แนวคิดนี้ต้องเตรียมเงินก้อนใหญ่ ในรูปแบบของสินทรัพย์ลงทุนที่สามารถสร้างรายได้ให้เก็บกินตลอดชีวิต หากสามารถสร้าง Net Worth อย่างที่ตั้งเป้าเกษียณไว้ได้ตาม Lifestyle ที่คิดเอาไว้ ก็จะสามารถเกษียณเร็วก่อนเวลาได้ โดยไม่ต้องทำงานไปจนถึงอายุเกษียณจริงๆ พวกเขาจะเป็นคนกำหนดอายุเกษียณด้วยตัวเอง ไม่ใช่อายุเกษียณที่กำหนดโดยนายจ้าง
เป้าหมายของคนที่ต้องการเกษียณเร็ว ไม่ใช่เพื่อการหยุดทำงาน แต่เพื่อที่จะสามารถลาออกจากงานที่ไม่ชอบ กดดัน สร้างความเครียดให้กับชีวิตจนไม่มีเวลาให้ครอบครัว และไปทำงานอะไรก็ได้ ใช้ชีวิตแบบไหนก็ได้ โดยไม่ต้องขึ้นกับรายได้ เพราะมีอิสรภาพทางการเงินเพียงพอเลี้ยงตัวเองในระยะยาวแล้ว
เรื่องท้าทายของ FIRE Movement จึงเป็น “ระยะเวลาทำงานจนเกษียณ” หากสามารถเกษียณเร็วได้ในวัยที่ยังอายุไม่มาก เช่น 35 หรือ 40 ก็จะมีโอกาสที่จะได้ใช้ชีวิตที่ชอบ ทำงานที่ชอบแบบที่เรายังมีไฟ มีแรง มีพลังอยู่
คนที่สามารถพิชิต FIRE ได้สำเร็จ มักมีเป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจน ในช่วงวัยทำงานเก็บเงิน พวกเขาเป็นคนที่สามารถใช้ชีวิตแบบสมถะได้ ใช้เงินแต่พอดี พอเพียง โดยสามารถออมเงินได้มากกว่า 50% ของรายได้ ซึ่งทำได้ยากสำหรับคนส่วนใหญ่ เพราะไม่มีวินัยเพียงพอ พวกเขาจะจัดสรรรูปแบบการชีวิตให้เอื้อต่อการมีเงินเหลือเก็บได้ เช่น ย้ายไปอยู่ใกล้ที่ทำงานเพื่อประหยัดค่าเดินทาง ทำอาหารทานเองเป็นส่วนใหญ่ ทานข้าวนอกบ้านบ้างเพื่อการสังสรรค์ ไม่สนใจชีวิตที่หรูหราฟุ่มเฟือย พวกเขาจะมีรายได้หลายทางและแสวงหาความรู้พัฒนาตัวเองอยู่เสมอเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม รวมถึงเรียนรู้เรื่องการลงทุนการวางแผนการเงินเพื่อการจัดการการเงินของตัวเอง ทำประกันโอนย้ายความเสี่ยงเรื่องค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน และใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีอย่างคุ้มค่า
เป้าหมายสำคัญที่สุดที่ต้องรู้ หากต้องการเกษียณเร็ว คือ จำนวนเงินเท่าไหร่ (Net Worth) ที่จะสามารถเกษียณได้ แล้วสามารถใช้ดอกผลจากเงินก้อนนั้นได้อย่างเพียงพอ
ซึ่งขนาดของกองทุนเกษียณสำหรับแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับ Lifestyle ที่คิดจะใช้หลังเกษียณ ค่าจ่ายหลังเกษียณจะถูกนำมาใช้ในการคำนวณกองทุนเกษียณ
การคำนวณกองทุนเกษียณสามารถคำนวณคร่าวๆได้โดย ใช้กฎ 4% Rule of Thumb
กฎของการถอนเงิน 4% Rule of Thumb ผู้คิดค้นคนแรกคือ William P. Bengen โดยการตั้งสมมติฐานว่า สามารถถอนเงินจากกองทุนเกษียณปีแรกได้ที่ 4% เช่นมีกองทุนเกษียณ 10 ล้านบาท สามารถถอนใช้ปีแรกได้ที่ปีละ 400,000 บาท และปีถัดไปสามารถถอนใช้เพิ่มขึ้นได้ตามอัตราเงินเฟ้อ เช่น 3% คือ ถอนใช้ 412,000 บาท กองทุนเกษียณนำไปจัดพอร์ตการลงทุนด้วยหุ้น 60% และพันธบัตร 40% จะทำให้สามารถมีเงินถอนใช้อย่างน้อย 30 ปี จากวันเริ่มเกษียณโดยเงินไม่หมดไปก่อน (ซึ่งปัจจุบันมีนักการเงินนำหลักการนี้มาคิดต่ออีกว่าอัตราผลตอบแทนการลงทุนในอดีตไม่สอดคล้องกับปัจจุบัน น่าจะถอนที่ 3% จะปลอดภัยกว่าและการถอนเงินใช้น่าจะลดลงไปเรื่อยๆ ตามอายุที่มากขึ้น หากไม่มีปัญหาสุขภาพ)
หากคิดอย่างง่ายว่า เราจะถอนเงินปีแรกของการเกษียณใช้ที่ 4% เมื่อนำกลับคำนวณกลับไปเป็นกองทุนเกษียณ กองทุนเกษียณจึงเท่ากับ 25 เท่าของค่าใช้จ่ายปีแรกของการเกษียณที่ต้องการใช้ ถ้าต้องการค่าใช้จ่ายต่อปีน้อย กองทุนเกษียณที่ต้องเตรียมก็จะน้อยตามไปด้วย โอกาสเกษียณเร็วก็จะมีมาก
บทความนี้จะมาแนะนำ 5 ประเภทของ FI ที่เป็นเป้าหมายว่าเกษียณแล้ว จะใช้ชีวิตแบบไหน ส่งผลต่อจำนวนเงินที่ต้องเตรียม แบบไหนที่น่าจะเหมาะกับคุณ มาติดตามกันค่ะ
1.LEAN FI เกษียณแบบพอเพียง
รูปแบบการใช้ชีวิตหลังเกษียณจะเป็นการใช้ชีวิตอยู่ในที่ที่ค่าครองชีพไม่สูง เช่น นอกเมือง อาจจะวางแผนการย้ายที่อยู่ไว้ล่วงหน้า หรือลองไปพักผ่อนก่อนช่วงวันหยุดยาว เมื่อคิดจะเกษียณ เงินที่เตรียมไว้ จะรองรับเพียงแค่ ค่าใช้จ่ายพื้นฐาน (Need) เช่น ค่าอาหาร ค่าน้ำค่าไฟ ค่าเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม แบบสมถะ ใช้ชีวิตแบบแนวมินิมอล อยู่กับธรรมชาติ
เงินที่เตรียมจะไม่รองรับถึงการใช้จ่ายเพื่อความบันเทิงต่างๆ เช่น การท่องเที่ยว การจับจ่ายใช้สอยอื่นๆ ดังนั้นต้องถามตัวเองว่า เรามีความสุขกับรูปแบบชีวิตแบบนี้ไหม ถ้าเราชอบแบบนี้ ก็สามารถใช้แนวคิด Lean FI ไปคำนวณกองทุนเกษียณได้
2.REGULAR FI เกษียณแบบรักษารูปแบบชีวิตคงเดิม
ตัวเลขที่นำมาคำนวณกองทุนเกษียณ จะเป็นตัวเลขตามค่าใช้จ่ายจริงๆ ที่เราใช้จ่าย โดยรักษามาตรฐานความเป็นอยู่แบบเดิม ก่อนเกษียณและหลังเกษียณ ซึ่งการคำนวณค่าใช้จ่ายปัจจุบันออกมา แล้วคิดเผื่ออัตราเงินเฟ้อ ไปถึงปีที่วางแผนจะเกษียณด้วยว่า เวลานั้นเป็นเงินเท่าไหร่
เช่น ปัจจุบันอายุ 40 ปี ค่าใช้จ่ายที่ต้องการใช้ในการเกษียณปีแรก คือเดือนละ 30,000 บาท หากต้องการเกษียณอีก 10 ปีข้างหน้า ที่อายุ 50 ปี สมมติว่าเงินเฟ้อ 3% ค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมคือ 40,317 บาทต่อเดือน
ณ วันเกษียณกองทุนเกษียณที่ต้องมี คือ 40,317×12 เดือน×25 เท่า = 12,095,100 บาท
หากวันนี้ทราบเป้าหมายแล้วว่าต้องมีกองทุนเกษียณมูลค่า 12,095,100 บาท ในอีก 10 ปีข้างหน้า ก็ต้องมาสำรวจดูว่าปัจจุบันเรามีทรัพย์สินอะไรบ้าง รูปแบบไหน สภาพคล่องเป็นอย่างไร และต้องออมเงินเพิ่มเท่าไหร่ บริหารผลตอบแทนและความเสี่ยงอย่างไร ควรหารายได้เพิ่มเท่าไหร่ ประหยัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นอย่างไร
ค่าใช้จ่ายของ Regular FI ที่นำมาใช้ จะต้องครอบคลุมทั้งค่าใช้จ่ายพื้นฐานและค่าใช้จ่ายเพื่อสิ่งอำนวยความสะดวกและกิจกรรมต่างๆ เช่น การท่องเที่ยว เพื่อรักษารูปแบบ lifestyle ให้คงเดิมเหมือนก่อนเกษียณ
3.FAT FI เกษียณแบบชีวิต Luxury
คือการเกษียณที่คาดหวังการใช้ชีวิตที่สุขสบายกว่าเดิม มีเป้าหมายท่องเที่ยว และ ให้รางวัลชีวิตกับตัวเอง กองทุนเกษียณจึงไม่ได้เตรียมแค่ค่าใช้จ่ายพื้นฐาน แต่เตรียมเผื่อ lifestyle ที่ใฝ่ฝันจะใช้ด้วย เงินที่เตรียมต้องเป็นเงินก้อนใหญ่ ต้องใช้ความรู้ในการลงทุนให้เงินงอกเงยเข้ามาช่วย และอาจจะทำให้แผนเกษียณเลื่อนออกไป ถ้าต้องใช้เวลาเข้าช่วยให้เงินเติบโตเพียงพอ
คนที่คิดจะเกษียณแบบนี้ จะต้องมีเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงของความผันผวนในการลงทุนเอาไว้ด้วย คือมีเงินเกษียณส่วนหนึ่งอยู่ในที่ปลอดภัย สร้างรายได้หลังเกษียณที่แน่นอนอยู่จำนวนหนึ่ง เช่น ประกันบำนาญที่มากพอกับค่าใช้จ่ายพื้นฐาน ทำให้สามารถเลี่ยงการถอนเงินออกมาใช้จ่ายในยามที่ตลาดมีความผันผวน เพื่อให้สามารถคงเงินกองทุนเกษียณให้เติบโตต่อไป รองรับ FAT FI Lifestyle
4.BARISTA FI เกษียณแบบที่ยังทำงาน Part Time ต่อ
รูปแบบการเกษียณแบบนี้คือ มีกองทุนเกษียณที่สามารถสร้างรายได้ รองรับค่าใช้จ่ายบางส่วนได้ จึงสามารถลาออกจากงานหลักได้ แล้วมาทำงานเสริม เช่น เป็นบาริสต้าในร้านกาแฟสตาร์บั๊ค (ที่มาของชื่อ FI แบบนี้) หารายได้อีกส่วนหนึ่งมาเติมเต็มค่าใช้จ่ายที่ยังเตรียมไม่พอ ก็สามารถมีชีวิตที่ relax มากขึ้นได้ ลาออกจากงานประจำได้
ซึ่งร้าน Starbuck ในต่างประเทศเขาให้สวัสดิการประกันสุขภาพแก่พนักงาน part time ด้วย จึงมีคนนิยมไปทำงานเพียงเพื่อมีสวัสดิการรองรับการเจ็บป่วย ทำให้เขาลดความเสี่ยงเรื่องเงินที่จะหมดไปกับค่ารักษาพยาบาล
ตัวอย่างเช่น ถ้าต้องการค่าใช้จ่ายเดือนละ 40,000 บาท ต้องมีกองทุนเกษียณมูลค่า 12,000,000 บาท ถึงจะเกษียณได้ แต่ถ้าวางแผนเกษียณแบบบาริสต้า ก็สามารถเกษียณที่เงินกองทุนมูลค่า 6,000,000 บาท และ ลาออกมาทำงาน part time หารายได้ส่วนที่ขาดมาเติมเต็ม
การเกษียณแบบนี้จะทำให้เป้าหมายเกษียณเร็วเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น
5.COAST FI เกษียณแบบลงทุนครั้งเดียว
การวางแผนเกษียณแบบ Coast FI คือ เก็บสะสมเงินให้ได้ก้อนหนึ่ง และนำไปลงทุนระยะยาวแบบดอกเบี้ยทบต้น ในระยะเวลาหนึ่ง โดยไม่ถอนออกมาใช้และไม่ลงทุนเพิ่มอีกเลย ปล่อยไว้จนเงินกองทุนเติบโตถึงขนาดเงินกองทุนเกษียณที่พอใจ จึงจะเกษียณได้
ตัวอย่างเช่น โจ เรียนจบอายุ 20 ปี มีรายได้ปีละ 300,000 บาท เก็บเงินปีละ 40% ทุกปี ไปอีก 10 ปี ที่ผลตอบแทนการลงทุน 6% เมื่ออายุ 30 ปี โจจะมีเงิน 1,581,695 บาท แล้วโจนำเงินก้อนนี้ไปลงทุนแบบปล่อยให้อัตราผลตอบแทนทบต้น โดยไม่นำเงินเข้าไปลงทุนเพิ่มอีกเลย แล้วทำงานแบบสบายๆไปจนอายุเกษียณปกติ อายุ 60 ปี โจ จะมีเงิน 9,084,451 บาท เพียงพอสำหรับการเกษียณเก็บกินไปตลอดชีวิต
รูปแบบการตั้งเป้า FI ในแต่ละแบบ มีความเหมาะสมตาม life style ของแต่ละบุคคล เราต้องเลือก FI แบบที่คิดว่าเป็นไปได้ต่อตัวเรามากที่สุด ที่เป็นที่นิยมกันมาก คือ การผสมระหว่าง Regular FI และ Barista FI เพราะการลดมาตรฐานความเป็นอยู่แบบ Lean FI อาจจะทำได้ยาก และการเกษียณแล้วยังทำงานสร้างรายได้ต่อแบบ Barista ก็จะช่วยให้ชีวิตหลังเกษียณไม่น่าเบื่อ เรายังรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง และ การหารายได้ต่อไปได้เรื่อยๆ ทำให้ เป้าเกษียณเร็ว เป็นไปได้มากขึ้น เพราะไม่ต้องเตรียมเงินก้อนใหญ่จนเกินกำลัง แล้วคุณหล่ะ ชอบ FI แบบไหน??
บทความโดย : พิชญาภัฐฐ์ ทองศรีเกตุ ที่ปรึกษาการเงิน AFPTTM