Bio-Credit: มิติใหม่ของการใช้กลไกตลาดเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม

26 เม.ย. 2566 | 08:30 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ค. 2566 | 07:20 น.

Bio-Credit: มิติใหม่ของการใช้กลไกตลาดเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย รศ.ดร.ขนิษฐา แต้มบุญเลิศชัย คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,882 หน้า 5 วันที่ 27 -29 เมษายน 2566

ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญไม่แพ้ปัญหาการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศ คือ การสูญเสียพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ สิ่งมีชีวิตต่างๆ รวมถึงระบบนิเวศต่างๆ หรือก็คือ ปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) นั่นเอง

จากการประเมินของนักวิทยาศาสตร์ พบว่า การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมานั้น อยู่ในอัตราที่ไม่เคยพบมาก่อนในประวัติศาสตร์ของมนุษย์  จนกล่าวกันว่าเรากำลังอยู่ในยุคการสูญพันธุ์หมู่ครั้งที่ 6 (6th mass extinction) ซึ่งครั้งนี้แตกต่างจากการสูญพันธุ์หมู่ครั้งที่แล้วสมัยไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปจากโลก (เมื่อ 65 ล้านปีที่แล้ว) ตรงที่ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการสูญพันธุ์ในครั้งนี้มาจากการกระทำของ มนุษย์เป็นหลัก 

 

ความหลากหลายทางชีวภาพมีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตและต่อคุณภาพชีวิตของมนุษย์ในหลายมิติ ธรรมชาติเป็นแหล่งผลิตอาหาร เป็นแหล่งพลังงาน เป็นที่มาของยารักษาโรค รวมถึงเป็นแหล่งที่มาของบริการทางระบบนิเวศ (eco system services) ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต

เช่น การควบคุมคุณภาพนํ้า คุณภาพอากาศ การดูดซับก๊าซเรือนกระจก และการเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตที่มนุษย์พึ่งพาอาศัย (เช่น สัตว์ทะเล เป็นต้น) อีกทั้งยังเป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย ดังนั้นการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพจึงส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์อย่างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้     

 

 

Bio-Credit: มิติใหม่ของการใช้กลไกตลาดเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม

 

 

สาเหตุสำคัญประการหนึ่งของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เกิดจากลงทุนในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่เพียงพอ

จากการประมาณการพบว่า การลดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพต้องใช้เงินลงทุนราวๆ 722-967 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี แต่ในแต่ละปีมีการลงทุนเพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ราวๆ 124-143 พันล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น

ดังนั้น การระดมเงินทุนเพื่อดูแลความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity finance) จึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนให้เกิดผลสำเร็จ 

เครดิตความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity credits หรือ bio-credits) เป็นหนึ่งนวัตกรรมที่นำกลไกตลาดมาใช้ในการระดมเงินทุนเพื่อดูแลธรรมชาติ ซึ่งการทำงานของไบโอ เครดิต มีลักษณะคล้ายกับการทำงานของคาร์บอนเครดิตในตลาดภาคสมัครใจ (voluntary carbon credits) ในลักษณะที่ไบโอเครดิตเป็นสินค้าที่สามารถซื้อขายได้

โดยฝั่งผู้ซื้ออาจเป็นประชาชนทั่วไป หรือ บริษัทที่มีความยินดีจะจ่ายเพื่อปกป้อง/ฟื้นฟูความหลากหลายทาง ชีวภาพ และฝั่งผู้ผลิต/ผู้ขายจะเป็นผู้ที่ลงทุนดำเนินโครงการที่สามารถปกป้อง/ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพได้

หากมีตลาดไบโอเครดิตเกิดขึ้น เมื่อฝั่งผู้ผลิตดำเนินโครงการที่สามารถปกป้อง/ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ จนเกิดผลจริงในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ก็สามารถนำข้อมูลเชิงปริมาณมาแสดงถึงผลดีที่เกิดต่อธรรมชาติเพื่อนำไปออกใบ รับรองว่า มีการดำเนินงานที่ดีต่อความหลากหลายทางชีวภาพเกิดขึ้นจริง ซึ่ง 1 หน่วยของใบ รับรองนี้ ก็คือ ไบโอเครดิต 1 หน่วยนั่นเอง

เมื่อผู้ผลิตได้ไบโอเครดิตที่ได้รับการรับรองแล้วก็สามารถนำไบโอเครดิตนี้ไปขายให้แก่ผู้ซื้อที่ยินดีจ่ายเงิน เพื่อสนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพได้ ทำให้ผู้ที่ลงทุนดำเนินโครงการที่ช่วยดูแลธรรมชาติ สามารถได้เงินลงทุนคืน หรือ อาจได้กำไรจากการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งหากการซื้อขายไบโอเครดิตแพร่หลายมากขึ้น ก็จะจูงใจให้เกิดการลงทุนในการดูแลสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น

ในปัจจุบัน เริ่มมีการดำเนินโครงการผลิตและขายไบโอเครดิตเกิดขึ้นบ้างแล้ว แต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก อีกทั้งยังขาดมาตรฐานการออกไบโอเครดิต ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันในระดับโลก

ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีการก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรเพื่อไบโอเครดิต (Biodiversity Credit Alliance) ขึ้นในปี 2565 โดยมีสมาชิกเป็นองค์กรจากภาคเอกชน องค์กรไม่แสวงหากำไร หน่วยงาน ภาครัฐ องค์กรระหว่างประเทศ และภาคส่วนอื่นๆ

โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) โครง การสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสวีเดน (Sida) 

สำหรับประเทศไทย ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพในลำดับต้นๆ ของโลก และทรัพยากรธรรมชาติของไทยได้ถูกทำลายลงในหลายพื้นที่และมีอีกหลายพื้นที่ที่ถูกคุกคาม ไบโอเครดิตจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนการลงทุนในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ

ดังนั้น การดำเนินงานด้านไบโอเครดิต จึงเป็นสิ่งที่ไทยควรจับตามอง และควรมีการศึกษาต่อไป เพื่อประโยชน์ในการปกป้องและฟื้นฟูทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยให้คงอยู่เป็นมรดกของลูกหลานสืบไป 

 

1 IPBES (2019) “Global Assessment Report on Biodiversity and Ecosystem Services of the Intergovernmental Science-Policy Platform on Biodiversity and Ecosystem Services”. Zenodo. 

2 Deutz et al. (2020) “Financing Nature: Closing the global biodiversity financing gap.” The Paulson Institute, The Nature Conservancy, and the Cornell Atkinson Center for Sustainability.