สถานการณ์การทำงานของผู้สูงอายุไทย

05 มิ.ย. 2567 | 04:46 น.
อัปเดตล่าสุด :05 มิ.ย. 2567 | 04:46 น.

สถานการณ์การทำงานของผู้สูงอายุไทย : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ดร.สมทิพ วัฒนพงษ์วานิช คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,998 หน้า 5 วันที่ 6 - 8 มิถุนายน 2567

ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ท่านผู้อ่านคงเริ่มเห็นผู้สูง อายุทำงานตามสถานที่ ต่างๆ มากขึ้น ทั้งในร้านกาแฟ ร้านเฟอร์นิเจอร์ หรือร้านขายของ บทความนี้จึงจะนำเสนอข้อมูลให้ผู้อ่านทราบว่าปัจจุบันผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่ทำงานหรือไม่ และรัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมผู้สูงอายุอย่างไรบ้าง

สังคมสูงอายุมีผลกระทบกับตลาดแรงงานอย่างไร

จากข้อมูลการจดทะเบียนราษฎร กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่า ในปี พ.ศ. 2565 ประเทศไทยมีประชากรรวม 66.13 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นประชากรสูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 12.47 ล้านคน หรือคิดเป็น 18.86% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยได้เผชิญสถานการณ์สังคมสูงอายุ หรือ Aged Society (มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 10%) มาระยะหนึ่งแล้ว และกำลังจะเข้าสู่สังคมสููงอายุุอย่างสมบูรณ์ หรือ Complete-Aged Society (มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20%) ในอีกไม่ช้า 

 

โดยในปี พ.ศ. 2565 อัตราการเพิ่มของประชากรไทยติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่สองต่อจากปี พ.ศ. 2564 เนื่องจากประเทศไทยมีอัตราการตายมากกว่าอัตราการเกิด ซึ่งเป็นผลมาจากวิถีชีวิตของคนที่เปลี่ยนแปลงไป ต้องการอยู่เป็นโสดมากขึ้น มีบุตรน้อยลง ประกอบกับเมื่อมีประชากรวัยสูงอายุเพิ่มขึ้น อัตราการเสียชีวิตจึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งยังมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด- 19 เป็นปัจจัยเร่งอีกประการหนึ่ง (รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย, 2565)

จากประชากรไทยจำนวน 66.13 ล้านคนนั้น เป็นประชากรวัยแรงงาน (อายุ 15 ปีขึ้นไป) จำนวน 58.62 ล้านคน แต่มีประชากรที่อยู่ในกำลังแรงงาน (เข้าสู่ตลาดแรงงานจริง) จำนวน 39.90 เท่านั้น หรือเปรียบเทียบง่ายๆ ว่า ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่เป็นวัยแรงงาน 100 คน จะอยู่ในกำลังแรงงาน 68 คน โดยผู้ที่ไม่อยู่ในกำลังแรงงาน คือ คนที่เรียนหนังสือ ผู้สูงอายุ หรือทำงานบ้าน เป็นต้น 

 

โดยกำลังแรงงานประมาณ 40 ล้านคนนี้ หากแบ่งตามช่วงอายุ จะพบว่าเกือบหนึ่งในสี่ของกำลังแรงงานไทยมีอายุอยู่ในช่วง 40-49 ปี (23.41%) ตามมาด้วยช่วงอายุ 50-59 ปี (21.87%) และช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป (11.94%) ตามลำดับ 

จะเห็นได้ว่า แรงงานสามช่วงอายุนี้รวมกันคือกว่าครึ่งหนึ่ง (57.22%) ของกำลังแรงงานในปัจจุบัน ในขณะที่กำลังแรงงานอายุน้อยที่มีอายุอยู่ในช่วง 15-39 ปี มีอยู่เพียง 42.78% เท่านั้น โดยสัดส่วนแรงงานที่อายุ 60 ปีขึ้นไปก็กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเพียง 6% ในปี พ.ศ. 2545 เป็น 8.39% ในปี พ.ศ. 2555 และเป็น 11.94% ในปี พ.ศ. 2565 ในที่สุด (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2567)

ข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า กำลังแรงงานไทยมีแนวโน้มที่จะอายุมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากประชากรวัยเด็กที่ลดลง จนไม่สามารถเข้ามาแทนที่ผู้สูงอายุในตลาดแรงงานได้ ซึ่งในปี พ.ศ. 2564 ดัชนีการสูงอายุ (Ageing Index) ที่ใช้เปรียบเทียบการทดแทนกันของกลุ่มประชากรสูงอายุกับกลุ่มประชากรวัยเด็กของไทย มีค่าเท่ากับ 120.5 ซึ่งหมายความว่า ประเทศไทยมีประชากรสูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) จำนวน 120.5 คน ต่อประชากรวัยเด็ก (อายุตํ่ากว่า 15 ปี) จำนวน 100 คน 

 

สถานการณ์การทำงานของผู้สูงอายุไทย

 

โดยดัชนีการสูงอายุของไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 82.6 ในปี พ.ศ. 2557 เป็น 97 ในปี พ.ศ. 2560 จนกระทั่งมีค่าเกิน 100 ในปี พ.ศ. 2565 ซึ่งหมายถึงการมีจำนวนประชากรสูงอายุมากกว่าจำนวนประชากรวัยเด็กแล้วนั่นเอง (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2567)

นอกจากนั้น ประชากรวัยสูงอายุยังต้องพึ่งพิงทางเศรษฐกิจกับกลุ่มวัยแรงงานเพิ่มขึ้นอีกด้วย ในปี พ.ศ. 2564 อัตราส่วนการพึ่งพิงในวัยสูงอายุ (Old Age Dependency Ratio) ที่เปรียบเทียบประชากรสูงอายุที่อยู่ในกลุ่มนอกวัยแรงงาน ต่อประชากรในวัยแรงงานของประเทศไทยมีค่าเท่ากับ 30.5 ซึ่งหมายความว่า ประเทศไทยมีประชากรสูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) จำนวน 30.5 คน ต่อประชากรวัยแรงงาน (อายุ 15-59 ปี) จำนวน 100 คน 

โดยอัตราส่วนการพึ่งพิงในวัยสูงอายุ ก็ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน จาก 22.3 ในปี พ.ศ. 2557 และ 25.3 ในปี พ.ศ. 2560 (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2567) แสดงให้เห็นว่า ประชากรวัยทำงานมีแนวโน้มจะต้องเป็นที่พึ่งให้กับผู้สูงอายุมากขึ้น โดยเฉพาะด้านรายได้ เช่น ในกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่ได้ทำงานแล้ว หากไม่มีเงินออมหรือทรัพย์สินที่เพียงพอ ก็ย่อมต้องพึ่งแหล่งรายได้จากบุตรหลานที่อยู่ในวัยทำงาน เป็นต้น

แหล่งรายได้และการทำงานของผู้สูงอายุไทย

จากการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในปี พ.ศ. 2564 แหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุมาจากบุตรเป็นหลัก (รวมบุตรเลี้ยงและบุตรบุญธรรม) ที่ 32.18% 

อย่างไรก็ดี รายได้หลักจากลูกนี้มีแนวโน้มลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2545 ที่มีสัดส่วนสูงถึง 58.47% ในขณะที่แหล่งรายได้ของผู้สูงอายุที่มาจากเบี้ยยังชีพมีแนวโน้มสูงขึ้นเป็น 19.18% เมื่อเทียบกับเพียง 1.37% ในปี พ.ศ. 2545 

นอกเหนือจากแหล่งรายได้หลักสองแหล่ง คือ ครอบครัว ที่ได้รับจากบุตร และรัฐ ที่ได้รับจากเบี้ยยังชีพ ดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว แหล่งรายได้ที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่งจะมาจากตัวผู้สูงอายุเอง ซึ่งคือรายได้จากการทำงานของผู้สูงอายุ รวมทั้งเงินออมและทรัพย์สิน (รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย, 2565)

ในปี พ.ศ. 2565 ประเทศไทย มีประชากรสูงอายุจำนวน 12.47 ล้านคน หากแบ่งผู้สูงอายุตามช่วงอายุ จะพบว่า ผู้สูงอายุวัยต้นที่มีอายุ 60-69 ปี มีจำนวน 7 ล้านคน ผู้สูงอายุวัยกลางที่มีอายุ 70-79 ปี มีจำนวน 3.65 ล้านคน และผู้สูงอายุวัยปลายที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป มีจำนวน 1.82 ล้านคน (รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย, 2565) จากผู้สูงอายุทั้งหมด 

ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ คือ ผู้สูงอายุที่ไม่ได้ทำงาน (63.9%) โดยมีผู้สูงอายุที่ทำงานอยู่เพียง 36.1% เท่านั้น ซึ่งมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย จาก 38.9% ในปี พ.ศ. 2547 และหากพิจารณาตามช่วงอายุ จะพบว่า ผู้สูงอายุวัยต้น (อายุ 60-69 ปี) ที่เป็นช่วงวัยที่ยังค่อนข้างแข็งแรง และช่วยเหลือตนเองได้ มีสัดส่วนผู้ที่ทำงานอยู่มากกว่าครึ่ง คือสูงถึง 51.83% 

ทั้งนี้ สัดส่วนผู้สูงอายุชายที่ทำงานมีมากกว่าผู้สูงอายุหญิง ในทุกกลุ่มอายุ (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2567) อาชีพที่ผู้สูงอายุทำส่วนใหญ่ คือ การทำงานส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้าง หรือ เป็นผู้ช่วยธุรกิจในครัวเรือน ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในกลุ่มผู้สูงอายุที่ทำงานส่วนใหญ่ ประมาณ 86.4% ทำงานเป็นแรงงานนอกระบบ ที่อาจขาดระบบการคุ้มครองแรงงานตามกฎหมาย หรืออาจมีค่าตอบแทนที่ค่อนข้างตํ่าโดยเปรียบเทียบ (รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย, 2565)

นอกจากนี้ การพึ่งพารายได้จากเงินออมและทรัพย์สินของผู้สูงอายุไทยยังอยู่ในระดับตํ่า มีผู้สูงอายุไทยเพียง 54.3% เท่านั้นที่รายงานว่ามีเงินออมและในกลุ่มผู้มีเงินออม ส่วนใหญ่มีเงินออมน้อยกว่า 50,000 บาท (41.4%) โดยผู้สูงอายุที่มีเงินออมมากกว่า 400,000 บาท มีเพียง 11.9% เท่านั้น (รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย, 2565)

ข้อจำกัดด้านระดับการศึกษาของผู้สูงอายุ อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่อธิบายระดับรายได้และเงินออมที่ค่อนข้างตํ่าของผู้สูงอายุไทย แม้ว่าผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่สามารถอ่านออกเขียนได้ (88.22%) แต่ 74.33% ของผู้สูงอายุ มีการศึกษาระดับประถมศึกษา หรือตํ่ากว่าประถมศึกษา และมีผู้สูงอายุถึง 7.33% ที่ไม่ได้รับการศึกษาเลย

อย่างไรก็ดี ผู้สูงอายุไทยก็มีการปรับตัวในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือ อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น โดยกว่าครึ่งของผู้สูงอายุเป็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งสัดส่วนนี้ก้าวกระโดดขึ้นอย่างชัดเจน ภายหลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 

โดยในปี พ.ศ. 2562 หรือก่อนมีการแพร่ระบาด มีผู้สูงอายุที่ใช้อินเทอร์เน็ตเพียง 18.58% เท่านั้น และเพิ่มขึ้นเป็น 33.26% ในปี พ.ศ. 2563 จนกระทั่งเป็น 48.77% ในปี พ.ศ. 2564 (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2567) ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ที่ทำให้การติดต่อสื่อสารบนช่องทางออนไลน์บนโลกอินเทอร์เน็ตพัฒนาอย่างรวดเร็ว และแพร่หลายในกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้น

บทบาทของภาครัฐในการส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุไทย

สถานการณ์สังคมสูงอายุ ประกอบกับปัญหาด้านแหล่งรายได้และเงินออมของผู้สูงอายุ ทำให้รัฐบาลในหลายยุคหลายสมัยได้ให้ความสำคัญกับประเด็นผู้สูงอายุมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มต้นจากแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2525-2544) ที่เป็นแผนระดับชาติระยะยาวฉบับแรกที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแนวทางในการพัฒนาผู้สูงอายุไทย

ต่อมาคือ ปฏิญญาผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2542 ที่เป็นพันธกรณีเพื่อให้ผู้สูงอายุได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ์ด้านต่าง ๆ อีกทั้งยังกล่าวถึงการทำงานของผู้สูงอายุว่า ผู้สูงอายุควรมีโอกาสในการทำงานที่เหมาะสม กับวัยตามความสมัครใจ โดยได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม 

และแผนระยะยาวฉบับถัดมา คือ แผนผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545-2564) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้สังคมไทยตระหนักถึงผู้สูงอายุในฐานะบุคคลที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม และให้ผู้สูงอายุร่วมเป็นพลังในการพัฒนาสังคม (กระทรวงแรงงาน, 2567)

ประเทศไทยได้บัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุโดยตรงเช่นกันในพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 (ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2553) ซึ่งมีการสนับสนุนการทำงานของผู้สูงอายุในมาตรา 11 (3) ความว่า ผู้สูงอายุมีสิทธิได้รับการคุ้มครอง การส่งเสริมและการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ อันรวมถึงการประกอบอาชีพหรือฝึกอาชีพที่เหมาะสม  

นอกจากนี้ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุยังปรากฏอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545-2549) ที่ให้ความสำคัญกับสถานการณ์สังคมสูงวัย และการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือ แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) ที่เริ่มกล่าวถึงการส่งเสริมการจ้างงานในทุกช่วงวัย แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559)

และฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ที่เริ่มมีแนวคิดเรื่องการส่งเสริมการขยายอายุเกษียณ และขยายโอกาสของการมีงานทำในกลุ่มผู้สูงอายุที่ยังมีศักยภาพ มีการเพิ่มพูนความรู้และทักษะให้กับผู้สูงอายุ เป็นต้น 

แนวคิดเดียวกันนี้ก็ได้ถูกกล่าวถึงในแผนแม่บทด้านแรงงาน (พ.ศ. 2560-2564) และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) อีกด้วย เพื่อช่วยสร้างความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีให้แรงงาน พัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต ซึ่งรวมถึงผู้สูงอายุ ให้มีงานทำ มีรายได้ และได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย (กระทรวงแรงงาน, 2567)

ในที่สุด ก็เกิดการผลักดันให้สถานการณ์สังคมสูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ และในปี พ.ศ. 2561 มติคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการมาตรการขับเคลื่อนระเบียบวาระแห่งชาติ เรื่องสังคมสูงอายุในด้านต่าง ๆ ทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและคนทุกวัย ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีงานทำและมีรายได้ มีการกำหนดลักษณะงาน อาชีพ และระยะเวลาในการทำงานให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ เป็นต้น 

และยังมีการออกกฎหมายและนโยบายต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ เช่น ในพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 639) พ.ศ. 2560 ได้กำหนดให้บริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล มีสิทธินำรายจ่ายที่เป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มายกเว้นภาษีเงินได้ โดยสามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่า ซึ่งรายจ่ายที่จะได้รับการยกเว้นภาษีนั้นจะต้องเกิดจากรายจ่ายที่เป็นค่าจ้างผู้สูงอายุ ในจำนวนไม่เกินเดือนละ 15,000 บาทต่อคน และเฉพาะการจ้างผู้สูงอายุในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนลูกจ้างของบริษัทนั้น

และในประกาศกระทรวงแรงงาน วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2562 เรื่องขอความร่วมมือส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีงานทำ มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานภาคเอกชน 12 แห่ง กำหนดให้ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไปที่ไม่ได้ทำงานประจำ 

แต่ต้องการทำงานบางช่วงเวลา นายจ้าง ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้ผู้สูงอายุอย่างน้อยชั่วโมงละ 45 บาท โดยการจ้างงานผู้สูงอายุควรเป็นงานที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัย เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นบุคคลที่มีข้อจำกัดทางกายภาพและสุขภาพ จึงควรจัดเวลาทำงานให้มีความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับผู้สูงอายุมากที่สุด (กระทรวงแรงงาน, 2567) 

มีหน่วยงานของรัฐหลายแห่งที่มีส่วนร่วมคุ้มครอง ส่งเสริม และสนับสนุนผู้สูงอายุในการประกอบอาชีพ เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีสำนักงานจัดหางานในแต่ละพื้นที่ ที่จะต้องมีศูนย์ข้อมูลด้านอาชีพและตำแหน่งงานสำหรับผู้สูงอายุ มีเจ้าหน้าที่ในการให้คำปรึกษาแนะนำ มีบริการจัดหางาน จัดอบรมทักษะหรือฝึกอาชีพให้แก่ผู้สูงอายุตามความเหมาะสม เป็นต้น (กระทรวงแรงงาน, 2567)

จะเห็นได้ว่า นโยบาย กฎหมาย และมาตรการต่าง ๆ ทั้งหมดสนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้รับการคุ้มครอง ส่งเสริมโอกาสในการประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับศักยภาพและวัย สามารถมีงานทำได้ตามความสมัครใจ โดยได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจและเห็นชีวิตมีคุณค่าและผู้สูงอายุสามารถดำรงชีพได้อย่างยั่งยืนต่อไป

แหล่งข้อมูล กระทรวงแรงงาน. (2567). https://www.mol.go.th/academician/panmaebot รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย. (2565). https://thaitgri.org/?p=40208

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2567). https://www.nesdc.go.th/main.php?filename=social