ธนาคารกรุงเทพ (BBL)ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับ 6 ของอาเซียน(สินทรัพย์รวมและเครือข่ายในต่างประเทศมากที่สุด)
จับมือธนาคารเพอร์มาตา ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของธนาคารกรุงเทพ และเป็น 1 ใน 10 สถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย ได้ร่วมกันจัดงานสัมมนาออนไลน์
“ปรับตัว-เตรียมพร้อมรับความท้าทายในปี 2566”(Gearing Up – Getting ready for challenges in 2023) เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2565
สำหรับการสัมมนาออนไลน์ในครั้งนี้ ผู้ร่วมอภิปรายได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่า เศรษฐกิจที่มีความหลากหลายและยืดหยุ่นได้เป็นอย่างดีของอาเซียน จะสามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยจากมรสุมทางเศรษฐกิจ
ซึ่งเกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การขึ้นอัตราดอกเบี้ย ภาวะเงินเฟ้อ และการหยุดชะงักด้านพลังงานและห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกได้อย่างไร
ผู้ร่วมอภิปรายแนะนำให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับการบริหารการเงินด้วยความรอบคอบระมัดระวังควบคู่กับหลักธรรมาภิบาล
โดยได้ระบุตัวอย่างธุรกิจที่สามารถสร้างโอกาสการเติบโตใหม่ๆ ในภูมิภาคได้ เช่น ภาคอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และการผลิตด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง พร้อมแนะนำให้ผู้ประกอบการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส
นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู ผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานรายใหญ่ของไทยกล่าวว่า
“ขณะนี้ทุกคนอยู่ในยุค ‘Never Normal’ เนื่องจากไม่มีคำว่าสถานการณ์ปกติอีกต่อไป เพื่อการเติบโตในระยะยาว บริษัทต่าง ๆ จะต้องรวมมุมมองของ ‘Never Normal’ เข้ากับกลยุทธ์ทางธุรกิจ เพื่อนำเอากระแสการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจของตน”
ปัจจุบัน อาเซียนคือศูนย์กลางการผลิตระดับสากล โดยได้รับแรงหนุนจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ภูมิภาคนี้กำลังยกระดับกระบวนการผลิตไปสู่ Industry 4.0 ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรม เช่น หุ่นยนต์ การพิมพ์ 3 มิติ
และการปรับกระบวนการของอุตสาหกรรมด้วยระบบดิจิทัล สิ่งเหล่านี้เป็นโอกาสสำหรับภาคเอกชนในการขยายธุรกิจ กระจายห่วงโซ่อุปทาน และสร้างเครือข่ายธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยการกระจายความเสี่ยง เป็นหัวใจสำคัญของกลยุทธ์ที่สร้างความยืดหยุ่นและลดความเสี่ยงให้กับผู้ประกอบการ
นายโทนี่ เฟอร์นานเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มสายการบินแอร์เอเชีย (Capital A) กล่าวว่า
“กลุ่มสายการบินแอร์เอเชียเตรียมพร้อมรับความท้าทายโดยเน้นการสร้างรายได้และลดต้นทุน ด้วยการสร้างรายได้จากค่าโดยสารและรายได้อื่น ๆ เพื่อรักษาระดับกระแสเงินสดให้เป็นบวก”
ส่วนตัวมองเห็นโอกาสใน 2 ด้าน สำหรับกลุ่มสายการบินแอร์เอเชีย
ด้านแรก ได้แก่ การขนส่งที่ได้รับผลดีจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซซึ่งเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ที่ดียิ่งขึ้นให้กับธุรกิจขนส่งและสายการบินแอร์เอเชีย
ด้านที่สอง ได้แก่ การที่บริษัทด้านดิจิทัลของกลุ่มสายการบินแอร์เอเชียที่ในอดีตต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ไม่สมเหตุสมผล จากการอัดฉีดเงินทุนจำนวนมากจากนักลงทุน
แต่หลังจากภาวะฟองสบู่แตกของบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่ง ทำให้ต้นทุนของบริษัทเทคโนโลยีต้องปรับตัวลดลง บริษัทที่เคยดำเนินงานโดยไม่มีตรรกะทางธุรกิจจำต้องปรับตัวเปลี่ยนมาดำเนินงานอย่างยั่งยืน ด้วยการประเมินราคาที่เหมาะสมอย่างแท้จริง
นายปานดู พาเทรีย ชะฮ์รีร์ ผู้ร่วมก่อตั้งเอซีเวนเจอร์ และกรรมการตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซีย ยอมรับว่า บริษัทเทคโนโลยีจะยังคงเผชิญกับความท้าทายต่อไปในอนาคตและย้ำถึงความจำเป็นของธรรมาภิบาล
เขากล่าวว่า “เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจอินโดนีเซีย แม้ว่าปี 2566 จะเป็นปีแห่งความท้าทายสำหรับบริษัทเทคโนโลยี แต่ยังมีโอกาสสำหรับบริษัทที่ให้ความสำคัญกับธุรกิจหลัก การสร้างทีมงาน และการสร้างวัฒนธรรมด้านธรรมาภิบาล”
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ(BBL) กล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพเชื่อว่าอาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความปลอดภัยจากมรสุมใหญ่ทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
การขึ้นอัตราดอกเบี้ย ภาวะเงินเฟ้อ การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ แม้ว่าอาเซียนจะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก แต่อาเซียนกำลังฟื้นตัวและเติบโตได้เร็วกว่าภูมิภาคอื่นของโลกและ
ประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ โดยประเทศที่เป็นเศรษฐกิจหลักของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 3 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ไทย และเวียดนาม กำลังเดินหน้าสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
ในขณะที่อาเซียนกำลังก้าวสู่การเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่อันดับ 4 ของโลก ภายในปี 2573 จากสภาวะตลาดที่มีความหลากหลาย ศักยภาพของประชากร ความแพร่หลายของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ความแข็งแกร่งของภาคเอกชน รวมถึงการลงทุนจากต่างประเทศที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง