*** ระทึก ตื่นตระหนก โกลาหล ใจหายวูบหวิว เป็นอาการของผู้คนที่อาศัยและทำงานบนตึกสูง เมื่อยามบ่ายของวันศุกร์ที่ 28 มี.ค. 2568 เมื่อมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงมีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศพม่า แต่ประเทศไทยได้รับผลกระทบอาการสั่นไหวไปด้วย โดยเฉพาะตึกสูงในกทม. ปริมณฑล มีตึกร้าว ทรุด และตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่กำลังก่อสร้างไม่เสร็จ พังถล่มลงมามีผู้เสียชีวิตหลายรายและถึงเวลานี้ผ่านมา 3-4 วัน ยังกำลังค้นหาผู้รอดชีวิตใต้ซากตึก
*** ในระหว่างเกิดเหตุการณ์บ่ายวันศุกร์ ที่บอกว่าปั่นป่วน โกลาหล ไม่เกินจากความเป็นจริง ด้วยเหตุว่า ในกรุงเทพฯ ไม่เคยเผชิญเหตุการณ์แผ่นดินไหว หรือ ผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่หนักขนาดนี้มาก่อน ประกอบกับไม่มีข้อมูล ไม่มีสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า และไม่มีการซ้อมแผนรับมือแผ่นดินไหว เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้น หลายคนดำเนินการไม่ถูก หนีอย่างไร เดินอย่างไร ระบบการคมนาคมขัดข้อง มีการปิดทางลงทางด่วนบางจุด ประกอบกับความไม่รู้นำมาซึ่งความตื่นตระหนก รถติดทั้งเมือง ผู้คนหวาดระแวง การสื่อสารที่เป็นทางการ ข้อมูลที่ชัดเจนไม่ถึงมือ กลายเป็นไปหลงเชื่อข้อมูลที่ไม่ได้กลั่นกรองและยืนยัน ประเด็นจะมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาไม่กี่ชั่วโมง ก็ยิ่งตื่นตระหนกเข้าไปใหญ่
*** นายกฯอิงค์ แพทองธาร ชินวัตร ผละจากภารกิจที่ภูเก็ต บินด่วนกลับมาประชุมที่กรุงเทพฯ ไล่เบี้ยทุกหน่วยงาน ขัดข้องตรงไหน ทำไมการเตือนภัย ขั้นตอน แนวทางการดูแลไม่ส่งถึงประชาชน ทั้งที่นายกฯ และรัฐมนตรีมหาดไทยสั่งการแล้ว ความว่าติดขัดที่หน่วยงาน อย่าง กสทช. รวมทั้งกระจายข้อมูลเซลไซด์ ที่ส่งข้อความได้ไม่มากพอ
อย่างไรก็ดี เหตุที่เกิดขึ้นแบบนี้ ต้องล้อมคอกด้วยยกเครื่องปรับปรุงใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่ส่งข้อความเตือน คู่มือสั้นของการปฏิบัติในขณะเกิดเหตุ ทั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบ มีหน้าที่ต้องมีความชัดเจนในแต่ละหน่วย และตัดสินใจได้รวดเร็วพอ ไม่ใช่ต้องส่งผ่านข้อความเตือนภัย เตือนเหตุหลังเหตุการณ์ผ่านไปนานหลายชั่วโมง
*** เช้าวันจันทร์ที่ 31 มีนาคม เกิดอาฟเตอร์ช็อก มีตึกโยก สั่นไหว รอยปริร้าว ปูนร่วง ในบางตึกทั้งศูนย์ราชการ ศาลอาญา มีการอพยพผู้คนกันอีก เป็นอาฟเตอร์ช็อกที่ไม่ได้อันตรายร้ายแรงเหมือนเหตุวันศุกร์ที่ 28 มีนาฯ แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลทางการออกมายืนยัน เพื่อคลายความตื่นตระหนกแต่อย่างใด มีเพียงแต่การโพสต์โซเชียล และการออกมาให้สัมภาษณ์ของนายกฯ ที่พอจะยืนยันได้ไม่มีเหตุการณ์อะไรร้ายแรง และได้สั่งการให้มีการตรวจสอบตึกสูงทุกตึก พร้อมออกมายืนยันให้ความมั่นใจต่อประชาชนว่า รากฐานแข็งแรง ไม่มีปัญหา หากใครสงสัยให้ติดต่อกรมโยธาฯ ตรวจสอบซํ้าได้ ว่าแต่ว่าเจ้าหน้าที่ ที่อยู่บนตึกของกรมโยธา ฯเอง ก็ยังรู้สึกหวั่นๆ อยู่นะทั่นนายกฯ
*** คราวนี้ไปดูตึกที่ถล่มลงมา ของ สตง. เรื่องของเรื่องก็มีการสงสัยไปต่างๆ นานา เมื่อเกิดกับตึกของผู้ที่มีหน้าที่ตรวจสอบหน่วยงานอื่น ก็ทำให้มีความสงสัย ตึกที่สร้างเป็นอย่างไร การควบคุมการก่อสร้างเป็นอย่างไร เป็นตามมาตรฐานหรือไม่ เลยเถิดไปถึงวัตถุดิบที่นำมาใช้ก่อสร้างได้มาตรฐานหรือไม่ ถามมา ถามไป ได้ความว่า บริษัทก่อสร้างเป็นบริษัทอิตาเลี่ยนไทยถือหุ้นร่วมกับบริษัทจีน ก่อสร้างโครงการนี้
*** มีข้อห่วงใย ข้อสังเกตมาจาก องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ประมาณว่า การก่อสร้างหย่อนประสิทธิภาพ เห็นได้จากการก่อสร้างล่าช้า ผู้รับเหมาหยุดงานเป็นช่วง ๆ ได้ทักท้วงมาโดยตลอด โดยปกติโครงการจะเปิดให้ผู้สังเกตการณ์จาก ACT เข้าสังเกตการณ์ตั้งแต่เขียนข้อกำหนดเงื่อนไข การประกวดราคา (TOR) เพื่อป้องกันการล็อคสเปก การฮั้วประมูล และ การตั้งงบประมาณสูงเกินจริง แต่โครงการนี้ กลับไม่ได้รับอนุมัติให้เข้าโครงการข้อตกลงคุณธรรม ทำให้ไม่มีผู้สังเกตการณ์ร่วมตั้งแต่ต้น แต่เข้าไปเมื่อปลายแล้วและเบื้องต้นยังทราบว่าเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา สตง. แสดงท่าทีจะเลิกสัญญาผู้รับเหมารายนี้ด้วย เอาละสิ ! ...เรื่องนี้โปรดติดตามอย่ากระพริบตา
หน้า 4 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 45 ฉบับที่ 4,084 วันที่ 3 - 5 เมษายน พ.ศ. 2568