หนี้ครัวเรือน : จบที่ “ใจ”

25 ต.ค. 2567 | 01:29 น.

ผลพวงอย่างหนึ่งจากวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมาคือหนี้ครัวเรือนของไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเพราะในช่วงปี 2563 – 2564 เป็นช่วงของความยากลำบากของผู้คนถ้วนหน้า

ไม่ว่าจะเป็นคนที่หาเช้ากินค่ำ ค้าขาย หรือกินเงินเดือน ที่รายได้ลดลงอย่างมาก และหลายครอบครัวที่รายได้หายไปสนิทจึงจำเป็นต้องดึงเงินออมมาใช้ และจำนวนมากที่มีเงินออมไม่พอก็ต้องกลายเป็นหนี้สิน เพื่อพาครอบครัวพ้นสถานการณ์เลวร้ายนี้ให้ได้ และเมื่อสถานการณ์การระบาดของไวรัสทุเลาลง คนส่วนมากที่จะกลับมายืนบนขาของตนเองเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวหากขาดเงินทุนก็ต้องพึ่งพาเงินกู้จากแหล่งต่าง ๆ ที่ตนเองสามารถเข้าถึงได้ จนทำให้วันนี้หนี้ครัวเรือนของไทยมีสัดส่วนมากกว่า 90% ของ GDP ได้ทำลายสถิติสูงสุดตั้งแต่มีประเทศไทยมา

แต่นั่นไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นห่วง หากแต่ว่าสถานการณ์ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนที่เริ่มมีปัญหาจนกลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันว่าเรื่องดังกล่าวเป็นลูกตุ้มลูกใหญ่ที่ถ่วงประสิทธิภาพของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ของประเทศ เพราะตอนนี้มีหนี้เสียที่เป็น NPL แล้วกว่า 1 ล้านล้านบาท และมีหนี้ที่เฝ้าระวัง ซึ่งก็คือ เริ่มขาดการชำระแต่ยังไม่เกิน 3 เดือน อีกกว่า 6 แสนล้านบาท จากหนี้ครัวเรือนรวม 16.2 ล้านล้านบาท

ถ้ามองในมุมของทฤษฎีนั้น “หนี้” คือ การเคลื่อนย้ายการบริโภคและรายได้ข้ามเวลาในระดับบุคคล (Individual) นั้นทุกคนมีความพอใจ ปรารถนา ความชอบ การตีค่า หรืออะไรก็แล้วแต่จะเรียก ที่ให้คุณค่าการบริโภคระหว่างวันนี้กับอนาคตแตกต่างกันในแต่ละบุคคล

คำว่า “ความจำเป็น” ของแต่ละคนต่างกัน บางคนจำเป็นทางกายภาพ บางคนจำเป็นตามความพอใจ ซึ่งตัวกำหนดของความจำเป็นหรือความพอใจเหล่านี้เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลที่ต่างกันออกไป บางคนจำเป็นต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อใช้จ่ายในวันนี้ เนื่องจากตกงาน หรืออาจเพราะฉุกเฉิน หรือเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล 

แต่บางคนอาจต้องการมีของที่ต้องมี บ้าน รถ เครื่องใช้ เครื่องประดับ ด้วยเหตุผลความชอบ หรือสภาพสังคมที่ทำให้เขาต้องกู้หนี้ยืมสิน และสำหรับเขาสิ่งเหล่านี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในกรอบความพอใจของเขา ดังนั้น เลยต้องย้ายการบริโภคในอนาคตมาพร้อมโยกเงินอนาคตมาใช้ เมื่อเงินในกระเป๋าไม่พอ ก็กู้ เท่านั้นเอง
 
พอดีบรรยายเรื่องการบริโภคข้ามเวลา (Time Continuous Consumption) ที่มนุษย์ทุกคนมีรายได้ในวันนี้และอนาคต และต้องบริโภคทั้งวันนี้และอนาคต เพียงแต่ว่าสามารถโยกข้ามเวลาได้ และหนี้สินเกิดขึ้นก็เพราะการโยกการบริโภคในอนาคตมาบริโภคในวันนี้ที่มีรายได้ไม่พอ เลยขอยืมเงินในอนาคตมาใช้ก่อน ก็เลยก่อหนี้

แต่คนบางคนตัดสินใจออมเงินวันนี้ เพื่อโยกการบริโภคและรายได้ในปัจจุบันไปอนาคต ซึ่งการตัดสินใจโยกรายได้และบริโภคข้ามเวลานี้ผู้บริโภคทุกคนเลือกในสิ่งที่ตนเองพอใจมากที่สุดแล้ว เพราะแต่ละคนตีค่าความพอใจระหว่างการบริโภควันนี้กับพรุ่งนี้ต่างกัน เลยทำให้บางคน "ออม” บางคน “ก่อหนี้”

ผมเชื่อว่ามาตรการแก้หนี้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศออกมาเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มต่าง ๆคือ กลุ่มหนี้เสีย กลุ่มหนี้เรื้อรัง หนี้ใหม่ที่เพิ่มเร็ว และกลุ่มหนี้อื่น ๆ ที่ไม่รวมในหนี้ครัวเรือน เช่น หนี้ กยศ. หนี้สหกรณ์ หรือหนี้นอกระบบ ซึ่งก็เป็นมาตรการที่ช่วยคนเป็นหนี้ให้สามารถดูแลหนี้ของตนเองได้ไม่ลำบาก หรือเกินกำลังในการชำระ 

ซึ่งในมุมจุลภาคก็ถือว่าช่วยให้ปัญหาเหล่านี้เบาบางลงในระดับบุคคลหรือครัวเรือน แต่ในมุมของเศรษฐกิจมหภาค ก็ช่วยให้ลูกตุ้มที่เป็นอุปสรรคต่อประสิทธิภาพของนโยบายกระตุ้นทางเศรษฐกิจของรัฐผ่านด้านอุปสงค์น่าจะเบาขึ้นได้บ้าง

แต่ถ้ามองให้ครบทุกด้านในทฤษฎีนี้ที่มองว่าหนี้สินเกิดขึ้นเพราะรายได้ปัจจุบันที่มีไม่เพียงพอกับระดับความต้องการบริโภคในปัจจุบัน และสำหรับบางคนที่ความพอใจบริโภคในปัจจุบันมากกว่ารายได้ที่มีอยู่ (จ่ายเกินตัว) แต่โยกเงินอนาคตผ่านการกู้ยืมนั้น เขาก็คิดดีที่สุดตามความคิดและความเข้าใจของเขาแล้ว ดังนั้น ผมว่าการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ต้องมองทั้งสองด้าน คือ ด้านรายได้ และด้านลักษณะความพอใจ

ในการบริโภคของคน (Preference) ซึ่งปัจจัยหลังนี้คือสาเหตุสำคัญของการเป็นหนี้เร็วขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เงื่อนไขและโครงสร้างด้านสังคมทำให้ก้าวมาเป็นหนี้มากขึ้น

มาตรการเกี่ยวกับการเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนนั้น ถ้ามองในรูปแบบมหภาคก็คงมองผ่านการเพิ่มค่าจ้าง เพิ่มความสามารถในการทำงาน การสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ การจ้างงานที่เพิ่มขึ้น หรือการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่กระจายความมั่งคั่งให้ทั่วถึง 

หากไปดูการศึกษาในเชิงวิชาการบางเล่มกล่าวถึงการแก้ไขด้านสถาบัน เช่น กฎหมายเพื่อให้ลดการผูกขาดทางเศรษฐกิจ หรือบางเล่มก็ว่าไปถึงการกำหนดกติกาการให้โอกาสธุรกิจขนาดเล็กในการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทาน หรือ Supply Chain ของธุรกิจขนาดใหญ่ หรือแม้แต่การผูกเอาประเด็นทางสังคมเข้ามาทางเศรษฐกิจ เช่น การกำหนดให้มีการว่าจ้างคนด้อยโอกาสต่าง ๆ หรือแม้แต่นโยบายการคลังว่าด้วย Negative Income Tax ซึ่งทั้งหมดก็เป็นการลดความเสี่ยงของการก่อหนี้ด้านรายได้ไม่เพียงพอ หรือระบบสวัสดิการสังคมที่ดีพอที่จะช่วยลดความเสี่ยงความต้องการรายได้เพื่อการฉุกเฉิน 

ซึ่งผมว่าเรื่องนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่มีใครอยากเป็นหนี้หรอก แต่อีกด้านที่เกี่ยวกับการตีค่าการบริโภคในวันนี้เทียบกับการบริโภคในอนาคต ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตใจของแต่ละบุคคลล้วน ๆ ถ้าจะแก้ไขเรื่องนี้ ผมว่าเป็นเรื่องเชิงสถาบัน (Institute) ไม่ว่าจะเป็นสถาบันสังคม ครอบครัว 

รวมถึงการให้ความรู้เรื่องต้นทุนที่แท้จริงของความเสี่ยงในอนาคตเพื่อให้มีการชั่งน้ำหนักในการเลือกการบริโภคข้ามเวลาได้เหมาะสมกับแต่ละคน เพราะปัจจุบันสถาบันสังคมและอื่นๆ ดูจะชักจูงให้คนมองเห็นค่าการบริโภคในปัจจุบันมากกว่าอนาคต ผ่านค่านิยมทางสังคมต่าง ๆ หรือข้อมูลข่าวสารที่โน้มเอียง (Bias) ซึ่งการแก้ไขหรือป้องกันเรื่องเหล่านี้ ทำให้นึกถึงที่หลายฝ่ายพยายามทำมาตลอดในเรื่อง Financial Literacy หรือแม้แต่การจูงใจ หรือการบังคับออม ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม อย่างที่ผมบอก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของใจคนล้วน ๆ ซึ่งทำให้นึกถึงแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งคนรุ่นใหม่ยังมองในเชิงด้อยค่าด้วยซ้ำไป เพราะรู้ไม่ครบ หรือสังคมบีบ “ใจ” ให้เขาเห็นดีเห็นงามอีกด้านก็ได้  

ผมว่าการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน คือการลดความจำเป็นจริงๆ ในการก่อหนี้ลงให้มากที่สุด โดยเฉพาะส่วนที่เกิดจากปัจจัยด้าน “ใจ” ให้มีน้อยที่สุด ซึ่งก็ได้แต่เพียงให้ข้อมูลมากที่สุด ที่เหลือขึ้นอยู่กับใจของแต่ละคนละครับ ผมเชื่อว่าจริง ๆ แล้ว ไม่มีใครอยากเป็นหนี้ นอกจากจำเป็นจริง ๆ เพียงแต่ขอให้ความจำเป็นนั้นมาจากปัจจัย “ใจ” ให้น้อยที่สุดก็แล้วกัน