ปัญหาการส่งออกตก ... ไม่ใช่แค่เรื่องตลาด

24 มิ.ย. 2566 | 01:50 น.

หลังจากการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ไม่ว่าใครก็ตามที่จะมาเป็นรัฐบาลต้องให้ความสนใจสัญญานเตือนภัยด้านความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ผ่านการส่งออก

เพราะตั้งแต่ต้นปี 2566 จนถึงเดือนเมษายน 2565 ตัวเลขที่กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยออกมา พบว่า

การส่งออกของเราติดลบกว่า 7.6% และหากมองย้อนไปในปีที่แล้ว การส่งออกของเราขาดดุลติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 หลาย ๆ คนคงได้ยินเหตุผลที่ชอบให้กันในเรื่องนี้ก็คือ เศรษฐกิจโลกซบเซาโดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ หรือเกิดเหตุการณ์ผิดปกติในโลก อาทิ COVID-19 หรือสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งก็ไม่ผิด เพราะเหตุการณ์เหล่านั้นมีผลต่อการส่งออกของเราจริง แต่ผมยืนยันว่าไม่ใช่ทั้งหมด 

เราชอบทุ่มสรรพกำลังไปแก้ปัญหาระยะสั้นและเฉพาะหน้า เช่น การหาตลาดใหม่ การออกตลาดของผู้ประกอบไทย การจัดงานโปรโมทสินค้าไทยในต่างประเทศ ฯลฯ ซึ่งผมมองว่า “จำเป็น แต่ไม่เพียงพอ” แต่เราไม่มองปัญหาทางโครงสร้างการส่งออกของประเทศ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญในการแข่งขันการส่งออกที่ยั่งยืน 

ปกติการส่งออกที่ลดลงนั้น เราควรสันนิษฐานในเบื้องต้นเป็นข้อ ๆ แล้วเข้าไปดูในรายละเอียดว่าข้อไหนคือสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา ข้อสันนิษฐานที่ควรดู คือ 

  • ลูกค้าของเรามีกำลังซื้อลดลง (Purchasing power)
  • สินค้าส่งออกของเรา ลูกค้าลดความนิยมลง (Portfolio)
  • สินค้าของเราแข่งกับคู่แข่งไม่ได้ (Competitiveness)
     

ก่อนจะวิเคราะห์ในแต่ละข้อเพื่อหาทางออกนั้น เราต้องดูโครงสร้างของการส่งออกของไทยให้ลึกซึ้ง ซึ่งในเบื้องต้นจะเห็นว่า รายการสินค้าส่งออกสำคัญ ๆ ของเรากว่า 70 - 80% ของมูลค่าการส่งออกเป็นสินค้าอุตสาหกรรม 

และเมื่อมองลึกลงไปในประเภทสินค้าอุตสาหกรรมที่ส่งออกก็จะพบว่าเป็นสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เคมีภัณฑ์ ฯลฯ ซึ่งสินค้าเกษตรไม่ปรากฏอยู่ใน 10 รายการแรกของการส่งออกแต่อย่างใด และเมื่อดูรายชื่อบริษัทผู้ส่งออกรายใหญ่ใน 20 อันดับแรกพบว่าเกือบทั้งหมดเป็นบริษัทต่างชาติที่มาลงทุนในประเทศไทย จะมีที่เป็นของคนไทยก็บริษัทในเครือ PTT เท่านั้น

ข้อหนึ่ง: สินค้ารายการสำคัญของไทยที่เป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีระดับปกตินั้น ทำให้มีความยืดหยุ่นต่อรายได้สูง เพราะเป็นสินค้าที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ทำให้ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ซึ่งจะเห็นมาตลอดว่าการเคลื่อนไหวการส่งออกของไทยจะเป็นตามสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ ซึ่งหากจะเปลี่ยนแปลงการพึ่งพิงภาวะเศรษฐกิจของคู่ค้า เราต้องเปลี่ยนความจำเป็นของสินค้าส่งออกของเราต่อความต้องการของลูกค้าให้ได้ เช่น เป็นสินค้าที่ไม่มีคนทดแทน หรือมีจำเป็นต่อการดำรงชีพ ซึ่งจะทำให้ความยืดหยุ่นต่อเศรษฐกิจคู่ค้าลดน้อยลง การคัดเลือกการส่งเสริมการลงทุน การสนับสนุนการส่งออก อาจต้องคัดเลือกมากขึ้น  
 

ข้อสอง: การส่งออกที่ลดลงอาจเป็นเพราะรายการสินค้าบางรายการที่สำคัญของเรานั้นกำลังหมดความนิยมในตลาด หรือลูกค้าหันไปบริโภคสินค้าที่ใช้หรือมีเทคโนโนโลยีใหม่ ๆ ที่เข้ามาทดแทนอุตสาหกรรมเดิม ๆ อาทิ ฮาร์ดดิกส์ไดร์ฟ ฯลฯ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงไปในรายการสินค้าส่งออกเหล่านี้อาจต้องใช้เวลา เพราะเรามักไม่ใช่เจ้าของเทคโนโลยี ดังนั้นนโยบายการส่งเสริมการลงทุนอาจต้องเปลี่ยนไปจากเดิม และการเลือกประเภทอุตสาหกรรมรวมทั้งรูปแบบส่งเสริมการลงทุนที่เป็น Customize มากกว่าที่เป็นอยู่  

ข้อสาม: สินค้าอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยส่งออกเป็นสินค้าที่มีความยืดหยุ่นต่อราคาค่อนข้างสูง เพราะมีคู่แข่งมาก รวมทั้งถูกทดแทนได้ง่าย เนื่องจากเป็นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีไม่ซับซ้อนจนเกินไป ทำให้การเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนและต้นทุนมีผลกระทบต่อการส่งออกสูง นักลงทุนที่มาลงทุนใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมเหล่านี้จึงมองมาตรการส่งเสริมการลงทุนทางด้านภาษีเงินได้และอื่น ๆ อาทิ ค่าจ้างแรงงาน (มีฝีมือและไม่มีฝีมือ) ที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิต 

อย่างไรก็ตาม สินค้าอุตสาหกรรมเหล่านี้ในปัจจุบันเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมประเภทแรงงานเข้มข้นไปเป็นการใช้ทุนแบบเข้มข้น และปัจจัยการผลิตเปลี่ยนเป็นเทคโนโลยี ฝีมือความชำนาญ และนวัตกรรมใหม่ ๆ มากขึ้น ทำให้ปัจจัยความได้เปรียบที่สินค้าส่งออกของไทยเคยได้เปรียบลดลง หรือบางอุตสาหกรรมที่ยังใช้เทคโนโลยีเดิม และต้องการแรงงานราคาถูก ก็จะโยกย้ายฐานการผลิตออกไปประเทศอื่นที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า 

จากข้อสังเกตข้างต้น ผมว่ามาตรการส่งเสริมการส่งออกของเราคงไม่ใช่แค่การระดมความเห็น และสรรพกำลังของผู้ส่งออกในการหาตลาดใหม่ โปรโมทสินค้า จัดงานแสดงสินค้า เพียงเท่านั้น ซึ่งผมก็เห็นด้วย แต่ไม่เพียงพอ เราต้องลงไปที่ตัวสินค้าส่งออกด้วย ว่าสินค้านั้นลูกค้ายังต้องการหรือไม่ 

หากยังต้องการเราสู้คู่แข่งได้หรือไม่อย่างไร แล้วคงมองเห็นมาตรการที่ย้อนลงไปถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และการพัฒนาปัจจัยการผลิต ทั้งทักษะฝีมือแรงงาน และระบบการบริหารจัดการทั้งระบบห่วงโซ่อุปทานและคุณค่า ซึ่งหากมองทั้งหมดแล้วจะพบว่ามาตรการใดมาตรการหนึ่งมีผลต่อเรื่องอื่น ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ฝากรัฐบาลใหม่นะครับ หากจะทำมาตรการใด ๆ เก๋ ๆ เท่ห์ ๆ ก็ให้แน่ใจว่าดูทั้งระบบอย่างถี่ถ้วนแล้ว ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการแก้ปัญหาระดับจิ๊บ ๆ ที่ดูไม่จ๊าบในระดับมหภาค