เนื้อไก่ไทยขึ้นแท่นสู่นวัตกรรมอาหารมาตรฐานอวกาศ

21 มิ.ย. 2566 | 00:32 น.
อัปเดตล่าสุด :22 มิ.ย. 2566 | 17:39 น.

เนื้อไก่ไทยขึ้นแท่นสู่นวัตกรรมอาหารมาตรฐานอวกาศ โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาให้เป็นอาหารสำหรับนักบินอวกาศที่ขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่บนสถานีอวกาศ

ผศ.น.สพ.ดร.เกรียงไกร วิฑูรย์เสถียร อาจารย์ประจำ ภาควิชาเวชศาสตร์และทรัพยากรการผลิตสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า ล่าสุดผลิตภัณฑ์อาหารจากเนื้อไก่ของไทยบางรายการ กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาให้เป็นอาหารสำหรับนักบินอวกาศที่ขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่บนสถานีอวกาศ

ทั้งนี้ บริษัทผู้ผลิตและส่งออกไก่ชั้นนำของประเทศไทย มีการพัฒนาเทคโนโลยีการเลี้ยงมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบและส่วนผสมคุณภาพดีเพื่อใช้ผลิตอาหารให้ตรงกับความต้องการของสัตว์แต่ละช่วงวัย 

รวมถึงติดตั้งเทคโนโลยีช่วยติดตามและตรวจสอบพฤติกรรมของสัตว์ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นการป้องกันโรคและตรวจเช็คสุขภาพสัตว์ เพื่อให้ได้เนื้อสัตว์คุณภาพดีส่งต่อไปยังกระบวนการผลิตที่ทันสมัย ที่มีการลดสัมผัสจากมนุษย์และลดการสูญเสียมากที่สุด สร้างหลักประกันอาหารปลอดภัยให้กับผู้บริโภคบนภาคพื้นโลกต่อยอดเป็นนวัตกรรมอาหารสู่อวกาศ

ปัจจุบันประเทศไทยมีการส่งออกสัตว์ปีกไปยังต่างประเทศติดอันดับท็อป 5 ของโลก เป็นเครื่องยืนยันว่าต่างประเทศยอมรับในระบบ มาตรฐาน และความปลอดภัยของการเลี้ยงและการผลิตสัตว์ปีกของไทย ด้วยมาตรฐานระดับสากล อยู่ภายใต้การควบคุมและกำกับดูแลของกรมปศุสัตว์ สร้างความเชื่อมั่นต่อคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า ผู้บริโภคจึงสามารถมั่นใจได้ในความปลอดภัยด้านอาหาร

สำหรับภาคอุตสาหกรรมสัตว์ปีกของไทยใช้ระบบการเลี้ยงภายใต้หลักปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) จัดเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยง ให้มีการเลี้ยงที่ดี ปราศจากโรค รวมถึงกระบวนการผลิตต้องปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค ปราศจากการปนเปื้อนของสารเคมี 

และใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้ง ไก่เนื้อ หรือไก่ไข่ หากปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว จะทำให้ไก่มีสุขภาพที่ดีส่งต่อมายังผู้บริโภค ผู้บริโภคก็จะได้รับประทานอาหารและผลิตภัณฑ์ที่ดีมีคุณภาพ ปลอดภัย ปลอดโรค

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันองค์ความรู้ เทคโนโลยี และการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลและข้อเท็จจริง อีกทั้งการเข้าถึงสื่อและแหล่งข้อมูลที่มากขึ้น ทำให้ผู้เลี้ยงมีความรู้และความเข้าใจ นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเลี้ยง โดยเฉพาะการปรับปรุงสายพันธุ์และการดูแลสุขภาพของสัตว์ 

จึงทำให้ปัจจุบันการเลี้ยงไก่ใช้เวลาน้อยลง รวมถึงมีอัตราการเจริญเติบโตที่ดีขึ้นตามสายพันธุ์ และไม่มีความจำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนเพื่อเร่งการเจริญเติบโต ที่สำคัญการใช้ฮอร์โมนเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ใช้ควบคุมกำกับดูแลผู้ประกอบการ จึงมั่นใจได้ว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ไทยไม่มีการใช้ฮอร์โมนแล้ว