึงพื้นฐานความคิด และบรรทัดฐานทางสังคมของสังคมนั้นๆ

หรือแปลว่า มีลักษณะขึ้นกับเส้นทางที่ผ่านมาของแต่ละสังคม สิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว และกลายเป็นพื้นฐานในสังคม เรามีความสามารถในการปรับสิ่งเหล่านี้ได้น้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นในด้านความเชื่อ บรรทัดฐาน แนวคิด โดยเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วและสามารถอยู่รอดจากการปรับเปลี่ยนมาอย่างยาวนาน ฝังลึกในสังคม

ทั้งนี้สิ่งเหล่านี้ มีทั้งด้านที่ดี และไม่ดี และเป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละสังคม ประเด็นนี้ทำให้การนำสิ่งที่ประสบความสำเร็จในสังคมนึง ไปใช้ในอีกสังคมนึง ไม่สามารถประกันความสำเร็จได้

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ทั้งในด้านเทคโนโลยี ความคิด พฤติกรรม และอื่นๆ จะค่อยๆ ถูกผนวกเข้ากับวัฒนธรรมที่มีอยู่เดิม และสร้างลักษณะเฉพาะที่ปรับไปตามกาลเวลา เกิดความเชื่อใหม่ๆ ขึ้น และความเชื่อเดิมบางเรื่องอาจหายไป เช่นความเชื่อที่ว่าโลกของเราแบนเป็นต้น

ย้อนกลับมาที่เรื่องของระบบการเมือง สถาบันการเมืองมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเป็นต้นทางในการออกกฏ ระเบียบต่างๆ อย่างเป็นทางการที่ใช้ในสังคม และเป็นหัวเรือขับเคลื่อนทิศทางที่เกี่ยวข้องกับบรรทัดฐาน และการบังคับใช้อีกด้วย

เนื่องจากกติกาทางเศรษฐกิจ ถูกสร้างขึ้นจากฝ่ายการเมือง นักการเมืองก็มีจุดมุ่งหมายของเขาเอง ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจหรือสังคมก็ได้ และองค์ความรู้จากนักเศรษฐศาสตร์หรือผู้เชี่ยวชาญ อาจได้รับหรือไม่ได้รับการนำไปใช้ในการออกนโยบายหรือกฎหมายก็ได้

ถึงทุกวันนี้ เราก็ยังไม่ทราบว่า ระบบการเมืองที่ทำงานได้ไม่มีที่ติ เป็นอย่างไร เช่น ประเทศในแถบอเมริกาใต้ เมื่อได้รับเอกราชจากจักรวรรดิต่างๆ หลายประเทศได้นำรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบ แต่เราก็ทราบกันดีว่าไม่มีประเทศไหนพัฒนาประเทศได้เช่นอเมริกาเลย หลายคนอาจโยงไปที่เรื่องของภูมิประเทศ แต่เราต้องไม่ลืมเรื่องความแตกต่างทางด้านจิตใจ และพื้นฐานทางสังคมเช่นกัน

ปัญหาในการนำแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์มาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างจริงจังมีสามประการ 1. การเปลี่ยนแปลงจากการแลกเปลี่ยนส่วนตัวมาเป็นการแลกเปลี่ยนที่ไม่รู้จักฝั่งตรงข้าม 2. การแบ่งงานกันทำและเชี่ยวชาญในรูปแบบที่แตกต่างกันมีต้นทุน

3. ระบบตลาดในชีวิตจริง ไม่ใช่ตลาดที่มีประสิทธิภาพ ตามทฤษฎี ทั้งสามประเด็นต้องการการพัฒนาระบบโครงสร้าง หรือสถาบันที่เหมาะสมในการจัดการ

1. การเปลี่ยนแปลงจากการแลกเปลี่ยนส่วนตัวมาเป็นการแลกเปลี่ยนที่ไม่รู้จักฝั่งตรงข้าม ในการค้าขาย หรือ การแลกเปลี่ยนในสมัยก่อน เราใช้การแลกเปลี่ยนกับบุคคลที่เราสามารถเจอหน้ากันได้ เราสามารถเลือกคนที่จะคบหรือแลกเปลี่ยนด้วยได้จากความคุ้นเคย หรือการแนะนำ

การค้าขายก็เช่นกัน ความคุ้นเคย ประวัติที่เคยทำ นำมาซึ่งความไว้ใจ เชื่อใจ ว่าฝั่งตรงข้ามจะทำตามข้อตกลงหรือสัญญาที่มีต่อกัน แต่เราไม่สามารถรู้จักทุกคนได้

ที่ผ่านมาการเกิดขึ้นของระบบการเงิน ระบบธนาคาร ระบบสินเชื่อ บัตรเครดิตต่างๆ ทำให้เราสามารถทำการค้าขายแลกเปลี่ยนกับคนที่ไม่รู้จักได้ดีขึ้นในระดับหนึ่ง และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ความซับซ้อนมากขึ้น ระบบการจัดการความเชื่อถือก็ต้องปรับไปด้วย

แต่ทุกอย่างมีต้นทุนเสนอ เช่น การซื้อขายสินค้าบนระบบออนไลน์ต่างๆ ในปัจจุบัน มีทั้งพ่อค้าที่สุจริต และคนที่พยายามหลอกให้ซื้อ หรือลูกค้าที่จ่ายเงินตรงไปตรงมา กับคนที่ไม่สุจริต เป็นต้น ทำให้เกิดคนกลางที่เข้ามาเป็นคนดูแล และสร้างระบบในการร้องเรียนและจัดการกับความน่าเชื่อถือของคู่สัญญา แต่ก็แลกมาด้วยค่าบริการและต้นทุนทางเศรษฐกิจ

2. การแบ่งงานกันทำและเชี่ยวชาญในรูปแบบที่แตกต่างกันมีต้นทุน ในอดีต ในสังคมที่ยังไม่มีความซับซ้อน เราทุกคนต้องสามารถจัดการสิ่งต่างๆ รอบตัวได้แทบทุกอย่าง เช่น การทำอาหาร การเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืช เป็นต้น ฃ

เมื่อระบบเศรษฐกิจและสังคมพัฒนามากขึ้น ในปัจจุบัน คนเมืองหลายคน ทำอาหารเองไม่เป็น เราไม่สามารถสร้างบ้านเองได้แล้ว เพราะเรามีคนที่มีความสามารถมากกว่าเรา ในการจัดการสิ่งเหล่านั้น และเราเองก็มีความรู้ความสามารถเป็นการเฉพาะที่คนอื่นไม่มีเช่นกัน

เราทุกคนพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ซึ่งในความเป็นจริงเป็นการที่เรามีความเชี่ยวชาญจำเพาะในองค์ความรู้ต่างๆ เฉพาะตัว หรือ ทุกคนมีทุนมนุษย์ที่แตกต่างกัน และเป็นสิ่งที่จำเป็นเพราะองค์ความรู้ในปัจจุบันมีมากมาย และคนเดียวไม่สามารถศึกษาและมีความเชี่ยวชาญทุกอย่างได้

การผสมผสานความเชี่ยวชาญเหล่านี้ เพื่อการสร้างสรรค์ต่างๆ มีต้นทุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเวลา หรือ ทรัพยากร เช่น การสร้างเครือข่าย เป็นต้น

การสร้างระบบโครงสร้างที่ทำให้เราสามารถค้นหา ผู้ที่สามารถช่วยเหลือเราได้ด้วยต้นทุนที่ตํ่าจึงมีความสำคัญ เช่น แต่ก่อนจะมีการโฆษณาในหนังสือพิมพ์ เพื่อการหางาน มีระบบบริษัทนายหน้าจัดการเรื่องการจ้างงาน เป็นต้น ในปัจจุบันเราอาจใช้เครือข่ายบนสังคมออนไลน์เพื่อช่วยเหลือ (แน่นอนที่ช่วยเพิ่มความมั่นใจในผู้ที่เราจะได้มา หรือย้อนกลับไปประเด็นแรก)

3. ระบบตลาดในชีวิตจริงไม่ใช่ตลาดที่มีประสิทธิภาพตามทฤษฎี ไม่ว่าจะเป็นในด้านของความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงข้อมูล และความสามารถในการจัดการ ประมวลผลข้อมูลที่มากมายเหล่านั้น

ดังนั้น เราจะเห็นได้ตรงไปตรงมาว่า ระบบตลาดต้องมีสถาบัน หรือคนกลางเข้ามาดูแลเป็นผู้ควบคุมกติกา เพื่อให้ทุกคนสามารถแข่งขันกันได้ในระดับที่ใกล้เคียงกันมากขึ้น

อย่าลืมว่าเราไม่สามารถทำให้เกิดความเท่ากันได้อย่างแท้จริง และการสร้างบรรทัดฐานทางสังคมที่ดี จะช่วยได้มากทำให้สามารถลดต้นทุนในการกำกับดูแลได้ ทั้งนี้กติกาต่างๆ มีความเป็นพลวัต ต้องปรับเปลี่ยนไปตามสังคมและความรู้ที่เกิดขึ้นใหม่อีกด้วย

สุดท้าย North เสนอแนวคิดว่า สถาบัน หรือ โครงสร้างเหล่านั้นต้องเป็นระบบที่มีการปรับตัวอย่างมีประสิทธิภาพ เราจะสร้างระบบอย่างไร ให้เราสามารถมีกติกา หรือ สิ่งสร้างสรรค์ที่ดี และสามารถจัดการกับกติกาหรือการตัดสินใจที่ผิดพลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการนำมาซึ่งการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

เรามาลองคิดกันดูว่า นอกจากการพัฒนาปรับปรุงระบบกฎหมายและการบังคับใช้แล้ว ในสังคมและเศรษฐกิจไทยของเรา เราจะปรับปรุงและพัฒนาบรรทัดฐาน วัฒนธรรม หรือความเชื่อของสังคมไทยได้อย่างไร โดยเฉพาะความคิดและพฤติกรรมพื้นฐาน ให้เหมาะสมกับปัจจุบัน และเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศต่อไป

อ้างอิงจากแนวคิดของ Douglass C. North “The role of institutions in economic development” UNECE discussion paper No.2003.2, United Nations