พฤติกรรมการสูบบุหรี่ของคนไทย กลุ่มอายุ และรุ่นไหน สูบบุหรี่มากที่สุด

30 ส.ค. 2566 | 07:19 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ส.ค. 2566 | 07:19 น.

พฤติกรรมการสูบบุหรี่ของคนไทย กลุ่มอายุ และรุ่นไหน สูบบุหรี่มากที่สุด : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.สวรัย บุณยมานนท์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,918 หน้า 5 วันที่ 31 สิงหาคม - 2 กันยายน 2566

หากมองย้อนกลับ ไปในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา เป็นที่น่ายินดีว่า ประชากรไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป มีอัตราการสูบบุหรี่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และดื่มสุรา ระหว่างปี 2544-2560 และสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร ปี 2564 ชี้ให้เห็นว่า อัตราการสูบบุหรี่ของประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ลดลงจากเดิม คือประมาณร้อยละ 25 หรือคิดเป็น 1 ใน 4 เหลือร้อยละ 17 หรือ 1 ใน 6 ของประชากรเท่านั้น ซึ่งหากคิดเป็นจำนวนผู้สูบบุหรี่แล้ว ระหว่างปี 2544-2564 ผู้สูบบุหรี่ในประเทศไทยมีจำนวนลดลงจาก 12 ล้านคน เป็น 9 ล้านคน

แม้ว่าในปัจจุบัน ประเทศ ไทยต้องเผชิญกับความท้าทายที่เกิดจากการเข้ามาของบุหรี่ไฟฟ้า โดยในปี 2564 มีประชากรไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้ากว่า 78,000 คน โดยกว่า 1 ใน 3 เป็นเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 15-24 ปีเท่านั้น

 

 

แต่ยังคงกล่าวได้ว่า ความสำเร็จในการลดอัตราการสูบบุหรี่ของคนไทย ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายเพื่อลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ รวมถึงการป้องกันผู้สูบบุหรี่รายใหม่ ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน โดยมีมาตรการทางกฎหมาย ผ่านนโยบายควบคุมการบริโภคยาสูบตั้งแต่ปี 2517 

นโยบายการควบคุมยาสูบของประเทศไทยที่สำคัญ สามารถสรุปได้เป็น 3 แนวทาง ดังนี้

• การขึ้นภาษีสรรพสามิต และการห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทต่างๆ 

• การสร้างความตระหนักถึงพิษภัยบุหรี่ จากคำเตือน ภาพ และข้อความหน้าซองบุหรี่ 

 

• การจำกัดเขตพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่ เช่น ล็อบบี้โรงแรม ผับ บาร์ ตลาด โรงพยาบาล โรงแรม หอพัก อะพาร์ตเมนต์ บริเวณโถงพักคอย บริเวณทางเดินทั้งหมดในอาคาร 

 

 

พฤติกรรมการสูบบุหรี่ของคนไทย กลุ่มอายุ และรุ่นไหน สูบบุหรี่มากที่สุด

 

 

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยในต่างประเทศจำนวนมากชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงอัตราการสูบบุหรี่ของประชากรในแต่ละประเทศนั้น เกิดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุของประชากร ผ่านผลของการแก่ตัว (age effect) และผลของรุ่นอายุ (cohort effect) 

ผลการแก่ตัว เช่น การเพิ่มขึ้นของประชากรที่มีอายุน้อย ที่มักจะยังไม่สูบบุหรี่ หรือการลดลงของผู้สูงอายุจากการเสียชีวิต ซึ่งเป็น กลุ่มที่สูบบุหรี่มากกว่ากลุ่มอื่นๆ การเปลี่ยนแปลงในลักษณะดังกล่าว เป็นผลของการแก่ตัว ที่เกิดกับคนทุกรุ่น เมื่อมีอายุมากขึ้น 

ส่วนผลของรุ่นอายุ เช่น ผลของนโยบาย มาตรการ หรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่คนรุ่นนั้นๆ ประสบพบเจอ และจะติดตัวไปตามรุ่นอายุ ส่งผลต่อพฤติกรรมของคนเหล่านั้น ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้ โดยไม่เกี่ยวกับการแก่ตัว 

งานวิจัยของปภัศร ชัยวัฒน์ และผู้เขียน จึงต้องการศึกษาการเปลี่ยนแปลงอัตราการสูบบุหรี่ของประชากรไทย โดยจำแนกตามกลุ่มอายุ (age group) และรุ่นอายุ (age cohort) ของประชากรเป็นสำคัญ ผลการศึกษาที่น่าสนใจ มีดังนี้

การสูบบุหรี่ของประชากรในแต่ละกลุ่มอายุ

เมื่อจำแนกประชากรออกเป็น 5 กลุ่มตามอายุ พบว่า ประชากรที่มีอัตราการสูบบุหรี่สูงที่สุดในปัจจุบัน คือกลุ่มที่มีอายุ 25-44 ปี (ร้อยละ 21) รองลงมาคือ กลุ่มที่มีอายุ 45-59 ปี (ร้อยละ 20) กลุ่มที่มีอายุ 20-24 ปี (ร้อยละ 18) และกลุ่มประชากรสูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป (ร้อยละ 13) ส่วนกลุ่มที่มีอัตราการสูบบุหรี่ตํ่าที่สุด คือกลุ่มประชากรวัยรุ่นที่มีอายุ 15-19 ปี (ร้อยละ 6)

แต่หากพิจารณาถึงจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสูบบุหรี่ในแต่ละกลุ่มอายุ กลับพบว่า ประชากรสูงอายุมีการลดการสูบบุหรี่ลงมากที่สุด คือลดลงจากร้อยละ 30 ในปี 2544 เหลือร้อยละ 21 ในปี 2564

ในทางตรงกันข้าม ประชากรที่มีอายุ 15-19 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของนโยบายภาครัฐในการควบคุมการบริโภคยาสูบ และป้องกันนักสูบหน้าใหม่นั้น แม้ว่าอัตราการสูบบุหรี่จะลดน้อยลงในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แต่อัตราการลดลงนั้น กลับน้อยกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ อย่างชัดเจน คือลดจากร้อยละ 8 เหลือร้อยละ 6 เท่านั้น

การสูบบุหรี่ของประชากรในแต่ละรุ่นอายุ 

สำหรับการแบ่งประชากรตามรุ่นอายุ จะพิจารณาจากปีเกิดเป็นหลัก โดยหากเรียงลำดับรุ่นประชากรที่มีอัตราการสูบบุหรี่จากมากไปน้อย จะได้แก่ รุ่น Gen Y ที่เกิดปี 2521-2535 (ร้อยละ 21) รุ่น Gen X ที่เกิดปี 2506-2520 (ร้อยละ 20) รุ่น Traditional Behavior ที่เกิดปี 2489-2505 (ร้อยละ 16) รุ่น Younger Y ที่เกิดปี 2ไ536-2550 (ร้อยละ 13) และรุ่น Old Schooler ที่เกิดก่อนปี 2489 (ร้อยละ 8) 

ทั้งนี้ ประชากรรุ่น Old Schooler มีอัตราการสูบบุหรี่ลดลงมากที่สุด คือลดลงเกือบ 3 เท่า จากร้อยละ 24 เหลือเพียงร้อยละ 8 ในขณะที่พฤติกรรมของประชากรรุ่น Gen Y และ Younger Y กลับมีการสูบบุหรี่ในอัตราที่เพิ่มขึ้น ระหว่างปี 2544-2564 คือเพิ่มจากร้อยละ 15 เป็นร้อยละ 21 และเพิ่มจาก ร้อยละ 9 เป็นร้อยละ 13 ตามลำดับ

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ในกลุ่มประชากรวัยรุ่น และวัยเริ่มทำงานที่สูบบุหรี่ มีสัดส่วนการสังเกตเห็นคำเตือนหน้าซองบุหรี่เพิ่มมากขึ้น แต่ในกลุ่มประชากรที่เป็นวัยกลางคน หรือเป็นผู้สูงอายุที่สูบบุหรี่ กลับพบเห็นคำเตือนหน้าซองบุหรี่ลดลง ชี้ให้เห็นว่า นโยบายคำเตือนหน้าซองบุหรี่ที่ใช้มาอย่างยาวนาน แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงรูปภาพ ขยายขนาด รวมถึงใส่เบอร์โทรศัพท์สายด่วนเพื่อเลิกบุหรี่

นโยบายเหล่านี้จำกัดเฉพาะบุหรี่ที่ผลิตในประเทศ ไม่ครอบคลุมบุหรี่ลักลอบ หรือบุหรี่แยกขาย และอาจส่งผลให้ผู้สูบบุหรี่เกิดความชินชากับคำเตือนหน้าซองบุหรี่ก็เป็นได้ 

นอกจากนี้ แม้ภาครัฐจะมีนโยบายห้ามโฆษณาการจำหน่ายบุหรี่ในสื่อโฆษณาประเภทต่างๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ ป้ายโฆษณา โรงภาพยนต์ และ หนังสือพิมพ์ แต่สัดส่วนการพบเห็นโฆษณาบุหรี่ตามสื่อต่างๆ ของผู้สูบบุหรี่ในทุกกลุ่มอายุและรุ่นอายุกลับเพิ่มสูงขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า นโยบายดังกล่าวไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ในการรับมือกับกลยุทธ์ต่างๆ ของอุตสาหกรรมยาสูบได้อย่างทันท่วงทีนั่นเอง

ดังนั้น ภาครัฐจึงควรให้ความสำคัญกับนโยบายควบคุมสื่อและสถานที่ที่มักมีการสูบบุหรี่ โดยมิใช่การห้ามโฆษณาเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นการสร้างความตระหนัก หรือการรับรู้พิษภัยของบุหรี่ ที่มีต่อสุขภาพของผู้สูบเอง รวมถึงบุคคลรอบข้าง โดยมีข้อความและรูปแบบในการสื่อสารที่แตกต่างกันออกไปตามกลุ่มอายุ รุ่นอายุ และ เพศ

โดยมุ่งเน้นการสร้างภูมิคุ้มกันการสูบบุหรี่ตั้งแต่วัยเยาว์ (ตั้งแต่อายุประมาณ 15-18 ปี) เพราะจะส่งผลต่อเนื่องไปยังเมื่อพวกเขาเหล่านั้นเติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างมีนัยสำคัญ

ข้อค้นพบที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ พฤติกรรมการสูบบุหรี่นั้น มักเกิดควบคู่กับพฤติกรรมการดื่มสุรา การวางนโยบายควบคุมยาสูบ และเครื่องดื่มมึนเมา จึงควรเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ผ่านการส่งเสริมให้มีการเลิกพฤติกรรมเสี่ยงแบบคู่ขนาน เช่น การสร้างความตระหนักถึงอันตรายต่อสุขภาพแบบคูณทวี ที่เกิดจากการเสพสิ่งเสพติดทั้งสองประเภทพร้อมกัน หรืออันตรายต่อรูปลักษณ์ภายนอกของผู้เสพสิ่งเสพติดนั่นเอง 

เอกสารอ้างอิง

สวรัย บุณยมานนท์ และ ปภัศร ชัยวัฒน์ (2566) โครงการย่อย “การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงอัตราการสูบบุหรี่ของประชากรไทย ตามกลุ่มอายุ และรุ่นอายุ” ในโครงการวิจัย “พลวัตของการบริโภคยาสูบ: เหลียวหลัง แลหน้า การควบคุมยาสูบของประเทศไทย” สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)