ภาวะเงินเฟ้อพุ่ง ฉุดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

09 ก.ย. 2565 | 22:30 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ย. 2565 | 22:53 น.

บทบรรณาธิการ

หลายสำนักออกมาฟันธงถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจของปี 2565 จะอยู่ที่ราว 3.5% ที่ได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ที่คาดว่าทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยวจากต่างชาติราว 10 ล้านคน บวกกับปัจจัยการส่งออกที่ยังดีต่อเนื่อง การบริโภคในประเทศดีขึ้น จากมาตรการคนละครึ่ง การตรึงราคาน้ำมันดีเซล และการลดภาระค่าไฟฟ้าผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น

 

ส่วนจะเป็นไปตามที่คาดการณ์กันไว้หรือไม่นั้นในช่วงโค้งท้ายของปี ต้องมาลุ้นกัน เพราะมีสัญญาณมากมายที่จะมาฉุดภาวะเศรษฐกิจของปีนี้ลงมาได้ เห็นได้จากภาวะเงินเฟ้อเดือนสิงหาคม 2565 ที่ปรับตัวขึ้นมาอยู่ระดับ 7.86% สูงสุดในรอบ 14 ปี และมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้น จากราคาน้ำมันที่จะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึงนี้

ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) ชี้ให้เห็นว่า อัตราเงินเฟ้อยังเป็นบวกจากสัญญาณที่ปรับเพิ่มเดือนต่อเดือนและมีโอกาสขยับเพิ่มในระยะต่อไป โดยตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์จะอยู่ในระดับสูงสุด (พีค) ไตรมาส 3

 

ผลสำรวจของ Economic Intelligence Center (EIC) สะท้อนว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่กำลังเผชิญปัญหาสำคัญ 3 ด้านและอาจจะมีมากขึ้น ซึ่งจะยิ่งตอกย้ำความเปราะบางของภาคครัวเรือน ได้แก่ ปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย ปัญหาการเก็บออมและปัญหาด้านการชำระหนี้ คาดว่าใน 6 เดือนข้างหน้า ปัญหาเหล่านี้จะยังอยู่ในระดับน่ากังวลจากรายจ่ายที่เพิ่มเร็วกว่ารายได้และอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น

 

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics มองว่า ภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังเข้าสู่ช่วงชะลอตัวตามการลดลงของกำลังซื้อ จากอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่ยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องจากราคาพลังงานเป็นหลัก ประกอบกับธนาคารกลางประเทศต่างๆ อยู่ในช่วงเร่งขึ้นดอกเบี้ย ทำให้ต้นทุนทางการเงินโดยรวมทั่วโลกเพิ่มขึ้น

ขณะที่รายได้ของครัวเรือนส่วนใหญ่ยังขยายตัวได้อย่างจำกัด ปัจจัยเหล่านี้ได้ส่งผลบั่นทอนกำลังซื้อของครัวเรือนทั่วโลกโดยรวม และนำมาสู่การปรับลดการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจไทย จากการส่งออกที่ชะลอตัวตามไปด้วย

 

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เห็นถึงเศรษฐกิจโลกเผชิญความเสี่ยงที่จะชะลอตัวกว่าที่คาด ประมาณการเติบโตของจีดีพีในประเทศสำคัญๆ ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และจีน ถูกปรับลดลง โดยที่เศรษฐกิจยุโรปได้เข้าสู่ภาวะถดถอยในครึ่งปีหลัง ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อของหลายประเทศต่างอยู่ในระดับสูงแสดงให้เห็นถึงการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

 

ขณะที่ไทย กำลังได้รับแรงกดดันจากต้นทุนการผลิตที่พุ่งสูงขึ้น จากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าจาก 4 บาท เป็น 4.72 บาทต่อหน่วย จะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน และต้นทุนการประกอบการ ที่จะส่งผ่านมายังผู้บริโภคอีก โดยภาคอุตสาหกรรมมีต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 20 - 30 % ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด และในส่วนของภาคบริการ เช่น ธุรกิจโรงแรม มีต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเกือบ 30% ของต้นทุนทั้งหมด

 

นอกจากนี้ การปรับขึ้นค่าธรรมเนียม FIDF ของธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 จะส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้สูงขึ้น ภายใต้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมทั้ง ต้นทุนด้านแรงงาน จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่ 8-22 บาทต่อวัน ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565

 

ที่กล่าวมาทั้งหมด ทำให้เห็นสัญญาณว่า ช่วงระยะเวลาที่เหลือของปีนี้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะแผ่วลง จากภาวะเงินเฟ้อ ที่มีปัจจัยมาจากต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้นเกือบทุกด้าน กระทบกับการบริโภคลดลง ฉุดเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญสะดุดลงได้