เศรษฐกิจโลกพึ่งพาธรรมชาติอย่างมาก จากการประมาณการของ World Economic Forum พบว่า มูลค่าของภาคส่วนเศรษฐกิจที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในระดับปานกลาง ไปจนถึงระดับสูง รวมแล้วนับเป็นกว่าครึ่งของมูลค่าเศรษฐกิจโลก
อย่างไรก็ตาม กิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาส่งผลเสียต่อความหลากหลายของพันธุ์สัตว์ พันธุ์พืช สิ่งมีชีวิต และ ระบบนิเวศเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ทุนทางธรรมชาติ (natural capital) ต่อหัวประชากรลดลงร้อยละ 40 ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1992 – 2014 และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับทุน (capital) ประเภทอื่นที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงระยะเวลาเดียวกัน
การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ละเลยผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ ส่งผลให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ สร้างความเสี่ยงและความไม่แน่นอนให้แก่ระบบเศรษฐกิจโลก และส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา
การขาดแคลนเงินทุนสนับสนุนกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน เป็นปัจจัยสำคัญที่บั่นทอนทุนทางธรรมชาติ ซึ่งในกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework) ที่ภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ 196 ประเทศให้การรับรองเมื่อปลายปี พ.ศ. 2565 ได้กำหนดให้การแก้ปัญหาด้านการเงินเป็นหนึ่งในสี่เป้าประสงค์สำหรับปี ค.ศ. 2050
และมีการบรรจุประเด็นด้านการระดมเงินทุน เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพจากทุกภาคส่วนไว้เป็นหนึ่งใน 23 เป้าหมายที่ต้องการบรรลุภายในปี ค.ศ. 2030 ทั้งนี้ตัวเลขช่องว่างทางการเงินที่กรอบงานดังกล่าวอ้างอิง คือ 700 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี
เครื่องมือในการระดมเงินทุนเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพมีหลายชนิดทั้ง ตราสารหนี้ (bond) ตราสารทุน (equity) เครื่องมือทางการคลัง (fiscal measures) และ การใช้กลไกตลาด (market instrument)
ดังจะเห็นได้จากแคตตาล็อกกลไกการเงินที่ได้รวบรวมไว้ โดยโครงการไบโอฟิน (Biodiversity Finance Initiative : BIOFIN) ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ซึ่งเครื่องมือทั้งหมดมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน
โดยการระดมเงินทุนสามารถจำแนกออกได้เป็น 4 ประเภท คือ
(1) การเพิ่มรายรับ (generate revenues) ให้แก่กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ
(2) การปรับเปลี่ยนรายจ่าย (realign expenditures) โดยลดการสนับสนุนเงินทุนต่อสิ่งที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เช่น เงินอุดหนุนที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มเงินทุนให้แก่กิจกรรมที่เป็นไปเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ
(3) การปรับกิจกรรมด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูที่ทำอยู่ให้ได้ผลดียิ่งขึ้น (deliver better) โดยการเพิ่มประสิทธิผล ประสิทธิภาพ และความเชื่อมโยง และความร่วมมือระหว่างกิจกรรม และหน่วยงานต่าง ๆ
และ (4) การดำเนินกิจกรรมที่ช่วยลดรายจ่ายในอนาคต (avoid future expenditures) โดยการลงทุนในความหลากหลายทางชีวภาพและการปรับเปลี่ยนนโยบาย
ทั้งนี้ประเทศไทยได้เริ่มขับเคลื่อนกลไกการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านโครงการนำร่องของโครงการ BIOFIN ประเทศไทยในพื้นที่เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และได้เริ่มเตรียมการขับเคลื่อนกลไกการเงินเพิ่มเติมในหลากหลายมิติในปี พ.ศ. 2567
โดยเฉพาะด้านงบประมาณภาครัฐ ที่จะมุ่งสร้างศักยภาพให้แก่บุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ในการจัดทำงบประมาณท้องถิ่น แบบมุ่งเน้นผลลัพธ์เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ ด้านการจัดการป่าชายเลนอย่างยั่งยืนโดยวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดเพชรบุรี และ ด้านการขยายผลเกาะเต่าโมเดลในพื้นที่นำร่องอีก 3 แห่ง
นอกจากนี้แล้ว ประเทศไทยยังอยู่ระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ ฉบับที่ 5 ให้สอดคล้องกับกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออล โดยจะมีการบรรจุประเด็นด้านการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพไว้อย่างชัดเจน
จากการดำเนินงานด้านการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย จากความสำคัญของการปิดช่องว่างทางการเงินสำหรับทรัพยากรธรรมชาติในระดับโลก และจากการตื่นตัวของภาคการเงินในประเด็นการเงินเพื่อความยั่งยืน (green finance)
ทำให้การดำเนินงานด้านการลงทุน เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งทั้งในส่วนของประเทศไทยเองและในการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายในระดับโลก