การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐกำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงในตลาดการเงินทั้งระบบ ทั้งในตลาดหุ้น มูลค่าสินทรัพย์ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราทั่วโลก หรือที่เห็นได้ชัดเป็นที่โจษจัน คือ การดิ่งลงของราคาคริปโต
ประเทศใน G20 และยุโรปเกือบทั้งหมดก็จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเช่นเดียวกัน คงมีแต่ญี่ปุ่นที่ยังคงดอกเบี้ยนโยบายเดิม กับประเทศไทยเราที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของแบงก์ชาติ ยังมีมติ 4 ต่อ 3 เสียงให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.5 มีเสียงกึ่งหนึ่งที่แตกออกมาให้ปรับเพิ่มดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต
บทความนี้จะกล่าวถึงหลักการทางเศรษฐศาสตร์ที่ธนาคารกลางแต่ละประเทศ ใช้ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยแม้แต่ละประเทศจะต่างที่ต่างวาระซึ่งทำให้การตัดสินใจออกมาไม่เหมือนกัน แต่มีหลักการตัดสินใจเดียวกันที่เห็นจะเป็นสากล
การกำหนดอัตตราดอกเบี้ยตามหลักของธนาคารกลางในปัจจุบัน มีจุดประสงค์เพื่อให้สัมฤทธิ์ผลสองประการคือ
1. ให้เศรษฐกิจเติบโตมีการจ้างงานเต็มอัตรา (Full Employment)
2. ควมคุมเงินเฟ้อ
ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างสองตัวแปร เงินเฟ้อกับการจ้างงานนั้น เป็นที่ถกเถียงกันไม่รู้จบตามทฤษฏีเศรษฐศาสตร์ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา ไม่ว่าจะเคนส์เซี่ยนหรือ ฟรีดแมน Monetarist นักเศรษฐศาสตร์ไม่ได้มีข้อสรุปที่เป็นวิทยาศาสตร์ ว่า เงินเฟ้อกับการจ้างงานนั้น แปรผกผันหรือแปรผันตรงกัน
เพียงแต่เราทราบว่า การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนั้น สามารถส่งผลกระทบถึงทั้งสองตัวแปร ซึ่งธนาคารกลางทั่ว โลกพยายามจะยิงนกทีเดียวให้ได้ทั้งสองตัว คือ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมที่สุด ทำให้เกิดการจ้างงานเต็มอัตราและไม่มีเงินเฟ้อ ซึ่งบางครั้งก็เป็นไปได้ยากอาจจะต้องมีการเลือกบริหารด้านใดด้านหนึ่ง
อย่างเช่น ในตอนนี้ที่มีวิกฤติิสงครามระหว่างประเทศและการสะดุดของห่วงโซ่อุปทาน ราคาในระบบเพิ่มขึ้นเกิดเงินเฟ้อ ธนาคารกลางของสหรัฐจึงออกมาเพิ่มอัตราดอกเบี้ยแก้เงินเฟ้อและอีกทางก็เป็นเรื่องความมั่นคงทาง การเงินระหว่างประเทศ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ช่วงโควิดยังลดดอกเบี้ยอยู่เลยไม่กลัวเงินเฟ้อ อยากได้การจ้างงาน
ผลของการขึ้นดอกเบี้ยก็เห็นค่าเงินดอลล่าห์สหรัฐแข็งเอาๆ ราคาของสินทรัพย์และหุ้นทั้งหลายตกลง โดยเฉพาะสินทรัพย์ดิจิตอล คริปโตเคอเรนซีที่ตกลงฮวบฮาบ ก็เป็นสัญญาณที่หลายคนหวาดกลัวว่า การขึ้นดอกเบี้ยนี้จะทำให้เกิดการถดถอยทางเศรษฐกิจหรือเปล่า อย่างที่เคยเป็นมาเมื่อธนาคารกลางปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นในเกือบทุกๆ ครั้งเป็นวัฏจักรธุรกิจเศรษฐกิจขาลง
วิธีการมอง การกำหนดอัตราดอกเบี้ยขึ้นๆ ลงๆ นี้ แท้จริงแล้วเรามองย้อนกลับไปได้ตั้งแต่ยุคของ คนุต วิกเซล (Knut Wicksell) นักเศรษฐศาสตร์ชาวสวีเดนในศตวรรษที่ 19 ซึ่งพยายามอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างระบบมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริง กับการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจการเงิน
วัฏจักรธุรกิจนี้เป็นเรื่องของการเงิน เป็นความไม่สอดคล้องกันของมูลค่าความเป็นจริง กับตัวแทนของการวัดค่าทางเศรษฐศาสตร์ ที่เราเรียกว่า เงิน สำหรับวิกเซล สิ่งที่โยงระหว่างความเป็นจริงกับดอกเบี้ย หรือ มูลค่ากับราคา ก็คือ ธรรมชาติ ซึ่งวิกเซลก็ใช้คำว่าธรรมชาติเอาดื้อๆ แบบนักปรัชญาที่เชื่อว่ามีสิ่งที่จริงแท้ให้เราพยายามค้นหาซึ่งก็คือ ธรรมชาติ นี่เป็นรากฐานของทฤษฎีวัฏจักรเศรษฐกิจ ที่นักเศรษฐศาสตร์ต้องใช้ อ้างอิงในทางวิชาการเมื่อนำมาใช้ปฏิบัติทางนโยบาย
โดย วิคเซล บอกว่า อัตราดอกเบี้ยทางการเงิน (money rate of interest) นั้น ต้องเท่ากับอัตราดอกเบี้ยธรรมชาติ (natural rate of interest) เมื่อทั้งสองนั้นเท่ากันระบบเศรษฐกิจจึงจะอยู่ในสมดุลไม่เกิดเป็นวงจรธุรกิจ ไม่มีเงินเฟ้อและมีการจ้างงานเต็มระบบ
โดยอัตราดอกเบี้ยทางการเงินนั้นก็คือ ดอกเบี้ยนโยบายที่ธนาคารกำหนดแต่ที่จะงงก็คือ อัตราดอกเบี้ยทางธรรมชาติ เพราะเราวัดหรือคาดคะเนอัตราธรรมชาตินี้ได้ยาก อัตราดอกเบี้ยตามธรรมชาตินั้นเราไม่สามารถกำหนดได้ขึ้นอยู่กับความสามารถการผลิตในอนาคต ซึ่งนับรวมเอาทุกอย่างที่เป็นปัจจัยทางภายนอกเหนือตลาดเข้ามาแล้ว
ยกตัวอย่างในขณะนี้เช่น โรคระบาดโควิด สงครามระหว่างประเทศ เทคโนโลยี ฯลฯ เป็นผลลัพธ์ตามธรรมชาติของระบบสังคมมนุษย์ ซึ่งใครเล่าจะสามารถคาดคะเนอย่างแม่นยำได้
นี่เลยกลายมาเป็นประเด็นหลักของการกำหนดอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงิน ว่าหน่วยงานใด หรือใคร ที่ไหนจะเป็นผู้ที่มีความสามารถคาดคะเนดอกเบี้ยตามธรรมชาติ ที่มาจากระบบสังคมทั้งมวลได้
ในปัจจุบันเรามีธนาคารกลางในแต่ละประเทศซึ่งเป็นผู้กำหนดดอกเบี้ยนโยบายของสังคมนั้นๆ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ทำงานโดยอิสระในการหาข้อมูลทำนายทายผล เพื่อจะหาสมดุลของอัตราดอกเบี้ยในวัฏจักรธุรกิจ ที่บริหารระหว่างการควบคุมเงินเฟ้อกับการจ้างงาน
แต่ปัญหาที่เราๆ ท่านๆ กลัวก็คือ การคาดการณ์ที่ผิด ส่งผลให้การ ปรับเปลี่ยนดอกเบี้ยนโยบายมีมากหรือน้อยเกินไป ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างแรง Hard Landing อย่างเช่น ตอนนี้ที่มีทั้งนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ต่างๆ ออกมาเตือนธนาคารกลางสหรัฐ ว่าอย่าให้ซํ้ารอยยุค Stagflation ที่มีการปรับดอกเบี้ยขึ้นอย่างรุนแรงเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ แล้วก่อให้เกิดวิกฤติิเศรษฐกิจถดถอยทั่วหน้า เราต้อง การ Soft Landing ที่การปรับอัตรา ดอกเบี้ยนโยบาย สามารถแก้ปัญหาเงินเฟ้อและทำให้ระบบเศรษฐกิจสามารถไปต่อได้โดยที่ไม่เสียโอกาส
ข้อถกเถียงในทฤษฎีการเงินนั้น ได้เดินมาไกลมากแล้ว ระหว่างนักเศรษฐศาสตร์ฝั่งซ้ายและฝั่งขวา และตอนนี้เราอยู่ในพรมแดนใหม่ที่ไม่มีใครเคยเดินมาก่อนในยุคหลังโควิด ที่มีความขัดแย้งและปัญหาใหม่ๆ อย่างเช่น ความเหลื่อมลํ้าในการกระจายรายได้ ความยุติธรรมในเศรษฐกิจการเมือง การค้าระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์การเมืองโลก ฯลฯ นโยบายทางการเงินนั้น ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก และถูกใช้เพื่อตอบโจทย์ที่เพิ่ม ขึ้นมา การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงมีความสำคัญอย่างมากที่ต้องมีความโปร่งใส คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและสังคม
ในส่วนของเมืองไทยเรานั้น ก็มีความกังวลว่าค่าเงินบาทนั้นอ่อน แต่ จริงๆ แล้วอยากจะชี้ให้เห็นว่า มันเป็นเพราะค่าเงินดอลล่าห์สหรัฐตะหากที่แข็งค่าจากการขึ้นดอกเบี้ย ด้วยเศรษฐกิจภูมิศาสตร์การเมืองโลกที่ผันผวน ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงนี้ เราคงต้องเอาใจช่วยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยหาอัตราดอกเบี้ยที่ใกล้เคียงธรรมชาติ ที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตจ้างงานเต็มกำลัง และมีระดับราคาเงินเฟ้อที่ควบคุมได้
ภาคประชาสังคมก็ต้องช่วยส่งสัญญาณ วิจารณ์และตรวจสอบการ ทำงานของหน่วยงานกลางอย่างธนาคารกลาง ไม่ให้เกิดความผิดพลาดเป็น Hard Landing เกิดเศรษฐกิจถดถอย
อัตราดอกเบี้ยธรรมชาตินั้นเป็นอุดมคติที่ต้องอาศัยการปรับตัวทั้งระบบของเราหา Soft Landing ที่จะไม่ทำให้เศรษฐกิจถดถอยให้เจอ
อ้างอิงเพิ่มเติม:
https://en.wikipedia.org/wiki/Knut_Wicksell
https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/Pages/OverviewPolicyRate.aspx
https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/MonetPolicyComittee/Schedule/Pages/default.aspx