*** การที่ กนง. ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ตามคาดการณ์ แม้จะน้อยเกินไปในมุมมองของนักลงทุน แต่หุ้นที่กลุ่มธนาคารใหญ่ เช่น KBANK BBL SCB KTB และ TTB รวมไปถึงธนาคารขนาดกลางและเล็กอื่นๆ ได้ประโยชน์จากการขึ้นดอกเบี้ย
มีการประเมินกันว่า ทุก 0.25% ของดอกเบี้ยที่เปลี่ยนแปลงไป จะทำให้กำไรของ BBL และ KTB เปลี่ยนแปลงราว 10% ส่วน KBANK และ SCB อาจจะขยับขึ้นประมาณ 7%-8% โน้นเลยทีเดียว
ดังนั้นสิ่งที่เจ๊เมาธ์เคยบอกมาตลอดว่า หุ้นธนาคาร คือ หุ้นที่ดีที่สุดในจังหวะของดอกเบี้ยขาขึ้น ดีมากจนทำให้เกิดการเข้ามาเก็งกำไร จนราคาหุ้นสวิงตัวค่อนข้างแรง ถ้าใครชอบหุ้นกลุ่มนี้ อาจใช้การแบ่งไม้เข้าสะสม รวมถึงหาจังหวะเมื่อราคาย่อตัวลง เพื่อให้ได้ของดีราคาถูก
*** หากจะถามเจ๊เมาธ์ว่า CBG ผ่านจุดต่ำสุดไปหรือไม่...เจ๊ก็บอกเลยว่ายังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน อย่างแรกคือ สาเหตุที่หุ้น CBG ลงต่ำขนาดนี้ไม่ได้เป็นเรื่องผลการดำเนินงานหรือเรื่องต้นทุนที่เกิดจากภาษี
ปัญหาแท้จริงที่ CBG กำลังเผชิญอยู่ เป็นเรื่องของความจำเจที่ CBG ยังผูกติดอยู่กับตลาดเครื่องดื่ม “คาราบาวแดง” ซึ่งเป็นตัวชูโรงที่ไม่มีอะไรใหม่ ในขณะที่เครื่องดื่ม C+Lock ซึ่งพยายามผลักดันขึ้นมาโดยใช้เรื่องสุขภาพมาเป็นจุดขาย ก็ยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม หากดูตามข้อมูลทางเทคนิค...แรงขายที่เริ่มหายไปเป็นจังหวะให้เข้าสะสมได้แล้ว อาจจะกลับมาไม่แรงมาก แต่ก็ไม่น่าจะแย่ไปกว่านี้แล้วค่ะ
*** AOT ถือว่าเป็นหนึ่งในหุ้นหลุมหลบภัยที่ดี แน่นอนว่าด้วยราคาที่มากกว่า 70 จนถึง 75 บาท ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับผลงานในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แทบไม่มีกำไรเข้ามา กลับพบว่า AOT มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย
อย่างแรกคือ โควิด-19 คลี่คลาย รวมถึงเงินบาทอ่อนยวบ เทียบดอลลาร์สหรัฐ ทำให้นักท่องเที่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ ล้วนต้องจ่ายค่าต๋งให้กับ AOT เป็นด่านแรก
เรื่องที่สองคือการที่ AOT จะได้สนามบินแห่งใหม่อีก 3 แห่ง ที่กระบี่ อุดรธานี และ บุรีรัมย์ เข้ามาเพิ่ม แหล่งที่มาของรายได้ของ AOT ให้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องของมาตรการให้ความช่วยเหลือสายการบินและผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ ที่จะสิ้นสุดลงในเดือน มีนาคม 2566 ซึ่งจะทำให้ AOT มีรายได้กลับเข้ามา
ดังนั้น ถึงแม้ครึ่งปีหลังจากนี้ราคาหุ้นของ AOT อาจจะยังไม่ไปไหนเพราะไม่มีกำไรเข้ามาเลย แต่หากจะใช้หุ้นตัวนี้เป็นหลุมหลบภัย ก็น่าจะดีกว่าเอาเงินไปทำอย่างอื่นเจ้าค่ะ
*** ครึ่งแรกของปี 2565 CPALL มีรายได้มากถึง 413,387 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน, มีกำไร 6,457 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.8% แม้ว่ากำไรมากขึ้น และการซื้อ Tesco’s เข้ามาอยู่รวมชายคา และท้ายที่สุด โยนไปอยู่ใต้ปีกของ MAKRO
การที่ CPALL ผู้ถือหุ้นใหญ่ใน MAKRO 34.97% ทำให้ CPALL แบกภาระของ Tesco’s ถึงแม้ว่า CPALL จะมีสินทรัพย์มากขึ้น แต่หนี้สินเพิ่มขึ้นตามมาด้วยเช่นกัน และ CPALL มีรายได้และกำไรในช่วง 6 เดือนแรกที่มากขึ้นในสัดส่วน 52% และ 35% เมื่อเทียบกับปีก่อน
แต่กลับพบว่า กำไรต่อหุ้นของ CPALL กลับปรับลดลงไปถึงเกือบๆ 50% ด้วยเช่นกัน ซึ่งขนาดมีกำไรมากขึ้นถึง 35% แต่กำไรต่อหุ้นยังมีเหลือเพียงแค่นี้...แล้วถ้ากำไรเท่าเดิมหละ CPALL จะมีกำไรเหลือให้ผู้ถือหุ้นแค่ไหน ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมราคาหุ้น CPALL ไม่ไปไหนทั้งที่หลายอย่างดูดีขึ้น
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,823 วันที่ 2 - 5 ตุลาคม พ.ศ. 2565