รายได้ "กิจการ" และรายได้ "เจ้าของ" ควรแยกให้ชัดเจน

29 ก.ค. 2564 | 20:59 น.

โดย นรินทร์ เอกวงศ์วิริยะ นักวางแผนการเงิน CFP®

ปัจจุบันคนรุ่นใหม่หันมาทำธุรกิจส่วนตัวกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค้าขาย บริการ หรือรับจ้าง เมื่อถึงเวลายื่นภาษีหลายคนยื่นภาษีเงินได้บุคคลและใช้วิธีการหักค่าลดหย่อนแบบเหมาตามประเภทของธุรกิจ ขณะที่บางกิจการยื่นภาษีนิติบุคคลและจัดทำบัญชีเพื่อใช้ยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่ก็ไม่ได้แยกระหว่างเงินได้นิติบุคคลและเงินได้บุคคลออกจากกัน

เจ้าของกิจการเหล่านี้จะรู้ได้อย่างไรว่าธุรกิจที่กำลังทำอยู่มีกำไรหรือขาดทุน หากเกิดปัญหาสภาพคล่องหดหาย จะสามารถแยกปัญหาว่าเกิดจากธุรกิจหรือส่วนตัวได้หรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้นยังอาจทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่สูงเกินโดยไม่รู้ตัว

รายได้ \"กิจการ\" และรายได้ \"เจ้าของ\" ควรแยกให้ชัดเจน

ร้าน A และ ร้าน B มีรายรับที่เท่ากัน แต่มีค่าใช้จ่ายที่ต่างกัน ทำให้มีงบการเงินสิ้นปีต่างกัน ร้าน A ขาดทุน 1 แสน ขณะที่ร้าน B มีกำไร 1 แสน กำไรและขาดทุนที่เกิดขึ้นเกิดจากความแตกต่างของค่าใช้จ่ายส่วนตัวของเจ้าของที่ไม่ได้แยกออกมา ร้าน A มีค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจรวม 6 แสนบาท และมีค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลอีก 5 แสนบาท ขณะที่ร้าน B มีค่าใช้จ่ายทางธุรกิจ 6 แสนบาทเท่ากัน แต่มีค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล 3 แสนบาท ร้าน A จะรู้หรือไม่ว่าสาเหตุของการขาดทุนมาจากค่าใช้จ่ายส่วนตัวหรือไม่เมื่อไม่ได้แยกรายรับรายจ่ายออกจากกัน

เราสามารถพบเจอเจ้าของร้าน A และร้าน B ได้ทั่วไป โดยทั้งสองคนอาจไม่รู้ว่าตัวเองใช้จ่ายส่วนตัวไปเท่าไหร่เพราะธุรกิจยังมีกระแสเงินสดหมุนเวียนตลอดเวลา จนกระทั่งกิจการเกิดปัญหาสภาพคล่องหรือการขาดทุน วิธีการที่ดีและง่ายคือการกำหนดรายได้ของเราให้ชัดเจนและบริหารจัดการเงินแต่ละก้อนตามวัตถุประสงค์ที่ถูกต้อง แหล่งรายได้ที่มีความชัดเจน เมื่อเกิดปัญหาเราจะแก้ปัญหาได้ตรงจุดและเราก็จะรู้ว่าเราใช้จ่ายได้มากน้อยแค่ไหน
 

รายได้และรายจ่ายที่ชัดเจนกับการวางแผนการเงิน
รายได้ \"กิจการ\" และรายได้ \"เจ้าของ\" ควรแยกให้ชัดเจน

คุณหญิงไม่ได้แบ่งรายได้ของตัวเองออกจากธุรกิจ และรวมค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นค่าใช้จ่ายของธุรกิจด้วยเพราะเข้าใจว่าเป็นธุรกิจของตัวเอง เมื่อครบปีมีรายได้รวม 1 ล้านบาท มีค่าใช้จ่าย 8 แสนบาท (รวมค่าใช้จ่ายของคุณหญิงจำนวน 3 แสนบาท) งบการเงินของธุรกิจมีกำไร 2 แสนบาท คำถาม : คุณหญิงมีรายได้เท่าไหร่?

เมื่อต้องวางแผนการเงินสำหรับเป้าหมายในอนาคต บ่อยครั้งที่เจ้าของธุรกิจเหล่านี้เกิดความสับสนระหว่างรายได้ของธุรกิจ กับรายได้ของเจ้าของ หลายคนนำรายได้ของธุรกิจมาใช้เป็นรายได้ของตัวเองด้วยความเข้าใจผิด
รายได้ของธุรกิจคือรายรับที่ธุรกิจได้รับจากการดำเนินงาน ธุรกิจมีรายได้มาก ไม่ได้หมายความว่าเป็นธุรกิจที่ดีถ้าหากมีรายรับน้อยกว่ารายจ่าย สิ่งที่ทำให้ธุรกิจดำเนินกิจการต่อไปได้ก็คือ กำไรและสภาพคล่องของธุรกิจ กิจการลักษณะนี้เมื่อเกิดผลกระทบขึ้นมาก็เท่ากับเกิดกระทบกับคุณหญิงโดยตรง เพราะสภาพคล่องที่ผูกติดกันระหว่างคุณหญิงและธุรกิจ ทำให้ไม่มีแหล่งรายได้สำรอง และไม่มีสภาพคล่องส่วนบุคคล แล้วถ้าแยกรายได้บุคคล ออกจาก รายได้ธุรกิจล่ะ?

รายได้ \"กิจการ\" และรายได้ \"เจ้าของ\" ควรแยกให้ชัดเจน
สมมติว่าคุณหญิงทำการแยกการเงินธุรกิจและส่วนตัวด้วยการรับเงินเดือนปีละ 3 แสนบาท เมื่อถึงสิ้นปีธุรกิจมีกำไร 2 แสนบาท แบ่งเงินปันผลออกจากกิจการ 1 แสนบาท กำไรที่เหลือหลังจากแบ่งเงินปันผล 1 แสนใช้เป็นเงินทุนของกิจการ

เมื่อแยกเงินออกจากกันทำให้เห็นได้ว่าธุรกิจของคุณหญิงมีรายได้ 1 ล้านบาท มีกำไร 2 แสนบาท เท่ากับมีกำไรต่อรายได้ 20% ขณะที่ คุณหญิงมีรายได้จากเงินเดือน 3 แสนบาท และเงินปันผลอีก 1 แสนบาท รวมเป็นรายได้ 4 แสนบาท ทำให้คุณหญิงสามารถบริหารค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับรายรับของตัวเอง ทั้งยังนำเงินออมไปลงทุนเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติมหรือเพื่อเป้าหมายการเงินต่างๆ

การแยกกระเป๋าเงินส่วนตัวออกจากกระเป๋าเงินของกิจการ เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างสุขภาพทางการเงินสำหรับผู้ที่มีรายได้จากธุรกิจส่วนตัว แค่เพียงแบ่งเงินตามวัตถุประสงค์หรือหน้าที่ของเงินแต่ละส่วน เช่น เงินค่าจ้างหรือเงินเดือนให้ตัวเราเอง เงินหมุนเวียนของธุรกิจ เงินลงทุนเพื่อขยายกิจการ หรือเงินลงทุนส่วนตัวเพื่อสร้าง passive income และยังทำให้มีความชัดเจนในการบริหารและทำบัญชีธุรกิจของนิติบุคคล

ในทางบัญชีนั้นเงินที่ถูกไปใช้โดยที่ไม่มีหลักฐานสามารถทำให้เกิดบัญชีลูกหนี้กรรมการ และเจ้าของธุรกิจมีหน้าที่นำเงินมาคืนบริษัทอีกด้วย และที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือช่วยไม่ให้เกิดปัญหาสภาพคล่องหรือขาดเงินสดในการบริหารธุรกิจในวันข้างหน้าอีกด้วย