ไม่ต้องเสียเวลาถกเถียงกันว่า สถานการณ์น้ำท่วมเวลานี้มากหรือน้อยกว่าปี 2554 เพราะหลายพื้นที่อาทิ ย่านลาดกระบัง ที่่เมื่อก่อนไม่เคยท่วม เวลานี้เจอน้ำท่วมขังยืดเยื้อ 4-5 วันแล้ว โดยยังไม่รู้อนาคตว่าจะลดได้เมื่อไหร่ ขณะที่กรุงเทพฯ โซนเหนือ ต่อเนื่องนนทบุรี และ ปทุมธานี ยังเป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมรายวัน เขย่าขวัญเพิ่มว่า นี่ยังไม่ถึงช่วงเสี่ยงสูงสุด ตั้งแต่กลางเดือน ก.ย. จนถึงปลายเดือนต.ค. จุดนัดพบ 3 น้ำ คือ น้ำเหนือหลากมาถึง น้ำทะเลหนุนสูง และน้ำฝนจากท้องฟ้า ที่ปีนี้ฝนชุก ฝนหนัก ที่แนวโน้มยังจะมีมาอีก ที่้ต้องบริหารจัดการกันอย่างละเอียด
แต่ภาพที่เกิดขึ้นคือความโกลาหล ของการรับมือน้ำท่วมที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการไม่ประสานงานระหว่างหน่วยงานท้องถิ่นที่ดูแลระดับพื้นที่ กับกรมชลประทาน ที่รับผิดชอบการบริหารจัดการน้ำในภาพใหญ่ ความไม่พร้อมของเครื่องจักรเครื่องมือ จนมีเสียงเรียกร้องหา “วอร์รูม” สู้น้ำท่วม ดังกระหึ่ม
หน่วยงานรัฐเริ่มขยับรับมือผลกระทบแล้ว เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) สั่งตั้งศูนย์อำนวยการและประสานงานด้านประกันภัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากสถานการณ์น้ำท่วมทั่วประเทศ เพื่ออำนวยการและประสานงานด้านการประกันภัยต่าง ๆ
กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ประสานห้างค้าปลีกให้เตรียมแผนรองรับ เพิ่มสต๊อกสินค้า โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในการครองชีพ ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้าน ให้เพียงพอและไม่ขาดตอน รองรับความต้องการของประชาชนทุกพื้นที่ ป้องกันปัญหาสินค้าขาดแคลน และดูแลราคาสินค้าไม่ซ้ำเติมความเดือดร้อน หรือจัดโปรโมชั่นลดราคาเพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพ
ต่อสถานการณ์น้ำท่วมที่เขม็งเกลียวเพิ่มขึ้นนี้ ล่าสุด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรักษาการนายกรัฐมนตรี สั่งการกระทรวงมหาดไทย (มท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพิ่มความเข้มการขับเคลื่อน 13 มาตรการ รับมือฤดูฝนร่วมกันทั่วประเทศจริงจัง โดยให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) ลงกำกับติดตามในภาพรวม เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาอุทกภัยที่กำลังเกิดขึ้นหลายพื้นที่ในภาพรวมอย่างเป็นระบบ
สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล กำชับให้ สทนช. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และ กรมชลประทาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกองทัพ ช่วยสนับสนุนทำงานร่วมกับพื้นที่อย่างใกล้ชิด เร่งกำจัดขยะและวัชพืชที่ขวางทางน้ำ นำเครื่องสูบน้ำ เรือผลักดันน้ำ เครื่องมือช่างเข้าไปช่วยเหลือ ขสมก.เพิ่มความถี่รถบริการพื้นที่น้ำท่วมขัง และตำรวจอำนวยการจราจรลดความเดือดร้อนการสัญจรของประชาชนง
นอกจากกำชับความเข้มข้นการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งเป็นการ“กำกับบังคับบัญชา”หน่วยงานที่รับผิดชอบแล้ว สังคมต้องการรับทราบ “ข้อมูลข่าวสาร” สถานการณ์น้ำท่วมที่เป็นจริง มีเอกภาพ เห็นภาพใหญ่ ชัดเจน ทันสถานการณ์ เพื่อจะได้เตรียมตัวรับมือได้ทันท่วงที แทนที่จะฝากความหวังไว้กับสื่อสังคมด้วยกันเอง หรือ“ไลฟ์”จากหน่วยงานนั้น ๆ ที่กลายเป็นเห็นแต่ปัญหาตรงหน้าเฉพาะจุด และหลายครั้งจุดชนวนความแตกตื่น มากกว่าให้สติแก้ปัญหา