SCM ย่อยยับ...ส่งท้ายปี!!!

26 ธ.ค. 2567 | 23:00 น.

SCM ย่อยยับ...ส่งท้ายปี!!! : คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ โดย...เจ๊เมาธ์ ฐานเศรษฐกิจออนไลน์

*** ในที่สุด บมจ. ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ หรือ SCM ซึ่งตลอดช่วงเวลาไม่ต่ำกว่าครึ่งปีที่ผ่านมา เป็นบริษัทที่มีสัดส่วนในการนำเอาหุ้นไปวางเพื่อค้ำบัญชีมาร์จิ้นเป็นอันดับ 1 ในตลาดหุ้นไทย เป็นสัดส่วนที่มากกว่า 50% ของจำนวนหุ้นที่บริษัทได้จำหน่ายไปแล้ว ก็กลายเป็นบริษัทที่ต้องเผชิญกับปัญหาราคาหุ้นปรับร่วงลงติดต่อกันถึง 4 ฟลอร์ ซึ่งถ้าจะเรียกว่าเป็น “แจ็คพ๊อตแตก” ส่งท้ายปี 2567 ก็น่าจะพอพูดได้...

ว่าแต่ทำไม SCM ถึงได้มา “วงแตก” เอาในช่วงสุดท้ายปลายปีในแบบนี้!!!

อย่างแรก ก็อาจจะหนีไม่พ้นไปจากกรณีของ บล.แซดคอม (Z.com) ซึ่งได้ตัดสินใจยุติการให้บริการบัญชีมาร์จิ้นทั้งหมด ในวันที่ 20 ธันวาคม 2567 เพราะถึงแม้ว่า ในกรณีของ SCM อาจจะเกี่ยว หรือไม่ได้เกี่ยวพันโดยตรงกับทาง Z.com แต่การตัดสินใจยุติการให้บริการบัญชีมาร์จิ้นของ Z.com ก็ได้สร้างแรงกดดันให้กับบริษัทที่ทาง SCM ทำธุรกรรมอยู่ด้วย (เจ้าหนี้) 

เพราะอย่าได้ลืมว่า การที่ราคาหุ้นปรับร่วงลงติดต่อกันหลายฟลอร์แบบที่เพิ่งจะเกิดขึ้นกับ SCM เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมากับบริษัท ที่เอาหุ้นจำนวนมากไปวางค้ำบัญชีมาร์จิ้นมาแล้วหลายตัว ไม่ว่าจะเป็น SABUY YGG หรือ MORE

อย่างที่สอง เป็นเรื่องการดำเนินคดีกับเหล่า “บอส” ทั้งหลายของ “ดิไอคอนกรุ๊ป” หรือ The iCon Group บริษัทซึ่งอ้างตัวเองว่าทำ “ธุรกิจขายตรง” จนถูกขุดคุ้ย และกลายเป็นข่าวกระแสหลักที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีเหล่าคนดังและผู้เสียหาย เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเป็นจำนวนมาก 

และเมื่อมีกระแส “ลบ” แม้ศาลจะยังไม่มีคำตัดสินออกมา แต่ผลกระทบก็ได้ส่งไปถึงบริษัท ที่ดำเนินธุรกิจขายตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งแน่นอนว่า ทางฝั่งของ SCM ก็ย่อมได้รับผลกระเทือนตามมาด้วย เพราะเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า SCM คือ บริษัทที่ดำเนินธุรกิจขายตรงเป็นธุรกิจหลักของบริษัทรายแรกของตลาดหุ้นไทย 

อย่างที่สาม เป็นเรื่องของผลการดำเนินงานของตัว SCM ซึ่งพบว่าในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น รายได้ กำไร และ สัดส่วนในการทำกำไรของบริษัท มีการปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ขณะที่บริษัทเอง ก็ยังไม่มีนวัฒกรรมใหม่ทางธุรกิจเข้ามาเสริม...ซึ่งนั่นก็ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุน ที่มีต่อทิศทางการทำธุรกิจของบริษัทถูกปรับลดลง

ท้ายที่สุด เป็นเรื่องของรูปแบบ และวิธีการลงทุนของนักลงทุน ในตลาดหุ้นไทย ซึ่งขณะนี้เริ่มเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากการรับรู้และการเข้าถึงข้อมูลที่ทำได้ง่าย

ขณะเดียวกัน เรื่องของวิธีการในการเลือกลงทุนรวมไปถึงหุ้นที่เป็นตัวเลือกให้ลงทุน ก็มีจำนวนที่มากยิ่งขึ้น กรณีนี้ส่งผลทำให้การลากราคาหุ้นเพื่อล่อแมงเม่า รวมไปถึงการดันราคาหุ้นโดยที่ไม่มีปัจจัยอ้างอิงทำได้ยากมากกว่าเดิม

ท้ายที่สุดเมื่อนักลงทุน “รู้ทัน” และจ้าวจุดกระแสไม่ขึ้น ซึ่งเมื่อไม่มีคนตามก็ทำให้จ้าวหลายรายก็ต้อง “แพ้ภัยตัวเอง” จนทำให้ทั้ง ตัวบริษัท ตัวหุ้น ตัวจ้าว และ นักลงทุนรุ่นเก่าๆ ที่ไม่ยอมปรับตัว และปรับวิธีการในการเลือกหุ้นต้องเสียหายไปอย่างที่เห็นนี่เอง

เอาเป็นว่า ถึงแม้ว่าเรื่องของการเอาหุ้นจำนวนมาก ไปวางค้ำบัญชีมาร์จิ้น อาจจะไม่ใช่สาเหตุหลัก ที่ทำให้หุ้นหลายตัวเกิดปัญหาหุ้นถูกบังคับขาย (Force Sell) เนื่องจากมีปัจจัยอื่นที่เข้ามาเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วยจำนวนมาก แต่สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ หุ้นที่ถูกทิ้งในแบบที่เกิดขึ้นกับ SCM เป็นกรณีล่าสุด มักจะเกี่ยวพันไปถึงเรื่องของการเอาหุ้นไปวางค้ำบัญชีมาร์จิ้นเช่นกัน 

ดังนั้น การจับตาดูบริษัทที่เอาหุ้นจำนวนมาก ไปวางค้ำบัญชีมาร์จิ้น จึงเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่พิสูจน์แล้วว่า สามารถนำเอามาพิจารณาเพื่อใช้ประกอบในการตัดสินใจ ที่จะเลือกลงทุนในหุ้นได้เช่นกันเจ้าค่ะ