เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2565 คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) มีการประชุมร่างหลักเกณฑ์การจัดสรรโควตานมผงปี 2566 การคืนโควตานำเข้านมผงขาดมันเนย และนม และครีม ปี 2565 ซึ่งจากการสำรวจของกรมปศุสัตว์มีผู้ประกอบการมายื่นความประสงค์ขอคืนโควตา จำนวน 21 ราย ปริมาณรวม 4,399.045 ตัน ถือเป็นสถิติใหม่
แหล่งข่าวจากมิลค์บอร์ด เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ก่อนหน้านี้ ในปี 2564 ผู้ประกอบการก็มีการคืนโควตาเป็นครั้งแรกรวม 1,400 ตัน เป็นผลจากจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดันราคานมผงต้นทาง ราคาปรับสูงขึ้น ประกอบกับค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ราคาต้นทุนปรับสูงมาก ผู้ประกอบการแบกภาระไม่ไหว จึงขอคืนโควตา
แต่ในครั้งนี้เป็นผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ นิวซีแลนด์ผู้ผลิตนมผงรายใหญ่เกิดน้ำท่วมใหญ่ กระทบการผลิต ทำให้ราคานมผงโลกพุ่งสูงขึ้น ประกอบกับน้ำนมดิบในประเทศขาดตลาด ส่วนหนึ่งจากเกษตรกรแบกต้นทุนราคาอาหารสัตว์ไม่ไหวเลิกเลี้ยงไปจำนวนมาก ต่อไปอาจจะเหลือเฉพาะรายใหญ่เท่านั้น ดังนั้นในช่วงรอยต่อนี้ทำให้มีผู้ประกอบการยื่นขอคืนโควตา จำนวน 21 ราย ปริมาณรวม 4,399.045 ตัน (กราฟิกประกอบ) แบ่งเป็นการได้รับสิทธิชำระภาษีในโควตาตามพันธกรณีความตกลงการเกษตรภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) 4,339.045 ตัน และตามความตกลงการค้าเสรีไทย - ออสเตรเลีย (TAFTA) 60 ตัน
โดยแบ่งเป็น กลุ่มนิติบุคคลที่ 1 (กลุ่มที่รับซื้อน้ำนมดิบ) จำนวน 6 ราย ปริมาณ 3,902.175 ตัน (ตามความตกลง WTO ) กลุ่มนิติบุคคลที่ 2 จำนวน 15 ราย ปริมาณ 496.87 ตัน (ตามความตกลง WTO ปริมาณ 436.87 ตัน และ TAFTA 60 ตัน) ล่าสุดที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบนำไปจัดสรรให้กับผู้ประกอบการที่ยังมีความประสงค์ขอโควตานำเข้านมผงขาดมันเนยปี 2565 มีผู้ประกอบการขอโควตา จำนวน 17 ราย ปริมาณ 3,797 ตัน
ได้แก่ กลุ่มนิติบุคคลที่ 1 จำนวน 5 ราย ปริมาณ 2,613 ตัน อาทิ บริษัท เอฟแอนด์เอ็น แดรีส์ (ประเทศไทย) จำกัด (บจก.) 2,000 ตัน ปัจจุบันนำเข้าแล้ว 85.24%, บจก.ดานอน สเปเชียลไลซ์ นิวทริชั่น (ประเทศ ไทย) 280 ตัน นำเข้าแล้ว 94.05% และ บจก.มี่ แอน แดรี่ โปรดักส์ 300 ตัน นำเข้าแล้ว 49.95% เป็นต้น
ส่วนกลุ่มนิติบุคคล ที่ 2 (ผู้ประกอบการทั่วไป) จำนวน 12 ราย ปริมาณ 1,187 ตัน อาทิ บจก.ยาคูลท์ (ประเทศไทย) 230 ตัน นำเข้าแล้ว 67.65% บจก.ยูนิลิเวอร์ไทย โฮลดิ้ง 500 ตัน นำเข้าแล้ว 80.31% และบจก.พรีเซิร์ฟ ฟู้ด สเปเชียลตี้ 150 ตัน นำเข้าแล้ว 76.92% และกลุ่มนมและครีม มีผู้ประกอบการขอโควตาจำนวน 4 ราย ปริมาณ 885 ตัน ตามข้อตกลง WTO ปริมาณ 835 ตัน และ TNZCEP 50 ตัน
ได้แก่ 1. บจก.ฟอนเทียร่า แบรนด์ (ประเทศไทย) นำเข้า 2 กรอบ ตามกรอบ WTO ปริมาณ 750 ตัน และTNZCEP ปริมาณ 50 ตัน รวม 800 ตัน นำเข้าแล้ว 93.08% 2. หจก.มิกะ นำเข้าตามกรอบ WTO จำนวน 15 ตัน นำเข้าแล้ว 72.67% 3.บจก.ฟู้ดโปรเจ็ค (สยาม) จำกัด ปริมาณ 20 ตัน นำเข้าแล้ว 52.20% และ บจก.ซีอาร์จี แมนูแฟคเจอริ่ง (รายใหม่ ) ปริมาณ 50 ตัน
อย่างไรก็ดีหลังการจัดสรรโควตาตามพันธกรณีความตกลง WTO (กลุ่มนิติบุคคลที่ 1) ยังเหลือ 1,592.175 ตัน และกลุ่มผู้ประกอบการทั่วไป (กลุ่มนิติบุคลที่ 2) ก็ยังเหลือ 60 ตัน ซึ่งโควตาตั้ง 2 กลุ่มนี้ ให้นำไปพิจารณาในวาระอื่น ๆ เช่นเดียวกับกลุ่มนมและครีม ยังเหลือ 94.95 ตัน ไม่มีผู้ขอรับการจัดสรร ผลจากการประชุมนี้ให้เลขานุการคณะกรรมการมิลค์บอร์ดแจ้งมติให้กรมการค้าต่างประเทศดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
แหล่งข่าวจากมิลค์บอร์ด กล่าวว่า บจก.เนสท์เล่ (ไทย) แจ้งความประสงค์ขอขึ้นทะเบียนผู้มีสิทธิ์นำเข้านมและครีม และเครื่องดื่มประเภทนมปรุงแต่ง ตามความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) โดยบริษัทยืนว่าการขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิ์นำเข้าจะไม่กระทบต่อข้อตกลงการรับซื้อน้ำนมดิบของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศแต่อย่างใด เมื่อผู้ประกอบการยืนยันที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบ
นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์การจัดสรรโควตาสินค้านม ปี 2566 ตามพันธกรณีตามความตกลงทางเกษตรภายใต้ WTO สำหรับปี 2566-2568 และความตกลงทางการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น ไทย-นิวซีแลนด์ (TNZCEP) สำหรับปี 2566-2567
ขณะที่ นายชัชวาลย์ มณีทัพ อดีตนายกสมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารนมไทย กล่าวว่า สถานการณ์น้ำนมดิบปีนี้ในส่วนภาคอุตสาหกรรมนมจะขาดแคลนกว่าทุกปีที่ผ่านมา จากเกษตรกรเลิกเลี้ยงไปเป็นจำนวนมาก ส่วนที่เหลือไม่ขายน้ำนมดิบให้ประกอบการ แต่ได้นำไปจำหน่ายให้กับนมโรงเรียนมูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช้อนซื้อกลับหรือไม่ ในส่วนรายที่ผิดหวังในการเข้าร่วมโครงการนมโรงเรียน
แต่ในทุกปีที่ผ่านมาทางภาคเอกชนจะไม่รับซื้อ หากสหกรณ์หรือเอกชนรายใดประสงค์ที่จะจำหน่ายให้กับนมโรงเรียนแล้ว ซึ่งยังต้องติดตามอีกประมาณ 2 สัปดาห์ที่จะมีประกาศจะสามารถเข้าร่วมโครงการนมโรงเรียนปีนี้ได้เท่าไร จากปริมาณน้ำนมดิบรวม 3,388.797 ตันต่อวัน