สำรวจหุ้นไทยในดัชนีระดับโลก DJSI

17 ก.พ. 2565 | 21:05 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.พ. 2565 | 22:30 น.

นักลงทุนไทยอาจจะคุ้นเคยกันดัชนีหุ้นในประเทศอย่างเช่น SET50 SET100 และ SETHD แต่ในระดับโลกมีดัชนี Dow Jones Sustainability Index (DJSI) ซึ่งเป็นดัชนีที่ให้ความสำคัญกับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และได้รับการยอมรับในระดับสากล

ทำความรู้จักดัชนี DJSI

 

Dow Jones Sustainability Index (DJSI) เป็นดัชนีที่ถูกพัฒนาโดย RobecoSAM ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนอย่างยั่งยืน ร่วมกับ S&P DowJones โดยเป็นดัชนีที่คัดเลือก “หุ้นยั่งยืนระดับโลก” คือต้องเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกที่มีความโดดเด่นในการทำธุรกิจ และคำนึงถึงประเด็นเรื่องความยั่งยืนเป็นหลัก

 

ทั้งนี้ ดัชนี DJSI ที่บริษัทจดทะเบียนไทยจะได้รับการพิจารณาให้เข้าร่วมการคำนวณ ประกอบด้วยกัน 2 ดัชนี ได้แก่

 

1.) ดัชนีหลักทั่วโลก หรือ DJSI World ซึ่งคัดเลือกจากบริษัทขนาดใหญ่ กว่า 2,500 แห่งจากทั่วโลกที่อยู่ในดัชนี S&P Global BMI

 

2.) ดัชนีแยกตามภูมิภาค นั่นคือ DJSI Emerging Markets (EM) ซึ่งคัดเลือกจากบริษัทขนาดใหญ่ที่อยู่ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่

 

เกณฑ์การคัดเลือกหุ้นในดัชนี DJSI

 

DJSI จะมีการประเมินบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกเป็นประจำทุกปี โดยใช้หลักเกณฑ์ ดังนี้

 

1.ต้องมีมูลค่าตามราคาตลาดหลังปรับน้ำหนักตามสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free-float adjusted market capitalization) ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

2.คะแนนจากแบบประเมินด้านความยั่งยืนทางธุรกิจ (Corporate Sustainability Assessment : CSA) ผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจ (Economic) สังคม (Social) และสิ่งแวดล้อม (Environment)

3.คัดเลือกบริษัทที่เป็น best-in-class ที่ได้คะแนนสูงที่สุด 10% แรกของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม

ทำไมนักลงทุนต้องสนใจหุ้นในดัชนี DJSI

 

  • เป็นดัชนีที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

นักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนสถาบัน มักจะให้ความสนใจกับหุ้นที่ถูกเลือกเข้าดัชนี DJSI เนื่องจากถูกคัดกรองเบื้องต้นแล้วว่าเป็นบริษัทที่มีคุณภาพตามมาตการสากล
 

  • สร้างโอกาสการลงทุนด้วยหุ้นยั่งยืน

บริษัทที่อยู่ใน DJSI ต้องมีคะแนนประเมิน ESG ครบทุกด้าน ซึ่งเรื่องแนวคิดเรื่องความยั่งยืน เป็นทางเลือกการลงทุนที่ถูกให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะช่วยลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ และเป็นเทรนด์การลงทุนในระยะยาวที่กำลังเติบโต

 

  • ผลตอบแทนรวมสะสมย้อนหลังอยู่ในระดับที่ดี

จากการทดลองสร้างพอร์ตลงทุนของ ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ด้วยการเลือกบริษัทจดทะเบียนไทยที่อยู่ในดัชนี DJSI EM และปรับพอร์ตตามการเปลี่ยนแปลงสมาชิกของดัชนีรายปี (Annual Rebalancing)

 

พบว่าผลตอบแทนรวมสะสมย้อนหลัง 5 ปี (ม.ค. 2559 – 17 ก.พ. 2564) อยู่ที่ 51% สำหรับพอร์ตลงทุนที่ใช้การถ่วงน้ำหนักแบบเท่ากัน (Equal Weighting) และได้ผลตอบแทนที่ 49% สำหรับพอร์ตลงทุนที่ใช้การถ่วงน้ำหนักตามมูลค่าตลาด (Market Cap Weighting) ซึ่งสูงกว่าผลตอบแทนของดัชนี SET100 TRI ที่ระดับ 38%

(ที่มา: สำรวจผลตอบแทนหุ้นไทยใน DJSI โดย ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)

ทำความรู้จักหุ้นไทยใน DJSI World และ DJSI EM

 

สำหรับหุ้นไทยที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของดัชนี DJSI ประจำปี 2564 มีทั้งหมด 25 บริษัท แบ่งเป็นดัชนี DJSI World จำนวน 13 บริษัท  และ DJSI EM จำนวน 25 บริษัท โดยไทยเป็นประเทศที่มีจำนวนบริษัษในดัชนี DJSI EM สูงสุดในอาเซียนต่อเนื่องเป็นปีที่ 8

 

รายชื่อหุ้นไทยในดัชนี DJSI World ปี 2564 ประกอบด้วย ADVANC, AOT, CPALL, CPN, DELTA, IVL, KBANK, PTT, PTTEP, PTTGC, SCB และ SCC

 

รายชื่อหุ้นไทยในดัชนี DJSI EM ปี 2564 ประกอบด้วย ADVANC, AOT, BANPU, BDMS, BJC, BTS, CPALL, CPF, CPN, DELTA, EGCO, HMPRO, IRPC, IVL, KBANK, MINT, PTT, PTTEP, PTTGC, SCB, SCC, TOP, TRUE และ TU

 

สำรวจหุ้นไทยในดัชนีระดับโลก DJSI

 

สรุปจะเห็นหุ้นในดัชนี DJSI เป็นการคัดเลือกบริษัทขนาดใหญ่ระดับโลกในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความโดดเด่นในการทำธุรกิจโดยคำนึงถึงประเด็นเรื่องความยั่งยืนเป็นหลัก อย่างไรก็ดี การลงทุนในหุ้นยั่งยืน หรือ ESG ไม่สามารถการันตีผลตอบแทนที่ดีได้ แต่ก็สามารถเป็นตัวช่วยสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการลดความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจของบริษัท เพื่อนำไปพิจารณากับปัจจัยอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย อย่างเช่นการศึกษาบทวิเคราะห์หุ้นรายตัวที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ รวบรวมไว้ได้ที่นี่ คลิก
และศึกษารายละเอียดของ Dow Jones Sustainability Index (DJSI) คลิก
 

หมายเหตุ : ข้อมูลบริษัทจดทะเบียนที่ปรากฏนี้เป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลในอีกรูปแบบหนึ่งเพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้นโดยการอิงกับไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Based) หรือกระแส (Trend) ซึ่งรวบรวมมาจากข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านช่องทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (“ตลาดหลักทรัพย์ฯ”) อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่รับรองความถูกต้อง ครบถ้วน หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลดังกล่าว รวมทั้งไม่ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนใด ๆ ในหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียน และตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายหรือสูญหายจากการนำข้อมูลที่ปรากฏนี้ไปใช้ในทุกกรณี

 

ที่มา  : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)