เครื่องมือลดหย่อนภาษี ช่วยคนไทยรับมือการเกษียณได้มากน้อยแค่ไหน

09 ส.ค. 2566 | 06:32 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ส.ค. 2566 | 06:53 น.

เครื่องมือลดหย่อนภาษี ช่วยคนไทยรับมือการเกษียณได้มากน้อยแค่ไหน : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย....รศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,912 หน้า 5 วันที่ 10 -12 สิงหาคม 2566

สังคมไทยกำลังเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (Aged society) โดยในปัจจุบัน ประเทศไทยมีจำนวนผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปราว 18% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งใกล้เคียงนิยามของการเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (สัดส่วนผู้สูงอายุ 20%-30% ของทั้งหมด)

ความท้าทายเรื่องสังคมสูงวัยจึงเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศไทย โดยหนึ่งในเครื่องมือการสร้างความมั่นคงทางการ เงินหลังเกษียณสำหรับแรงงานในระบบคือ เครื่องมือการลดหย่อนภาษีต่างๆ เช่น กองทุน RMF/SSF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 

 

 

 

ในบทความนี้ ผมขอชวนท่านผู้อ่านคุยถึงพฤติกรรมการออมระยะยาวของคนไทยผ่านเครื่องมือการลดหย่อนภาษี และนัยต่อความเพียงพอของเงินออม สำหรับการเกษียณ ซึ่งส่วนสำคัญเป็นการ|สรุปจากบทความของผู้เขียน (Muthitacharoen and Burong, 2023) โดยพฤติกรรมการออมระยะยาวในที่นี้เป็นการออมของแรงงานในระบบเป็นหลัก

คนไทยออมผ่านเครื่องมือลดหย่อนภาษีมากน้อยเพียงไร

ในภาพรวม ราว 73% ของผู้ยื่นแบบ ภงด. 90/91 มีการออมระยะยาวผ่านระบบภาษี ซึ่งการออมระยะยาวในที่นี้ครอบคลุมถึงการออม 3 ประเภทหลัก ได้แก่ ประกันชีวิต (Life insurance) กองทุน RMF/SSF (Mutual funds) และ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident funds) ในมิติรายได้ สัดส่วนนี้อยู่ที่ประมาณ 60% สำหรับผู้มีรายได้น้อย และราว 75%-80% สำหรับผู้มีรายได้ปานกลางและรายได้สูง 

 

 

เครื่องมือลดหย่อนภาษี ช่วยคนไทยรับมือการเกษียณได้มากน้อยแค่ไหน

 

ประกันชีวิตเป็นเครื่องมือการออมระยะยาวที่แพร่หลายที่สุด โดยกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ยื่นแบบฯ จะมีการลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต ซึ่งสัดส่วนของผู้มีรายได้น้อยที่มีการออมผ่านประกันชีวิตอยู่ที่ราว 35% ในขณะที่สัดส่วนนี้ของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง อยู่ที่ประมาณ 55%-65%

การออมที่แพร่หลายรองลงมาคือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยประมาณ 44% ของผู้ยื่นแบบฯ จะมีการออมประเภทนี้ ข้อสังเกตสำคัญ คือ สัดส่วนของผู้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้ ไม่แตกต่างกันมากนักตามระดับรายได้

สุดท้ายนี้ การออมระยะยาวผ่านกองทุน RMF/SSF ยังไม่แพร่หลายมากนัก มีสัดส่วนโดยรวมอยู่ที่ 15% ของผู้ยื่นแบบฯ ทั้งหมด และจะกระจุกอยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้สูงเป็นหลัก 

คนไทยออมระยะยาวมากน้อยแค่ไหนเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้

โดยเฉลี่ยคนไทยมีการออมระยะยาวคิดเป็นประมาณ 6% ของรายได้ และสัดส่วนนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามรายได้ โดยอยู่ที่ 3% 6% และ 10% สำหรับผู้มีรายได้น้อย ปานกลาง และสูงตามลำดับ

ข้อสังเกตที่สำคัญคือ ประกันชีวิตเป็นเครื่องมือที่มีนํ้าหนักสูงสุด โดยมีสัดส่วน 2.7% ของรายได้ รองลงมาคือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (2.0%) และกองทุน RMF/SSF (1.6%)

พอร์ตโฟลิโอการออมระยะยาวของคนไทย มีความแตกต่างชัดเจนตามระดับรายได้ โดยกลุ่มผู้มีรายได้น้อยจะออมผ่านประกันชีวิต และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นหลัก กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางจะพึ่งพาการออม 2 ประเภทนี้เป็นหลักเช่นกัน แต่จะให้ความสำคัญต่อประกันชีวิตมากกว่า กลุ่มผู้มีรายได้สูงมีการออมระยะยาวผ่านทั้ง 3 พาหนะการลงทุน แต่จะให้ความสำคัญต่อ RMF/SSF มากที่สุด คิดเป็นเกือบ 4% ของรายได้ 

 

การลดหย่อนภาษีสามารถรองรับภาระการเงินหลังเกษียณได้มากน้อยเพียงไร

งานวิจัยของ Muthitacharoen and Burong (2023) ชี้ว่า การลดหย่อนภาษีสำหรับการลงทุนระยะยาว มีความสำคัญต่อความมั่นคงทางการเงินหลังเกษียณของผู้เสียภาษีไทย

โดยงานวิจัยได้ประมาณการ Retirement wealth จากพฤติกรรมการออมผ่านการลดหย่อนภาษี และพบว่า การออมเหล่านี้โดยเฉลี่ยจะสามารถสร้างกระแสเงินสดรายปีได้ประมาณ 24% ของรายได้เมื่อเกษียณอายุ (รูปประกอบ) ซึ่งสัดส่วนนี้ถือว่ามีนัยสำคัญ และตํ่ากว่าสัดส่วนของประเทศพัฒนาแล้วที่ราว 30% ไม่มากนัก 

 

 

เครื่องมือลดหย่อนภาษี ช่วยคนไทยรับมือการเกษียณได้มากน้อยแค่ไหน

 

 

การเข้าสู่สังคมสูงวัยเป็นความท้าทายระยะยาวของประเทศ ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายสำคัญ คือ การสร้างความมั่นคงทางการเงินหลังการเกษียณให้แก่คนไทย

คำถามนโยบายสำคัญของรัฐบาลไทย คือ ทำอย่างไรจึงจะสร้างแรงจูงใจเพื่อการออมระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตรงกลุ่มเป้าหมาย

โจทย์นี้สำคัญอย่างยิ่งในห้วงเวลาหลังโควิด-19 ที่เราไม่ได้มีกระสุนทางการคลังมากเหมือนเดิมแล้ว

 

อ้างอิง

Muthitacharoen, A., & Burong, T. (2023). Retirement saving over the life cycle: Evidence from a developing country. Journal of Aging & Social Policy, forthcoming.