อีอีซีต้องการพลัง ผลักดันต่อเนื่อง

20 ส.ค. 2565 | 00:30 น.

บทบรรณาธิการ

การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ผ่านมาแล้ว 5 ปี เป็นการปรับฐานอุตสาหกรรมของประเทศครั้งใหญ่สุด นับตั้งแต่โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ที่มีการพลิกเปลี่ยนประเทศไปสู่ฐานการผลิตอุตสาหกรรม ผลักดันให้เศรษฐกิจไทยมีการอัตราการเจริญเติบโต มีการจ้างงาน มีอุตสาหกรรมต่อเนื่องเกิดขึ้นกระจายในหลายพื้นที่ ปรับเปลี่ยนจากการผลิตวิถีเกษตรดั้งเดิมมาเป็นการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม
 

การพัฒนาอีอีซี เพื่อให้เป็นแหล่งลงทุนใหม่ สร้างสรรค์นวัตกรรมการผลิตใหม่ๆ ในรอบ 5 ปีทีผ่านมา ถือเป็นก้าวแรกที่ประสบความสำเร็จพอสมควร โดยมีเงินลงทุนที่ได้รับการอนุมัติจากภาครัฐและเอกชนราว 1.84 ล้านล้านบาท จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.7 ล้านบาทบาท เป็นการร่วมลงทุนรัฐและเอกชน ใน 4 โครงการโครงสร้างพื้นฐานหลัก 6.55 แสนล้านบาท ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตเภาและเมืองการบิน โครงการพัฒนาท่าเรือแหลงฉบัง ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ขณะที่บีโอไอออกบัตรส่งเสริม 1.09 ล้านล้านบาท

การขับเคลื่อนอีอีซี ดึงเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย เข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก ดึงนักลงทุนรายใหญ่ เข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีหลายราย ทั้งบริษัท EVLOMO เกรท วอลล์ มอเตอร์ โดยเป็นพื้นที่ก้าวกระโดดสำคัญของอุตสาหกรรมผลิตอีวี มีบริษัทในห่วงโซ่การผลิตกว่า 1,700 บริษัท และเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์อีวี มีค่ายรถยนต์เกือบทั้งหมดสนใจที่จะลงทุน และยังเป็นศูนย์กลางการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ มีกำลังผลิตสูงสุดรวมกันสูง 5 หมื่นเมกะวัตต์
 

ปี 2566 - 2570 หรือใน 5 ปี ข้างหน้า จะเป็นระยะที่ 2 ของอีอีซี มีการวางแผนรองรับลงทุนเพิ่มอีก 2.2 ล้านล้านบาท ในการต่อยอดโครงสร้างพื้นฐาน อย่างเมืองการบินภาคตะวันออกและการพัฒนาพื้นที่ระยะ 30 กิโลกเมตร รอบสนามบินอู่ตะเภา การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าหลักและยังต้องการดึงดูดนักลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพิ่มขึ้นอีก 1.5 แสนล้านบาทต่อปี รวม 5 ปี เงินลงทุน 7.5 แสนล้านบาท และยังเป็นการลงทุนจากฐานเดิมอีก 2.5 แสนล้านบาทต่อปี รวมประมาณ 1.25 ล้านล้านบาท

อีอีซียังมีแผนพัฒนาโซนศูนย์สำนักงานภูมิภาคของธุรกิจไทยและต่างประเทศที่มีธุรกิจในอีอีซี และศูนย์ราชการสำคัญ โซนศูนย์กลางการเงินอีอีซี ที่จะสนับสนุนการลงทุน Fin Tech และ Green Board โซนศูนย์การแพทย์แม่นยำและการแพทย์เพื่ออนาคต โซนศูนย์การศึกษา วิจัย-พัฒนาระดับนานาชาติ โซนศูนย์ธุรกิจอนาคต พัฒนาพลังงานสะอาด กลุ่ม Digitization และ 5G หากสำเร็จตามเป้าหมายในปี 2570 การพัฒนาจะช่วยยกระดับรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรของประเทศเพิ่มเป็น 3.5 แสนบาทต่อคนต่อปี ผลผลักดันไทยขึ้นเป็นประเทศพัฒนาแล้วในปี 2572 เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศขยายตัวที่ 5 %
 

อีอีซียังต้องการแรงผลักดันและสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพลังผลักดันจากภาคการเมือง ที่ต้องมองให้เห็นเป้าหมายเดียวกัน เป็นหมุดหมายสำคัญของชาติ ไม่มองเป็นผลงานของใครคนใดคนหนึ่งหรือหากมีการปรับเปลี่ยนทางการเมืองแล้ว แรงสนับสนุนลดน้อยถอยลง การพัฒนา การเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันของประเทศ อาจจะรั้งท้ายเมื่อเทียบกับในภูมิภาคนี้และคนไทยก็ยังคงจมปลักกับความยากจนเหมือนเดิม