เติบโตตลอดชีวิต

04 ต.ค. 2564 | 05:45 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ต.ค. 2564 | 12:50 น.

บทความโดย : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า ( Value Investor ) ชั้นแนวหน้า

คนที่รับราชการหลายคนที่อายุครบ 60 ปี พอถึงวันที่ 30 กันยายน ก็จะต้องเกษียณอายุ  และถ้าไม่ได้มีกิจการหรือกิจกรรมอื่น ๆ รองรับ เขาก็มักจะไม่ต้องทำอะไรเป็นเรื่องเป็นราวอีกต่อไป  แต่ส่วนใหญ่ก็น่าจะสามารถมีชีวิตต่อไปอย่างสะดวกสบายไม่ได้ลำบากอะไรนักเพราะมีรายได้จากบำเหน็จบำนาญหรือเงินก้อนโตจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการที่น่าจะเพียงพอที่จะใช้จ่ายไปตลอดชีวิต อย่างไรก็ตาม  “ชีวิต” ในมิติหลาย ๆ  ด้านซึ่งรวมไปถึงความสุขหรือความก้าวหน้าที่ดำเนินมาตลอดหลายสิบปีก็อาจจะหยุดไปด้วย  ถ้าเป็นในสมัยก่อนที่อายุขัยของคนไทยยังไม่สูง  อายุ 60-70 ปีก็ตายแล้ว  การเกษียณสำหรับหลายคนก็คือการ “นับถอยหลัง” นี่เป็นอะไรที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องน่าเศร้า  และเราไม่จำเป็นต้องติดยึดกับรูปแบบนี้  ว่าที่จริงมันไม่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะหยุดทำกิจกรรมเมื่ออายุ 60 ปี  ผมคิดว่าสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคนเราก็คือการทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างค่อนข้างคึกคักไปเรื่อย ๆ  จนถึงวันตาย

นอกจากนั้น  ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นไปอีกก็คือ  อย่าทำให้ชีวิตหยุดหรือถอยหลัง  ชีวิตที่ดีนั้นควรจะเติบโตไปเรื่อย ๆ  --ตลอดชีวิต  และ “ไอดอล” คนหนึ่งของผมก็คือ  วอเร็น บัฟเฟตต์ ที่อายุ 90 ปีแล้วแต่ก็ยังทำงานและเติบโตไปเรื่อย ๆ

ผมมีเพื่อนที่เป็นผู้บริหารระดับสูงในองค์กรขนาดใหญ่ที่เกษียณจากงานประจำที่หนักและเคร่งเครียด  เขาบอกกับผมว่า  ทันทีที่เกษียณเขาท่องเที่ยวไปแทบจะทั่วโลกและมีความสุขมากเพราะไม่มีภาระหนักสมองอีกต่อไป  อย่างไรก็ตาม  ไม่กี่เดือนหลังจากกลับจากการท่องเที่ยวเขาก็รู้สึกเหงาและว้าเหว่วัน ๆ  ไม่รู้ว่าจะทำอะไร  ตื่นเช้าขึ้นมาก็ไม่ต้องไปที่ทำงาน   เขาไม่มีเพื่อนในที่ทำงานที่จะพูดคุยปรึกษา  ไม่มีงานที่จะต้องทำ  ไม่ต้องพูดถึงเพื่อนเที่ยวซึ่งไม่มีมานานแล้วเพราะทุกคนต่างก็มีภาระและต่างก็มีครอบครัวของตนเอง  เขาบอกว่าอยากที่จะทำงานเป็นที่ปรึกษาหรือเป็นกรรมการของบริษัทหรือหน่วยงานอะไรก็ได้  แต่ผมดูแล้ว  คงไม่มีใครจ้างหรือเชิญ  เขาไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญและไม่ได้มีความรู้หรือชื่อเสียงพอ  ผมคิดต่อไปว่าถ้าเขาชอบอ่านหนังสือแบบผม  การอ่านหนังสือก็น่าจะช่วยให้เขาหายเบื่อไปได้มากอย่างที่ผมทำมาตลอด  ว่าที่จริงผมเอง “เกษียณ” ตัวเองตั้งแต่อายุ 52 ปี  จนถึงวันนี้ก็ยังรู้สึกว่าไม่มีเวลาอ่านหนังสือพอ  แน่นอนว่าผมทำงานน้อยลงมากเมื่อเทียบกับช่วงที่ยังทำงานประจำ  แต่ผมกลับโตเร็วขึ้นและโตไปเรื่อย ๆ พอร์ตใหญ่ขึ้น  บ้านใหญ่ขึ้น  ท่องเที่ยวมากขึ้น  ชีวิตประสบความสำเร็จมากขึ้น

การเติบโตของชีวิตนั้นเป็นเรื่องที่ผมคิดว่าสำคัญมากเท่า ๆ กับการมีงานทำ  มันทำให้เราก้าวหน้าในทุก ๆ  มิติและทำให้ชีวิตมีความสุขขึ้นเพราะเราจะมีความพึงพอใจมากขึ้น  คนจำนวนไม่น้อยนั้น  ในช่วงชีวิตโดยเฉพาะในช่วงที่อายุยังน้อยเขาเติบโตเร็วมาก  เขาฉลาดและทุ่มเทในการเรียนหนังสือจนจบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับประเทศและระดับโลกด้วยคะแนนแทบจะสูงสุดและได้เข้าทำงานในหน่วยงานที่มีชื่อเสียง  แต่แล้วหลังจากนั้นเขาก็แทบจะ “หยุด” เรียนรู้เพิ่มเติมส่วนหนึ่งอาจจะเพราะ “Burnout” ร่างกายจิตใจและอารมณ์เหนื่อยล้าจากการทุ่มเทที่มากเกินไปและเขาอาจจะรู้สึกว่าประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิตแล้ว  แต่นั่นเป็น “ภาพลวงตา”ความรู้ที่เขาเรียนจากห้องเรียนเป็นเพียงเสี้ยวเล็ก ๆ  และอาจจะเป็นแค่พื้นฐานในการศึกษาต่อ  ความรู้และความสามารถที่แท้จริงนั้นเกิดขึ้นหลังจากนั้นซึ่งมีเวลาศึกษาต่อเป็นสิบ ๆ ปี ถ้าเราศึกษาไปเรื่อย ๆ ไม่มีวันหยุด  การเลิกศึกษาต่อหรือเรียนรู้น้อยลงมากหลังจากเรียนจบนั้นทำให้ความรู้และความสามารถหยุดนิ่งและถดถอยลงเรื่อย ๆ  ผมเองมีเพื่อนที่เป็นแนวนี้และก็เห็นได้ชัดว่าเมื่อเพื่อนทุกคนต่างก็มีอายุมากขึ้น  คนที่ประสบความสำเร็จสูงกลับไม่ใช่คนที่เรียนเก่งที่สุด  แต่เป็นคนที่พัฒนาตนเองตลอดเวลามากกว่า

บางคนเมื่อเข้าทำงานประจำในสายงานของตนเองก็ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว “เป็นจรวด”  และก็อาจจะไปถึงจุดสุดยอดเป็น CEO หรือผู้ที่ได้รับตำแหน่งหรือได้รับรางวัลหรือการยอมรับในระดับที่สูงสุดหรือสูงลิ่วตั้งแต่อายุยังน้อยมาก  แต่ปัญหาก็คือ  เมื่อเขาประสบความสำเร็จ  “สูงสุด”  แล้ว  มันก็ไม่มีที่ที่สูงกว่าที่จะก้าวเดินต่อไป  เขาติดอยู่กับตำแหน่งนั้นและก็ไม่สามารถและไม่ยินดีที่จะทิ้งหรือเปลี่ยนสถานะนั้นจนกระทั่ง “เกษียณอายุ” หรือต้องออกจากสถานะนั้นเนื่องจากปัญหาหรือความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น  ประเด็นก็คือ  จุดสูงสุดนั้น  เมื่อเทียบกับจุดสูงสุดในสายอื่นอาจจะไม่ได้สูงเท่าไร  ดังนั้น  ความสำเร็จในชีวิตก็จะไม่ได้มากเท่าที่คิด  ประเด็นต่อมาที่ผมคิดว่าหนักหนาพอสมควรก็คือ  การอยู่ “ที่เดิม” หรือตำแหน่งเดิมเป็นเวลานานและแทบจะไม่มีการเติบโตต่อไปเลยนั้นอาจจะไม่ใช่ “ความสุข” ที่แท้จริง  มนุษย์เรานั้น  ผมคิดว่ามียีนที่พึงพอใจต่อการ “เติบโต” หรือ “ความก้าวหน้า” มากกว่าการหยุดนิ่งแม้ว่าจุดที่หยุดนิ่งนั้นจะสูงกว่าจุดที่กำลังเติบโต  ดังนั้น  การเติบโตที่เร็วเกินไปบางทีก็เป็นผลลบเหมือนกันโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับคนที่โตไปเรื่อย ๆ  อย่างช้า ๆ  แต่มั่นคง

งานและอาชีพแต่ละอย่างนั้นมีธรรมชาติของการเติบโตไม่เหมือนกัน  งานที่ต้องอาศัยความสามารถและ/หรือความแข็งแรงของร่างกายมักจะโตไปได้เร็วและก็จะถึงจุดสูงสุดเร็วมาก  ชีวิตต่อจากนั้นถ้าไม่เปลี่ยนแปลงความสำเร็จก็จะหยุดอยู่แค่นั้น  นักกีฬาแต่ละอย่างมีช่วงชีวิตค่อนข้างสั้น  นักวิ่งเร็วนั้นไม่กี่ปีก็ไม่สามารถแข่งขันได้แล้ว  ฟุตบอลอาจจะเล่นได้ถึง 40 ปีก็ถือว่าเก่งมาก  เทนนิสก็น่าจะพอ ๆ กัน  กอล์ฟอาจจะเล่นได้นานขึ้นหน่อย  อาชีพนักแสดงก็มีช่วงไพร์มหรือช่วงที่ประสบความสำเร็จสูงมากโดยเฉพาะในประเทศไทยที่คนยังดูที่รูปร่างหน้าตาอยู่มาก  เช่นเดียวกับนักร้องที่อาจจะอยู่ได้นานกว่าเล็กน้อย  ทั้งหมดทำให้คนที่ทำอาชีพเหล่านั้นอาจจะต้องประสบกับความรู้สึกที่หดหู่มากกว่าคนอาชีพอื่นเมื่อพบว่าความดังหรือความรุ่งเรืองสุดยอดของตนนั้นถดถอยลงไปเรื่อย ๆ  ตามเวลาที่ผ่านไป งานที่ใช้ความคิดและความสามารถทางสมองและอารมณ์เช่น  งานบริหารบริษัทหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ  และงานวิเคราะห์ทั้งหลายรวมถึงการลงทุนนั้น  เป็นสิ่งที่สามารถเติบโตไปได้เรื่อย ๆ  โดยเฉพาะเรื่องของการลงทุนระยะยาวแบบ VI นั้น  สามารถทำไปได้แทบจะตลอดชีวิต  อย่างไรก็ตาม  คนที่ศึกษาและพัฒนาตนเองไปเรื่อย ๆ  ตลอดชีวิตนั้นก็อาจจะมีไม่มากนัก  เหตุผลอาจจะเป็นเพราะว่าการวัดหรือการแข่งขันในงานหรือในเกมไม่ชัดเจนรวมถึงความหลากหลายของธุรกิจหรือหน่วยงานและการเปลี่ยนแปลงของภาวะอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม  สิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้ทำให้ไม่เกิดแรงกระตุ้นที่จะเรียนรู้เพื่อให้เติบโตตลอดชีวิต  แต่นี่ทำให้คนที่ตระหนักและมุ่งมั่นที่จะทำอย่างต่อเนื่องจะได้เปรียบในการแข่งขัน

ในชีวิตของผมเองนั้น  เมื่อมองย้อนหลังก็พบว่าตนเอง “โชคดี” ที่มีชีวิตที่เติบโตไปอย่างช้า ๆ  แต่มั่นคง  เริ่มตั้งแต่เกิดก็ได้เห็น “ความก้าวหน้า” ของครอบครัวที่พ่อแม่อพยพจากเมืองจีนมาหางานทำในประเทศไทย  ตั้งแต่อาศัยอยู่ในบ้านหลังคามุงจากกลายเป็นสังกะสีและมีหลอดไฟดวงเดียวทั้งบ้านโดยไม่มีน้ำประปาใช้  ต่อมาก็เซ้งบ้านที่เป็นตึกแถว สุดท้ายก็มีบ้านขนาดใหญ่เป็นของตัวเองหลังจากอายุครบ 60 ปีไปแล้ว  การเรียนก็เริ่มจากโรงเรียนวัดมาเป็นโรงเรียนชั้นนำและมหาวิทยาลัยระดับประเทศและสุดท้ายไปเรียนต่างประเทศ  ทั้งหมดใช้เวลายาวนาน  ในด้านของการทำงานก็เริ่มจากบริษัทแบบครอบครัวมาเป็นบริษัทชั้นนำของประเทศและสุดท้ายก็กลายเป็นนักลงทุนที่มีอิสรภาพทางการเงินและเป็นที่ยอมรับในวงสังคม  แต่กว่าจะถึงจุดนั้นอายุก็ใกล้ 50 ปีไปแล้ว  ในด้านของความรู้ ความคิดเห็นและมุมมองต่อสังคมและโลกนั้น  ผมคิดว่ามีการ “เติบโต” มาอย่างช้า ๆ  และมั่นคงมาตลอดจนถึงวันนี้  การเติบโตที่ว่าก็คือการที่สามารถที่จะเข้าใจพฤติกรรมต่าง ๆ  ของสังคมและมนุษย์ทั่วโลกและการปรับตนเองให้อยู่กับมันอย่างเสมอภาค  ภราดรภาพและมีความสุข

ทั้งหมดนั้นผมคิดว่ามาจากแนวทางและประสบการณ์สำคัญ ๆ ดังต่อไปนี้คือ  ข้อแรก  ตั้งอยู่ในความสมถะ ไม่ทะนงตนเองเกินไป  สอง คือการไม่หยุดศึกษาและอ่านหนังสือตลอดชีวิต  สาม  คือพยายามทำอะไรที่เป็นการ  “ทบต้น” ความหมายคือ เมื่อทำอะไรสำเร็จไปแล้ว  ก้าวต่อไปก็ต้องต่อยอดจากความสำเร็จนั้นไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ตลอดเวลา  สี่  คือพยายามไม่ทำอะไรซ้ำนานเกินไปโดยเฉพาะถ้าสิ่งที่ทำนั้นไม่ได้นำไปสู่ความสำเร็จมากขึ้นอีกแล้ว  ผมเคยลองนึกย้อนหลังดูก็พบว่าประมาณทุก 10 ปีชีวิตผมจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทุกครั้ง  และสุดท้ายก็คือ  ชีวิตผมดีขึ้นซึ่งรวมถึงความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นเกือบทุกปีเป็นเวลาเกือบ 70 ปีแล้ว  และแม้ว่าการดีขึ้นแต่ละปีนั้นมักจะเกิดขึ้นทีละน้อยแต่มัน “ทบต้น” มาตลอด  ซึ่งทำให้ความแตกต่างระหว่างวันนี้กับวันที่ผมยังเป็นเด็กเล็กนั้นแตกต่างราวกับ “ฟ้ากับดิน”  

อย่างไรก็ตาม  ผมยังจำชีวิตในช่วงเวลาต่าง ๆ  นั้นได้เสมอและเตือนตัวเองว่าผมมาถึงวันนี้ได้อย่างไร  ซึ่งข้อสรุปก็คือ  ผมไม่ได้มีความสามารถอะไรเป็นพิเศษ  ผมเพียงแต่ค่อย ๆ ทำเพิ่มขึ้นและดีขึ้นทีละเล็กละน้อยในสิ่งที่ไม่ได้ยากเกินไปทุกปี