มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าพระราชกฤษฏีกายุบสภาผู้แทนราษฎรแล้ว มีผลตั้งแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 20 มี.ค.2566 เป็นต้นไป โดยจะมีการเลือกตั้งส.ส.ใหม่ภายใน 45-60 วัน หลังจากนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะประกาศวันเลือกตั้ง เป็นวันที่ 14 พ.ค. 2566 โดยจะเปิดรับสมัครประมาณต้นเดือน เม.ย.
การเมืองไทยเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง หาตัวผู้แทนชุดใหม่เข้าไปเลือกนายกฯ ร่วมกับส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง เลือกนายกฯ ตั้งรัฐบาล ถ้าไม่มีอะไรสะดุด รัฐบาลอำนาจเต็มชุดใหม่ น่าจะได้ในเดือนสิงหาคม 2566 ช่วงนี้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่รักษาการจนกว่าจะได้ตัวนายกฯ คนใหม่ อันว่ารัฐบาลรักษาการนั้นก็ชัดเจนโดยกฎบัตร กฎหมายอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ การโยกย้ายข้าราชการตำแหน่งสำคัญ เรื่องที่เป็นนโยบายที่มีผลผูกพันรัฐบาลหน้า
พรรคการเมืองทุกพรรคเดินสายปูพรมขอคะแนนเสียง ปราศรัยโจมตีกันสนั่นหวั่นไหว ประเด็นเดิมๆ สร้างขั้วประชาธิปไตยกับเผด็จการ พยายามนิยามตอกย้ำ ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามอำนาจเดิมเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ยืนฝั่งเดียว พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเผด็จการ ว่าที่จริงจะประชาธิปไตยหรือไม่ อยู่ที่การใช้อำนาจ อยู่ที่การบริหาร มาจากการเลือกตั้งก็เป็นเผด็จการได้เหมือนในอดีตที่มีการใช้อำนาจรวมก๊ก ก๊วน เข้ามาใต้พรรคเดียวเบ็ดเสร็จ เป็นเผด็จการทางรัฐสภา ฉะนั้นประชาธิปไตยใช่ว่ารัฐนั้นๆ จะจัดการให้มีการเลือกตั้งแล้วจะเป็นประเทศประชาธิปไตย ที่ต้องทำความเข้าใจกันใหม่ ประชาธิปไตย ประชาชนพลเมืองต้องมีสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ ภายใต้ข้อกฎหมายโดยไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น และไม่ใช่ประชาธิปไตยแค่ 3 นาที ในระหว่างการกาบัตรเลือกตั้งเท่านั้น แต่ต้องมีสิทธิ มีเสียง รวมทั้งการควบคุมกำกับผู้แทนที่เลือกไปด้วย ไม่ใช่เลือกฉันมาแล้วจะทำอะไรก็ได้ จะเข้าประชุม หรือ ไม่ประชุมเหมือนที่ผ่านมาก็ได้ อันนั้นไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่เป็นระบบคอกควาย คอกวัว ของผู้แทนมากกว่า
เลือกตั้งก็เลือกตั้งว่ากันไป แต่ยามนี้ที่วิตกผวากันไปทั้งบางเห็นจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ตั้งแต่แบงก์ SVB ขนาดใหญ่ของสหรัฐล้มลงไป และยังมีอีกหลายสถาบันการเงินร่อแร่ ก็เกรงว่าจะเป็นต้นตอของวิกฤติการเงินวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่อีกครั้ง จากสหรัฐลามมายังยุโรป เมื่อสถาบันการเงินเครดิตสวิส ก็ไปไม่ไหว ต้องหาคนเข้าไปซื้อกิจการ เมื่อถูกกระแทกกระทั้นเข้าไปดอกสองดอก ด้วยความที่ทั้งโลกมันเกี่ยวพันกันหมด ก็เลยเป็นปัญหาจะตายกันทั้งบางก็เที่ยวนี้ ระมัดระวังกันไว้ดีๆ
เห็นจะดีที่สุดยามนี้ แน่นอนอะไรที่เกี่ยวพันเกี่ยวเนื่องการท่องเที่ยว ด้วยว่าอัดอั้นกันมานาน เมื่อเปิดที่เปิดทางนักท่องเที่ยวก็มาเร็วเกินคาด ดูจะเป็นความหวังเดียวในการหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจ ทำอย่างไรให้เม็ดเงินท่องเที่ยวกระจายถึงมือชาวบ้านอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ตอนนี้อย่าหวังรอพึ่งรัฐบาล เข้าโหมดยุบสภาแล้วเหมือนสวิตช์ถูกปิดลงชั่วคราว แต่ก็ต้องเตือนกันไว้นิด อย่าหลงเพลินเม็ดเงินท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวบางชาติที่มากับธุรกิจสีเทาๆ เพราะบ้านเราจะพังลงไปด้วย เงินอะก็อยากได้ แต่ต้องตรงไปตรงมากันหน่อยดีไหม อย่าเที่ยวแฝงอะไรเข้ามากับเม็ดเงินท่องเที่ยวเลย
เมื่อเร็วๆ นี้ คีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ได้ส่งสารขอบคุณพนักงาน ครอบครัวบีทีเอส โดยมีเนื้อหาดังนี้ “ผมต้องขอขอบคุณจากใจ และซาบซึ้งใจมากครับ กับความเสียสละ ความรัก และความสามัคคี ที่อยากจะปกป้อง ทวงคืนความยุติธรรม ให้แก่ครอบครัวบีทีเอสแห่งนี้
สำหรับเรื่องที่จะหยุดเดินรถ ผมอยากให้พิจารณากันให้ดี เพราะตั้งแต่เปิดให้บริการ ในวันแรกตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบัน ตลอดระยะเวลากว่า 23 ปีที่ผ่านมา เราบริการผู้โดยสารด้วยความจริงใจ และมีความตั้งใจจริง ให้ผู้โดยสารได้รับการบริการที่ดีที่สุด ผมจะไม่มีวันให้ประชาชนเดือดร้อนโดยเด็ดขาด ผมยอมอดทนมาถึง 3 ปีแล้ว ที่ต่อสู้กับเรื่องนี้
แต่หากผู้มีอำนาจยังเพิกเฉย ไม่แก้ไขปัญหาใดๆ ทั้งที่ควรรับผิดชอบ ทำในสิ่งที่ถูกต้อง และหากยังมีการกลั่นแกล้งเพิ่มมากขึ้นจนรับไม่ไหว เราค่อยกลับมาถามประชาชนอีกครั้งหนึ่งว่า เราควรจะเดินหน้าอย่างไรต่อไป ซึ่งทางรัฐต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น
ท้ายที่สุดในวันนี้ ผมขอให้ครอบครัวบีทีเอสทุกคน เอาพลังความรัก และสามัคคีนี้ มาแปรเปลี่ยนเป็นพลังงาน เพื่อขับเคลื่อนการให้บริการของเราให้ดียิ่งขึ้น เพื่อสร้างความประทับใจให้กับผู้โดยสาร และสร้างมาตรฐานที่ดีให้กับบีทีเอสต่อไป"
ไปปิดท้ายกันที่... ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในฐานะนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานการจัดงาน “106 ปี คืนเหย้า ฟังเพลงเพลิน เดินจุฬาฯ” ขอเชิญชวนชาวจุฬาฯ ให้กลับมาเจอกันให้หายคิดถึง ในโอกาสครบรอบ 106 ปี แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 26 มีนาคม 2566 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป