ต่อเนื่องจาก เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ 29 มีนาคม 2566 เรื่องยุทธศาสตร์การทำธุรกิจการค้าและการลงทุนของประเทศ ไทยในกลุ่มประเทศแถบภูมิภาคทะเลแดง (ตอนที่ 1) ที่ได้ศึกษาอุตสาหกรรมที่น่าลงทุนในภูมิภาคทะเลแดง (ประกอบด้วย ประเทศซาอุดีอาระเบีย เยเมน อียิปต์ ซูดาน เอริเทรีย และจิบูตี) รายการสินค้าเป้าหมายที่มีศักยภาพสูงในการส่งออกและการลงทุน สินค้าที่มีศักยภาพในการจัดจำหน่ายในตลาดกลางออนไลน์การเงิน และการลงทุนในกลุ่มธุรกิจ Healthcare
อีกมิติทางด้านเศรษฐกิจที่มีส่วนในการสร้างบรรยากาศ เพื่อให้เกิดการค้าและการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ นั่นคือ กฎหมาย และ ระบบการเงิน
กฎหมายนับเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการเลือกประเทศเพื่อเข้าไปลงทุน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่เป็นตลาดใหม่ซึ่งระบบกฎหมายยังมีความไม่แน่นอน และยังไม่เปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศอย่างเต็มที่ งานวิจัยได้ศึกษา วิเคราะห์ และวิจัยกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ของแต่ละประเทศ โดยสร้างเป็นดัชนีชี้วัด 5 ด้าน ได้แก่
1) ความยากง่ายในการเริ่มต้นธุรกิจ ประเทศที่ได้คะแนนมากที่สุด คือ ประเทศเอริเทรีย เนื่องจากไม่มีการกำหนดข้อห้ามหรือข้อจำกัดการลงทุนของคนต่างด้าว และมีเงื่อนไขที่กำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรธุรกิจน้อย ประเทศที่ได้คะแนนน้อยที่สุดคือซูดาน
2) การเข้าถึงแหล่งสินเชื่อ พิจารณาจากความยากง่ายในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่างประเทศ ข้อจำกัดการส่งออกเงิน และการเปิดบัญชีธนาคาร ประเทศที่ได้คะแนนสูงสุด คือ อียิปต์ได้ และน้อยสุด คือ เอริเทรีย
3) ภาษีประเภทต่างๆ ประเทศที่ได้คะแนนมากที่สุด คือ เยเมน เนื่องจากมีการกำหนดภาระภาษีโดยรวมน้อยที่สุด ในขณะที่ซูดานได้คะแนนน้อยที่สุด
4) การทำการค้ากับต่างประเทศ อียิปต์มีข้อตกลงด้านการค้าการลงทุนในทุกกลุ่มมากที่สุด รวมถึงมีข้อตกลงการลงทุนกับประเทศไทย จึงได้คะแนนรวมมากที่สุด ในขณะที่เอริเทรียมีการทำข้อตกลงการค้าและการลงทุนกับต่างประเทศน้อยที่สุด
5) การจ้างงาน กฎหมายและกฎระเบียบที่กำหนดอาชีพต้องห้ามสำหรับคนต่างชาติ ค่าแรงขั้นตํ่า และสิทธิหยุดงานผ่านสหภาพแรงงาน ประเทศจิบูตีได้คะแนนรวมมากที่สุด ในขณะที่ประเทศอียิปต์ได้คะแนนรวมน้อยที่สุด
เมื่อรวมคะแนนทุกหมวดเข้าด้วยกัน พบว่า ประเทศที่มีความน่าสนใจเข้าลงทุนมากที่สุด คือ ประเทศอียิปต์ ในขณะที่ประเทศซูดานมีความน่าสนใจเข้าลงทุนน้อยที่สุด
อย่างไรก็ดี บางครั้งอุปสรรคอาจเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายในทางปฏิบัติมากกว่าความแตกต่างทางกฎหมายที่ปรากฏในเอกสาร
สุดท้ายทางด้านมิติเศรษฐกิจ ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินเพื่อการค้า (Trade Finance) ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย สามารถขยายการค้าการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศในแถบภูมิภาคทะเลแดง
งานวิจัยศึกษาระบบการเงิน ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินเพื่อการค้ารวมทั้งกฎระเบียบทางการเงินของกลุ่มประเทศทะเลแดงพลัสจำนวน 8 ประเทศ ได้แก่ กลุ่มประเทศทะเลแดง บวกสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ ตุรกี โดยสามารถแบ่งเป็น 3 กลุ่มประเทศดังนี้
กลุ่มที่ 1 ได้แก่ ประเทศซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นกลุ่มประเทศที่มีระบบการเงินที่พัฒนาแล้ว กล่าวคือ มีสถาบันการเงินขนาดใหญ่ สามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ การกำกับดูแลสถาบันการเงินทำโดยธนาคารกลางโดยใช้หลักเกณฑ์ตามมาตรฐานสากล
มีผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน เพื่อการค้าที่หลากหลาย ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินเพื่อการค้า (Trade Finance) ที่เหมาะสม ได้แก่ (1) ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินเพื่อการชำระเงิน และ (2) ผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อการส่งออก
กลุ่มที่ 2 ได้แก่ ประเทศอียิปต์ ตุรกี และ จิบูตี เป็น กลุ่มประเทศที่มีระบบการเงินที่พัฒนาแล้วเหมือนกลุ่มที่ 1 แต่มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน และการนำส่งกำไรกลับประเทศ และอาจมีความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางการเมืองด้วย
ดังนั้น ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่เหมาะสมนอกเหนือจากสองผลิตภัณฑ์ข้างต้น คือ (3) ผลิตภัณฑ์และการบริการทางการเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (4) กรมธรรม์ประกันการส่งออกเพื่อชดเชยค่าเสียหายให้แก่ผู้ส่งออก
กลุ่มที่ 3 ได้แก่ ซูดาน เอริเทรีย และ เยเมน เป็นประเทศที่มีระบบการเงินขนาดเล็กและยังอยู่ระหว่างการพัฒนา จำนวนสถาบันการเงินไม่มากนัก โดยส่วนใหญ่เป็นสถาบันการเงินของรัฐหรือองค์กรการเงินฐานราก
นอกจากนี้ ประเทศเหล่านี้มักมีข้อจำกัดในการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ รวมทั้งมักมีปัญหาตลาดมืดในการแลกเปลี่ยนเงิน ประเทศในกลุ่มนี้ไม่มี Correspondent Bank กับสถาบันการเงินของไทย ทำให้การทำธุรกรรมขาดความสะดวก
ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินเพื่อการค้า (Trade Finance) ที่เหมาะสม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินเพื่อการชำระเงินโดยอาจเลือกใช้ สถาบันการเงินของไทยที่มีพันธมิตรกับสถาบันการเงินในต่างประเทศที่ เป็น Correspondent Bank กับสถาบันการเงินในประเทศคู่ค้า (ถ้ามี)
แต่ในบางกรณีผู้ขายอาจต้องแบกรับความเสี่ยงโดยตรงจากการส่งสินค้าไปก่อน อีกทั้งยังมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนหรือความยุ่งยากในการแลกเปลี่ยนเงินตรา หากผู้ซื้อชำระเป็นสกุลเงินท้องถิ่น
ดังนั้น จึงควรเลือกใช้ในกรณีที่ผู้ซื้อและผู้ขายมีความมั่นใจในความสามารถในการชำระค่าสินค้าและมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระเงินตํ่า
นอกเหนือจากมิติทางด้านเศรษฐกิจแล้ว มิติทางด้านสังคม การเมือง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็เป็นประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่ง จากการที่ภูมิภาคแถบทะเลแดงกลับมาส่งสัญญานแนวโน้มการเติบโตของโอกาสทางการค้าและการลงทุนอีกครั้งในปัจจุบัน
ทำให้ความสำคัญด้านภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) และการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจ (economic competition) ในภูมิภาคทวีความเข้มข้นขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยลักษณะเด่นด้านภูมิศาสตร์ของพื้นที่ ซึ่งเป็นเส้นแบ่งและจุดเชื่อมต่อระหว่างสองทวีปคือ เอเชีย และ แอฟริกา
ส่งผลให้ภายหลังการค้นพบทรัพยากรนํ้ามันในตะวันออกกลาง สถานะทางภูมิรัฐศาสตร์ของภูมิภาคแถบทะเลแดง ถูกยกระดับขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ จากการที่ทะเลแดงถูกใช้เป็นเส้นทางขนส่งหลักจากอ่าวเปอร์เซียทางตอนใต้สุดของทะเลแดงไปสู่คลองสุเอซทางตอนเหนือของทะเลแดง ซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญไปสู่ทะเลเดิเตอร์เนียนเพื่อขนส่งนํ้ามันสู่ทวีปยุโรปและอเมริกา
ด้วยสถานะสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ดังกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นถึงจุดร่วมของผลประโยชน์นานาชาติที่ประเทศต่าง ๆ ต้องปกป้องร่วมกัน ส่งผลให้ภูมิภาคนี้ประสบกับทั้งความร่วมมือและความขัดแย้ง
รวมถึงความรุนแรงที่ส่งผลต่อพลวัติความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในภูมิภาค และของโลกในภาพรวม อาทิ การปะทะกันของแนวคิดอาหรับ อิสลาม กับชาติตะวันตก ซึ่งเป็นผลมาจากยุคการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก
นับเป็นหนึ่งในเหตุผลของการเกิดกลุ่มนิยมความรุนแรงสุดโต่งทางศาสนา ความขัดแย้งระหว่างอาหรับ-ยิว ที่ส่งผลต่อเนื่องมาสู่ปัญหาระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ในปัจจุบัน
รวมถึงความขัดแย้งกันเองภายในภูมิภาคเกี่ยวกับประเด็นศาสนาต่างนิกายระหว่างซุนนี่-ชีอะห์ ปมปัญหาทางประวัติศาสตร์เหล่านี้มีภูมิภาคทะเลแดงเป็นจุดยุทธศาสตร์หนึ่งที่สำคัญในการแผ่อิทธิพลหรือเข้ายึดครองเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบเหนือคู่ขัดแย้ง
งานวิจัยได้ให้ข้อสรุปดังนี้ 1) ความแน่นแฟ้นในความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนชนชาติอาหรับ ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ในกลุ่มประเทศแถบทะเลแดง เป็นผลดีต่อหลายกิจกรรมระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในภูมิภาค อาทิ ความร่วมมือภาคประชาสังคม การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การค้าชายแดน และการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศอาหรับด้วยกัน
นอกจากนี้ ศาสนาอิสลามนิกายซุนนี่ และแนวคิดทางการเมืองแบบคงสถานะเดิม ยังนับเป็นกลไกสำคัญของการรวมกลุ่มทางการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาค เอื้อให้เกิดการจับกลุ่มประเทศที่เป็นมิตรกันเป็นหนึ่งขั้วอำนาจ คือ ขั้วอำนาจซึ่งนำโดย ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ ซูดาน เอริเทรีย และ จีบูติ ทำให้การรวมตัวกันระดับรัฐในภูมิภาคทะเลแดงมีแนวโน้มเข้มแข็งและมีเสถียรภาพยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นผลเชิงบวกในการติดต่อธุรกิจ การทำการค้าและการลงทุนในภูมิภาคทะเลแดง
นอกจากนี้ ประเทศเหล่านี้ยังมีมุมมองต่อประเทศไทย ในเชิงบวก ตั้งแต่ระดับประชาชนในภูมิภาคที่มีความรู้สึกดีกับคนไทยและสินค้าของไทย จึงเป็นโอกาสของประเทศไทยในเรื่องการค้าการลงทุน การส่งออก และการบริการ ในความสัมพันธ์ระดับประเทศ ประเทศไทยมีระดับความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกประเทศในกลุ่มทะเลแดง
2) ความร่วมมือทางการเมืองและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศทะเลแดงกำลังเกิดขึ้นอย่างเข้มข้นขึ้น โดยไม่มีผู้นำของภูมิภาคที่ชัดเจน แม้ประเทศซาอุดีอาระเบีย และ อียิปต์ จะเป็นประเทศอำนาจนำ แต่ก็ไม่ได้มีสถานะอำนาจนำเบ็ดเสร็จในภูมิภาค
นอกจากนี้ การทับซ้อนของผลประโยชน์ของประเทศอำนาจนำในภูมิภาค อาทิ ตุรกี ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน อิสราเอล และ อียิปต์ และการแข่งขันทางยุทธศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจภายนอกภูมิภาค เช่น จีน สหรัฐฯ และรัสเซีย รวมถึงประเทศยุโรป ส่งผลให้ภูมิภาคทะเลแดงมีพลวัตทางเศรษฐกิจ การเมือง ความมั่นคง และยุทธศาสตร์ที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างประเทศอำนาจนำในภูมิภาคและประเทศมหาอำนาจ อาจนำไปสู่ความขัดแย้ง หรือความร่วมมือในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งจะส่งผลต่อเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาคได้
เมื่อพิจารณาถึงโอกาสของประเทศไทยในภูมิภาคนี้ พบว่ายังเปิดกว้างจากความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน ระหว่างประเทศไทย และ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ในปัจจุบันจะสร้างโอกาสทางด้านการค้าการลงทุนให้ไทยเป็นอย่างมาก
โดยซาอุดีอาระเบียจะเป็นประเทศที่มีความสำคัญในการเป็นสะพานเชื่อมไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคทะเลแดง
นอกจากนี้ ไทยยังมีประเทศจีน เป็นอีกหนึ่งสะพานเชื่อมไปสู่การขยายการค้าการลงทุนไปยังฝั่งแอฟริกาเหนือด้วย
งานวิจัยทั้งหมดดำเนินการภายใต้แผนงานวิจัยยุทธศาสตร์การทำธุรกิจการค้าและการลงทุนของประเทศไทยในแถบภูมิภาคทะเลแดง (Red Sea Plus) ด้วยการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และท่านที่สนใจข้อมูลโดยละเอียดสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์นโยบายโลกมุสลิม (CMP) คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร. : 0-2218-6229