ชำระเบี้ยประกันชีวิตไม่ไหว ทำอย่างไรดี

23 ม.ค. 2565 | 07:12 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ม.ค. 2565 | 14:11 น.

บทความโดย : นิชฌานี ฉันทศาสตร์ นักวางแผนการเงิน CFP®

สำหรับผู้ที่ทำประกันชีวิตมาได้ระยะเวลาหนึ่ง แล้วเกิดปัญหาไม่สามารถชำระเบี้ยประกันได้ทันตามกำหนด อย่างช่วงนี้ที่การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้หลายธุรกิจหยุดชะงัก หลายคนตกงานขาดรายได้ หรือบางคนยังมีงานทำ แต่ถูกปรับลดเงินเดือน ทำให้ไม่มีเงินเพียงพอมาชำระเบี้ยประกัน หรือได้กันเงินไว้สำหรับชำระเบี้ยประกันแล้ว แต่มีเหตุฉุกเฉิน เกิดเจ็บป่วย หรือเกิดอุบัติเหตุ ต้องนำเงินออมนั้นมาใช้จ่าย เมื่อประสบเหตุการณ์เช่นนี้ เราสามารถทำอย่างไรได้บ้างนั้น บทความนี้มีคำแนะนำ

 

หากเราทำประกันชีวิตไว้ แต่เมื่อใกล้วันครบกำหนดชำระเบี้ยประกัน ไม่สามารถชำระค่าเบี้ยประกันได้ ทางออกเมื่อชำระเบี้ยประกันไม่ไหว มี 3 แนวทางหลักๆ ด้วยกัน

 

  1. ชำระเบี้ยประกันในช่วงระยะเวลาผ่อนผัน
  2. ขอเปลี่ยนแปลงงวดการชำระเบี้ยประกัน
  3. หยุดจ่ายเบี้ยประกัน

 

 แนวทางแรก “ชำระเบี้ยประกันในช่วงระยะเวลาผ่อนผัน” 

 

เมื่อถึงวันครบกำหนดชำระเบี้ยประกัน แต่ผู้ทำประกันยังไม่ได้ชำระค่าเบี้ยประกัน ยังไม่ต้องเป็นกังวลว่ากรมธรรม์จะหมดความคุ้มครองลง เนื่องจากบริษัทประกันจะมีระยะเวลาผ่อนผันให้ 31 วันนับตั้งแต่วันครบกำหนดชำระเบี้ยประกัน โดยผู้ทำประกันยังคงได้รับความคุ้มครองตามปกติ ซึ่งช่วงระยะเวลาผ่อนผันนี้ ผู้ทำประกันยังพอมีเวลาในการจัดหาเงินให้เพียงพอสำหรับชำระค่าเบี้ยประกัน หรือหากบริษัทประกันให้ชำระเบี้ยประกันด้วยบัตรเครดิตได้ ก็จะทำให้รอบบัญชีในการชำระเงินเลื่อนออกไปอีก ทำให้เกิดความคล่องตัวในการชำระเบี้ยประกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องมั่นใจว่า เมื่อถึงกำหนดชำระบัตรเครดิต จะมีเงินเพียงพอ เพื่อไม่ต้องเสียดอกเบี้ยบัตรเครดิต

 

 แนวทางที่สอง “ขอเปลี่ยนแปลงงวดการชำระเบี้ยประกันภัย” 

 

โดยทั่วไปการชำระเบี้ยประกันสามารถชำระเป็นรายปี หรือจ่ายเป็นงวดน้อยกว่า 1 ปี เช่น รายเดือน ราย 3 เดือน หรือ 6 เดือน ขึ้นอยู่กับแบบกรมธรรม์ ซึ่งผู้ทำประกันสามารถสอบถามการเปลี่ยนแปลงงวดการชำระเบี้ยประกันจากบริษัทประกันหรือตัวแทนที่เราติดต่อด้วย การขอเปลี่ยนแปลงงวดการชำระเบี้ยประกัน เช่น จากรายปี เป็นราย 3 เดือน 6 เดือน ช่วยให้ไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันด้วยเงินก้อนใหญ่ แต่ค่อยๆ ทยอยจ่ายเบี้ยประกัน โดยได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์ตามเดิม อย่างไรก็ตาม ยิ่งผู้ทำประกันเลือกจ่ายเบี้ยประกันหลายงวดในแต่ละปีกรมธรรม์มากเท่าใด จำนวนเบี้ยที่ต้องจ่ายทั้งหมดใน 1 รอบปีกรมธรรม์ ย่อมเป็นจำนวนเงินที่สูงกว่าการเลือกจ่ายจำนวนงวดที่น้อยกว่า
 

 แนวทางที่สาม “หยุดจ่ายเบี้ยประกัน” 

 

สำหรับแนวทางนี้ การหยุดจ่ายเบี้ยประกัน สามารถทำได้ 3 แบบด้วยกัน

  • แบบแรก “ใช้เงินสำเร็จ” คือ เมื่อหยุดจ่ายเบี้ย ประกันยังให้ความคุ้มครองจนครบสัญญาเหมือนเดิม แต่ทุนประกันหรือวงเงินคุ้มครองจะลดลง
  • แบบที่สอง “ขยายระยะเวลา” คือ เมื่อหยุดจ่ายเบี้ย ประกันยังให้ความคุ้มครองตามทุนประกันเดิม แต่ระยะเวลาคุ้มครองจะลดน้อยลงกว่าเดิม
  • แบบที่สาม “เวนคืนกรมธรรม์” คือ การหยุดจ่ายเบี้ย แล้วได้เงินสดก้อนหนึ่งคืนทันที โดยเงินสดที่ได้ อาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าเบี้ยทั้งหมดที่จ่ายไปก็ได้

 

อย่างไรก็ตาม แนวทางการเวนคืนกรมธรรม์ อยากให้พิจารณาเป็นลำดับสุดท้าย เพราะการเวนคืนกรมธรรม์ คือ การปิด หรือยกเลิกกรมธรรม์ ทำให้สัญญาประกันสิ้นสุด ไม่มีความคุ้มครองอีกต่อไป หากเราไม่ได้ทำประกันฉบับอื่นไว้เลย หากเสียชีวิตลง จะทำให้ไม่เหลือความคุ้มครองไว้ให้ครอบครัวหรือคนข้างหลัง

 

การทำประกันชีวิตเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเป็นการวางแผนชีวิตและการเงินไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัย ชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน ถ้าเราเสียชีวิตก็ยังมีเงินมาช่วยเหลือจุนเจือครอบครัว ทั้งนี้ การชำระเบี้ยประกันชีวิตไม่ไหว อาจเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เพราะต้องมีเงินเพียงพอ และต่อเนื่องที่จะชำระเบี้ยประกันชีวิตเป็นระยะเวลาหลายปี อย่างไรก็ตาม ถ้าเราชำระเบี้ยประกันชีวิตไม่ไหวจริงๆ ก็มีทางออกให้เราได้เลือกใช้ตามเงื่อนไขของบริษัทที่เราต้องลองสอบถามรายละเอียดอีกครั้ง เพื่อพิจารณาเลือกให้เหมาะสมและได้ประโยชน์กับตัวเราที่สุด
 

ที่มา : สมาคมนักวางแผนการเงินไทย