*** ตลาดหุ้นไอพีโอที่ในช่วงปลายเดือนตุลาคม ไม่ต่างไปจาก “ขุมนรก” ที่ทำให้นักลงทุนที่ได้สิทธิ์ในการจองซื้อมีอันต้องมา “ติดหล่ม” หลังจากที่หุ้นแทบทุกตัวร่วงลงหนัก ...ไปจนถึงหนักมาก ตั้งแต่วันแรกที่เข้าตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาซื้อขายที่เปิดออกมาต่ำกว่าราคาจองซื้อ ตั้งแต่นาทีแรก ซึ่งก็ไม่ต่างไปจากการถูกมัดมือชก เพราะหนีไม่ได้นั่นเอง
*** เกมนี้เริ่มตั้งแต่ บมจ. วินโดว์ เอเชีย หรือ WINDOW ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นขาลงของตลาดหุ้นไอพีโอ ที่เริ่มการซื้อขายวันแรก ในวันที่ 25 ตุลาคม ด้วยราคาเปิดตลาดที่ 2.84 บาท เพิ่มขึ้น 0.74 บาท ปรับขึ้นไปถึง 35.24% ก่อนที่จะปิดการซื้อขายในวันแรกไปที่ 1.27 บาท ต่ำกว่าลงไปถึง -39.52% เมื่อเทียบกับราคาจองซื้อที่ 2.10 บาท โดยราคาเปิดตลาดกับราคาปิดตลาดมีระยะห่างกันมากถึง 1.57 บาท หมายความว่า ใครก็ตามที่เข้าซื้อหุ้นในราคาเปิด (ATO) แล้วยังไม่ขายก็จะต้องรอให้ราคาหุ้นของ WINDOW ปรับราคาขึ้นไปมากกว่า 120% เลยทีเดียว
*** ตามมาด้วย บมจ.มาร์เก็ต คอนเน็กชั่นส์ เอเชีย หรือ MCA ซึ่งถือว่าเป็นหุ้นตลาดวายตัวที่สอง ซึ่งเข้าตลาดในวันต่อมา (26 ต.ค.) ด้วยราคาเปิดตลาดอยู่ที่ 3.00 บาท ลดลง 0.30 บาท หรือ 9.09% จากราคาจองที่หุ้นละ 3.30 บาท ก่อนที่จะปิดเกมในวันแรกไปที่ 2.04 บาท ลดลง 1.26 บาท หรือ -38.18%
*** ตัวที่สามก็เป็น บมจ.อรสิริน โฮลดิ้ง หรือ ORN ซึ่งเข้าซื้อ-ขายในวันที่ 30 ตุลาคม เป็นวันแรก ด้วยราคาเปิดตลาดที่ 1.29 บาท ลดลง 0.20 บาท หรือ -13.42% จากราคาจองซื้อ IPO ที่ 1.49 บาท ก่อนที่จะปิดตลาดวันแรกไปที่ราคา 1.09 บาท ลดลง 0.40 บาท หรือ -26.85%
*** ก่อนที่จะปิดฉากตลาดหุ้นไอพีโอของเดือนตุลาคมปี 2566 ไปอย่างบอบช้ำด้วย บมจ.นำวิวัฒน์ เมดิคอล คอร์ปอเรชั่น หรือ NAM ที่เปิดการซื้อขายวันแรกไปด้วยราคา 7.40 บาท ปรับราคาลงไป 0.30 บาท หรือ -3.90% จากราคาจองซื้อที่ 7.70 บาท
อย่างไรก็ตาม การเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์จะเกิดขึ้นไม่ได้จากตัวของบริษัทที่เข้ามาระดมทุน แต่ฝ่ายเดียว เพราะนอกจากตัวของบริษัทที่เข้ามาระดมทุนแล้ว ยังจะต้องมีที่ปรึกษาทางการเงิน ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์ รวมไปถึงผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่าย
รวมไปถึงผู้จัดจำหน่ายร่วม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน มีบริษัทที่เข้ามาระดมทุนหลายแห่ง นิยมที่จะเรียกใช้บริการ MM (Market Maker) เพื่อสร้างราคาหุ้นให้กับตนเองอีกด้วย ดังนั้นการที่ราคาหุ้นหน้ากระดานร่วงลง ต่ำกว่าราคาจองซื้อ จึงจะโทษใครไม่ได้ว่าเป็นคนที่ทำให้ราคาหุ้นต่ำจอง
*** หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ให้รับคำฟ้องคดีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่มีมติการรวมธุรกิจระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ตามที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอุทธรณ์ เพราะเห็นว่าการฟ้องคดีนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เพราะบริการโทรคมนาคมเป็นบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน ที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และด้วยข้อจำกัดเกี่ยวกับปริมาณคลื่นความถี่ที่มีจำนวนจำกัด
อีกทั้งการลงทุนในการประกอบกิจการต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก กลายเป็นจุดที่ทำให้ราคาหุ้นของ TRUE ปรับร่วงลงไปจนหลุดราคา 6 บาท เนื่องจากนักลงทุกต่างก็หวั่นไหวว่า ท้ายที่สุด การควบรวมที่เกิดขึ้นไปแล้วของทั้ง TRUE และ DTAC อาจไม่ง่ายอย่างที่คิด แต่อย่างไรก็ตามเจ๊เมาธ์ก็ยังเห็นว่าเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว ยากที่จะดึงกลับมาแก้ไขได้ใหม่ อาจมีบ้างก็เพียงแค่เรื่องของการแก้ไขในรายละเอียดบ้างนิดหน่อยเท่านั้น ดังนั้นราคาหุ้นที่ 6 บาทกว่าๆ ที่เห็นนี้ก็ถือว่าน่าสนใจดีเหมือนกันค่ะ
*** ดูเหมือนว่า MPIC ของหนุ่มแร็ปเปอร์ชื่อดัง “ขันเงิน เนื้อนวล” แม้จะเปลี่ยนมาเป็น บมจ.ซาเล็คต้า หรือ ZAA แต่ราคาหุ้นที่เคยปรับขึ้นมาบ้าง หลังจากเปลี่ยนชื่อก็ยังถอยหลังลงมาเรื่อย ส่วนหนึ่งก็เพราะชื่อของ “ขันเงิน เนื้อนวล” ที่อยู่ดีๆ ก็กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ MPIC ในแบบที่ใครๆ ต่างก็พากันงงไปทั้งตลาด
ส่วนเรื่องที่สองก็น่าจะมาจากตอนที่ “ขันเงิน” เองที่ถือได้ว่าเป็นคนดังที่ถูกจับตามองว่าจะทำอะไรต่อไป ก็เอาเป็นว่า โมเดลเรื่องการเปลี่ยนชื่อหุ้นเพื่อหวังการเปลี่ยนสตอรี่ และดันราคาหุ้นที่เคยใช้ได้ผลมาแล้วกับหุ้นหลายตัว อาจจะใช้ไม่ได้ผลกับหุ้นตัวนี้ก็เป็นได้ แต่ของแบบนี้มันก็ว่ากันไม่ได้นะคะ ไม่แน่...นี่อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนของ ZAA ก็เป็นไปได้ เพียงแต่ถ้าจะให้ดีก็ต้องรอในตอนที่ราคาถูกกว่านี้ถึงจะดีที่สุด
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,936 วันที่ 2 - 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566