คิดให้ถี่ถ้วนก่อนจ่าย: หลักคิดเพื่ออนาคต

05 ต.ค. 2565 | 04:00 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ต.ค. 2565 | 11:08 น.

หลายๆ คนคงเฝ้าตั้งตารอการออกผลิตภัณฑ์สินค้าตัวใหม่ๆ ที่ทำให้ชีวิตมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น เมื่อไม่นานมานี้ก็เช่นเดียวกันที่บริษัทยักษ์ใหญ่ได้เปิดตัวมือถือรุ่นใหม่ออกมา และประเทศไทยก็ได้เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่มีสิทธิได้เลือกจับจองเป็นเจ้าของมือถือตัวใหม่ก่อนประเทศอื่นๆ

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง ก็ได้มีเสียงแสดงความเป็นห่วงแกมตำหนิติเตียน จากคุณครูท่านหนึ่งที่ได้เปรียบเปรยว่าราคามือถือเครื่องเดียวเทียบเท่ากับข้าวผัด หรือมาม่านับเป็นพันๆ จาน จนทำให้โลกโซเชียลแบ่งความเห็นออกเป็น 2 ฝ่าย

 

โดยฝ่ายที่เห็นด้วยจะมองในแง่ของหลักการประหยัด มัธยัสถ์ อดออม ไม่ใช่จ่ายแบบสิ้นเปลือง ต้องรู้จักคิด รู้จักค่าของเงิน ซึ่งเป็นหลักการที่ถูกสอนกันมานานแสนนาน แม้แต่ตัวผู้เขียนเองก็จำได้ถึงโครงกลอนที่สอนให้รู้ถึงการใช้จ่ายที่ว่า “มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท”

 

ในทางตรงกันข้าม ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็จะมองว่าคำสอนดังกล่าวอาจจะไม่ตอบโจทย์โลกในยุคสมัยนี้ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น บางคนอาจจะใช้มือถือเพื่อหารายได้ บางคนมองว่าราคาที่แพงควรจะถูกใช้เป็นเป้าหมายให้เด็กมีแรงบันดาลใจที่จะตั้งใจเรียน ตั้งใจทำงาน หารายได้สูงๆ เพื่อที่จะสามารถเป็นเจ้าของสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในยุคสมัยนี้ได้ แต่ก็มีบ้างที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยอาจจะเน้นย้ำในเรื่องของความพึงพอใจส่วนตัวโดยปราศจากเหตุผลใดๆ ที่มารองรับ

ตัวผู้เขียนเอง ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์โดยอาชีพ ก็มักจะชอบทำการเปรียบเทียบราคาของผลิตภัณฑ์สินค้าใหม่ๆ เพื่อช่วยในการตัดสินใจอยู่เสมอ แต่สิ่งที่ผู้เขียนนำมาเปรียบเทียบจะไม่ใช่จำนวนอาหารที่สามารถรับประทานไปได้มากน้อยเพียงใด แต่จะเปรียบเทียบเป็นจำนวนวันทำงานที่ต้องทำเพื่อที่จะซื้อสินค้าและบริการนั้นๆ

 

การคำนวณสามารถทำได้โดยนำเอาราคาสินค้าและบริการมาหารด้วยค่าแรง (ต่อเดือน) ของผู้เขียน เช่น หากราคามือถืออยู่ที่ 40,000 บาท และผู้เขียนมีรายได้ 10,000 บาทต่อเดือน ก็จะถือว่าสินค้าตัวนี้มีต้นทุนเท่ากับการทำงาน 4 เดือน

 

การคำนวณในลักษณะนี้จะมีจุดเด่นอยู่ที่ ต้นทุนของสินค้าและบริการจะขึ้นกับรายได้ของผู้คำนวณในแต่ละช่วงเวลา นั่นคือ ในช่วงแรกที่ผู้เขียนเริ่มทำงานนั้น ผู้เขียนยังคงมีรายได้ที่ไม่เยอะมากนัก ต้นทุนของสินค้าและบริการก็มักจะสูงมาก เช่น การซื้อรถยนต์ราคา 1 ล้านบาท สำหรับผู้เขียนจะมีต้นทุนเท่ากับการทำงานของผู้เขียนไม่น้อยกว่า 5 ปี แต่ถ้าเป็นรายได้ในปัจจุบันซึ่งผู้เขียนได้ทำงานมาระยะหนึ่งแล้ว ต้นทุนของรถยนต์ราคา 1 ล้านบาทเท่ากันอาจจจะเท่ากับการทำงานของผู้เขียนไม่ถึง 2 ปี เป็นต้น

ผู้เขียนใช้หลักคิดคำนวณข้างต้นมาประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ ดังนี้

 

1. ผู้เขียนจะจัดกลุ่มสินค้าและบริการออกเป็นสินค้าและบริการที่สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้เขียนในอนาคต และสินค้าและบริการที่ซื้อไปเพื่อความรื่นรมย์ พักผ่อนหย่อนใจ แต่ไม่ได้สร้างรายได้ใดๆให้กับผู้เขียน

 

สินค้าที่สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้เขียนในอนาคตจะเป็นสินค้าที่ถูกเลือกซื้อก่อนเป็นอันดับแรก โดยผู้เขียนมักจะพิจารณาถึงความเหมาะสมด้านอื่นๆ ประกอบ เช่น หากใช้เพื่อการทำงานแล้ว เราต้องการสินค้าตัวนี้จริงหรือไม่? มีทางเลือกอื่นๆ ที่ราคาเหมาะสมกว่าและยังสามารถใช้สร้างรายได้ได้เช่นเดียวกันหรือไม่? เป็นต้น

 

เป็นที่แน่นอนว่าของอย่างเดียวกันก็อาจจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่แตกต่างกันขึ้นกับสถานการณ์การใช้ของแต่ละคน เช่น มือถือสำหรับบางคนอาจจะเป็นอุปกรณ์ในการสร้างรายได้แต่บางคนอาจจะใช้ดูหนัง ฟังเพลงเพื่อหย่อนใจ หรือ รถยนต์/รถจักรยานยนต์ที่บางคนอาจจะใช้ในการทำงานเป็นหลัก แต่บางคนอาจจะใช้เพื่อความสะดวกสบายในชีวิตที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงาน

 

2. สำหรับสินค้าและบริการที่ไม่สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้เขียนในอนาคต จะมีอยู่ 2 กลุ่ม คือ สินค้าที่ต้องใช้เวลาทำงานนานเพื่อที่จะซื้อ และสินค้าที่ใช้เวลาไม่นานก็สามารถซื้อเป็นเจ้าของได้

 

โดยส่วนมากแล้ว ผู้เขียนซึ่งเป็นคนเจนเอ็กซ์ (เกิดช่วงปี 1965-1981) มักจะมองว่าสินค้าที่ต้องใช้เวลาทำงานนานมากๆ จะมีสินค้าส่วนหนึ่งที่อาจจะไม่ได้ถูกผลิตมาเพื่อเรา เพราะต้องทำงานที่นานมากจนเกินไป ในขณะเดียวกันก็จะมีสินค้าที่ต้องใช้เวลาทำงานนานพอสมควร อยู่ในระดับที่เหมาะสมพอที่จะเป็นแรงกระตุ้นให้เราอยากทำงาน สินค้ากลุ่มนี้อาจจะไม่ใช่สินค้าที่เหมาะสมที่จะซื้อในขณะนี้ แต่ผู้เขียนมักจะเลือกประหยัด มัธยัสถ์ และอดออมจนกระทั่งผู้เขียนมีรายได้ที่สูงพอ หรือมีเงินเก็บที่เพียงพอถึงจะตกลงซื้อ ซึ่งกว่าจะซื้อจริงก็มักจะพิจารณาแล้วพิจารณาอีกให้แน่ใจว่าเราต้องการที่จะเป็นเจ้าของสิ่งนั้นจริงๆ

 

สำหรับสินค้าที่ใช้เวลาไม่นานก็สามารถซื้อเป็นเจ้าของได้ ผู้เขียนมักจะเลือกซื้อตามความพึงพอใจส่วนตัว ถือเป็นการให้รางวัลกับชีวิตที่ได้ตั้งใจทำงานให้ดีในแต่ละเดือน

 

หลักการของผู้เขียนข้างต้น คงไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มคนที่อาจจะมีฐานะที่ร่ำรวยมาก่อนด้วยเหตุผลต่างๆนานา ซึ่งในกรณ๊นี้สามารถที่จะซื้อสินค้าและบริการได้เลยโดยไม่ต้องกังวลใจมากนัก และมักจะเป็นผลดีทำให้เกิดการกระจายรายได้ต่อเศรษฐกิจอีกด้วย

 

ท้ายที่สุด ผู้เขียนอยากจะเน้นย้ำถึงความสำคัญของการคิดอย่างถี่ถ้วนก่อนที่จะใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะต้องเผชิญกับสถานการณ์บีบคั้นในอนาคตที่จะถาโถมเข้ามามากกว่าคนรุ่นก่อนๆ ไม่ว่าจะเป็นอายุขัยเฉลี่ยที่ยืนขึ้นกว่าคนรุ่นก่อนทำให้ต้องเก็บออมมากขึ้น ระดับราคาสินค้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าแต่ก่อนทำให้ต้องเก็บเงินมากขึ้นไปอีกเพื่อที่จะมีเพียงพอต่อการดำรงชีวิตในระดับเดิม รวมทั้งการเข้ามาของเครื่องจักรหุ่นยนต์ที่จะเข้ามาแข่งขันแย่งงานทำของมนุษย์ในอนาคตอีกด้วย