ความยั่งยืนขององค์กรกับความยั่งยืนของสังคม

19 ต.ค. 2566 | 08:27 น.
อัพเดตล่าสุด :19 ต.ค. 2566 | 08:27 น.

ความยั่งยืนขององค์กรกับความยั่งยืนของสังคม : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย รศ.ดร.วรประภา นาควัชระ ผู้ช่วยอธิการบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,932 หน้า 5 วันที่ 19 - 21 ตุลาคม 2566

ช่วงหลังๆ นี้ผู้เขียนมีความสนใจในเรื่องของความยั่งยืนมากขึ้น ด้วยภาระหน้าที่ความรับผิดชอบด้านพันธกิจสากลของมหาวิทยาลัย ทำให้ได้เดินทางไปร่วมประชุมระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น APRU (Association of Pacific Rim Universities), AUN (ASEAN University Network), THE (Times Higher Education) World Academic Summit, Sydney Summit และอื่นๆ

เรื่องของพันธกิจด้านความยั่งยืนเป็นเรื่อง ที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงในทุกๆ ที่ที่ได้ไป โดยแต่ละมหาวิทยาลัยก็ได้พยายาม Showcase ว่าตัวเองได้ทำอะไรไปแล้วบ้างและได้พยายามชักชวนมหาวิทยาลัยอื่นๆ เข้ามาร่วมในกิจกรรมต่างๆ ที่องค์กรของตัวเองทำอยู่ เพื่อที่จะได้ขยายผลออกไปมากขึ้น รวมถึงมีความพยายามในการริเริ่มกิจกรรมใหม่ๆ ร่วมกัน เพื่อที่จะช่วยสร้าง impact ในเรื่องนี้ได้ในระดับสากล

 

 

หันกลับมามององค์กรภาคเอกชน หลายองค์กรหลายธุรกิจก็หันมาสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทั้งตลาดหลักทรัพย์ก็ได้มีการจัดตั้งส่วนงานที่ดูแลเรื่อง และให้ความรู้เรื่องนี้โดยเฉพาะ

บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งก็ได้สมัครใจรายงานข้อมูล ESG (Environment, Social, and Governance) นักลงทุนก็เริ่มให้ความสนใจนำข้อมูล ESG มาประกอบการตัดสินใจลงทุน (ESG Investing)

 

อย่างไรก็ดี อาจมีคำถามว่า การที่บริษัทพยายามผลักดันด้าน ESG ให้ดี (ซึ่งแน่นอนว่ามี Cost ที่เพิ่มขึ้น) สุดท้ายแล้วจะทำให้เห็นผลที่ประจักษ์ ในด้านผลประกอบการ มูลค่าบริษัท รวมถึงต้นทุนทางการเงินได้จริงไหม วันนี้จะนำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้ มาคุยกันค่ะ

สำหรับงานวิจัยที่ใช้ข้อมูลของประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Countries) ส่วนใหญ่ให้ผลยืนยันว่า ผลประกอบการด้าน ESG ที่ดีจะมีผลทางด้านบวกกับบริษัท โดย Fatemi et al. (2018) ได้ศึกษาบริษัทจดทะเบียนใน ประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วพบว่า การมีปัจจัย ESG ที่ดีส่งผลทางบวกต่อ Firm Value

ส่วน Ahmad et al. (2021) ได้ศึกษา บริษัทจดทะเบียนในประเทศสหราชอาณาจักร แล้วพบเช่นกันว่า การมีปัจจัย ESG ที่ดี ทำให้บริษัทมี Financial Performance ที่ดีขึ้น

โดยดูจาก Firm Market Value และ Earnings per Share สำหรับ Yoon et al. (2018) ได้ศึกษาบริษัทในเกาหลีใต้ ก็พบผลลัพธ์ที่ใกล้เคียง และพบเพิ่มเติมว่าคะแนนด้าน Governance (G) มีผลกับ Firm Value ของบริษัท ในกลุ่ม Chaebols เท่านั้น

ส่วนในด้านต้นทุนทางการเงินนั้น Takahashi & Shino (2023) พบว่าธนาคารในประเทศญี่ปุ่นเริ่มที่จะลดการปล่อยกู้ ให้กับสำหรับบริษัทที่ ปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) ออกมาในปริมาณมาก

สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันก็มีงานวิจัยประเภทนี้อยู่บ้าง (โดยงานวิจัยล่าสุดเหล่านี้เป็นผลงานของนิสิตนักศึกษาที่ได้รางวัล SET Research Scholarship 2023) สำหรับงานชิ้นแรก Sook-aram (2023) พบว่า การเปิดเผยข้อมูล ESG ทำให้บริษัทมีผลประกอบการด้านการเงิน (Tobin’s Q และ ROA) ดีขึ้น รวมถึงมีต้นทุนเฉลี่ยของกิจการ (WACC) ที่ตํ่าลง

นอกจากนี้ งานวิจัยของ Setsaengsri (2023) ได้ใช้ข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ใน ASEAN เช่น Indonesia, Malaysia, Philippines, Singapore, Vietnam พบว่า การที่บริษัทมีคะแนน ESG ที่ดีส่งผลให้มีต้นทุนทางการเงินตํ่าลง (Interest Expense)

แต่อย่างไรก็ดี มีงานวิจัยอีกชิ้นที่เลือกพิจารณาธุรกิจครอบครัวในเมืองไทย Sritanee (2023) พบว่า โดยภาพรวมแล้วธุรกิจครอบครัวมีค่าคะแนน ESG ที่ตํ่ากว่าบริษัทประเภทอื่นๆ นอกจากนี้ ธุรกิจครอบครัวมีค่าคะแนน ESG ที่สูงจะมีผลประกอบการทางการเงิน (Tobin’s Q) ที่แย่ลง

ความยั่งยืนขององค์กรกับความยั่งยืนของสังคม

อย่างไรก็ดี แม้ผลงานวิจัยของบริษัทในประเทศไทย ไม่ได้ยืนยันผลเชิงบวกในทุกกรณี แต่การลงทุนในด้าน ESG ของบริษัท โดยคำนึงถึงความยั่งยืนในภาพรวมของสังคมและของประเทศ จะเกิดผลดีในระยะยาว แม้ว่าจะทำให้ Cost เพิ่มขึ้นในช่วงแรก

การที่คนในสังคมหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนจะช่วย Shift ความต้องการภาพรวมมาที่สินค้าบริการที่ให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ รวมถึงการลงทุนในอนาคต สุดท้ายแล้วบริษัทที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนแบบจริงใจก็น่าจะได้รับประโยชน์ 

 

References:

Fatemi, Ali, Martin Glaum, and Stefanie Kaiser. “ESG performance and firm value: The moderating role of disclosure.” Global finance journal 38 (2018): 45-64.

Ahmad, N., Mobarek, A., & Roni, N. N. (2021). Revisiting the impact of ESG on financial performance of FTSE350 UK firms: Static and dynamic panel data analysis. Cogent Business & Management, 8(1), 1900500

Yoon, B., Lee, J. H., & Byun, R. (2018). Does ESG performance enhance firm value? Evidence from Korea. Sustainability, 10(10), 3635.

Takahashi, K., & Shino, J. (2023). Greenhouse gas emissions and bank lending. Bank for International Settlements, Monetary and Economic Department.

Sook-aram, P. (2023). The impact of ESG report disclosure on the value of listed companies in the Stock Exchange of Thailand. 

Setsaengsri, T. (2023). Sustainability index and cost of debt: Evidence from ASEAN market.

Sritanee, N. (2023). How does ESG affect listed family firms’ performance?