อ่านต่อฉบับเต็ม(2) “หนังสืออุทธรณ์” ที่ นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ส่งถึง “อธิบดีกรมที่ดิน” กรณีคดีที่ดินเขากระโดง เมื่อ 14 พ.ย. 2567 ซึ่งหนังสือมีทั้งหมดจำนวน 20 หน้า
โดยเนื้อหาหนังสืออุทธรณ์ของรฟท.ฉบับดังกล่าว ท่อนหนึ่งได้ระบุถึง "คำพิพากษาของศาลฎีกา" เพื่อยืนยันกรรมสิทธิ์ที่ดินเขากระโดงของการรถไฟฯว่า
1.2 ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ปรากฏตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842-876/2560 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 สรุปความได้ว่า จากแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ตอนที่แยกออกจากเส้นทางแยกเขากระโดงใช้เป็นเส้นทางลำเลียงหินหรือศิลาที่ย่อยในพื้นที่เขากระโดง เพื่อนำหินไปใช้ก่อสร้างในทางรถไฟสายหลักในเส้นทางดังกล่าว
ซึ่งทางรถไฟที่แยกออกอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 375+650 มีความยาวแยกออกไป 8 กิโลเมตร การรถไฟแห่งประเทศไทย เข้าครอบครองถือกรรมสิทธิ์ในครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2462 ขณะนั้นประเทศไทยใช้ระบบการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ซึ่งที่ดินทั้งหมดรวมทั้งที่ดินในบริเวณพิพาทข้างต้นเป็นของพระมหากษัตริย์ (รัชกาลที่ 6) การรถไฟแห่งประเทศไทยได้เข้าครอบครองและใช้ประโยชน์ก่อนเกิดเหตุคดีนี้นานกว่า 90 ปี จึงเชื่อว่าที่ดินตามแผนที่ซึ่งมีความยาว 8 กิโลเมตร และความกว้างตามที่ระบุในแผนที่ คิดเป็นพื้นที่ 5,083 ไร่ 80 ตารางวา เป็นที่ดินที่ข้าหลวงพิเศษซึ่งเคยได้รับแต่งตั้งตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2462
ดำเนินการสำรวจและวางแนวการก่อสร้างทางรถไฟเพื่อเข้าไปลำเลียงหินที่บริเวณเขากระโดงและบ้านตะโก และดำเนินการจัดซื้อที่ดินในช่วง 4 กิโลเมตรแรก อันเป็นบริเวณที่มีเจ้าของรวม 18 ราย และเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินในช่วง 4 กิโลเมตรหลัง อันเป็นบริเวณที่ไม่มีเจ้าของและเป็นแหล่งหินที่ใช้ในการก่อสร้างทางรถไฟ
สำหรับการเข้าครอบครองที่ดิน 4 กิโลเมตรแรกนั้น ปรากฏว่ารายชื่อเจ้าของที่ดินทั้ง 18 รายที่ระบุในแผนที่ตรงกับรายชื่อเจ้าของที่ดินที่ลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือรับเงินค่าทำขวัญในใบสำคัญแสดงรายละเอียดแห่งค่าทำขวัญสำหรับทรัพย์ทุกประเภทที่กรมรถไฟแผ่นดินได้จัดซื้อใช้เพื่อประโยชน์รถไฟ ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2467
และการที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวงฯ ระบุว่า ในช่วงเวลาสองปีที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวงฯ ห้ามมิให้ผู้ใดเข้าจับจองที่ดินซึ่งเป็นที่ว่างไม่มีเจ้าของ ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นว่า ข้าหลวงพิเศษที่ได้รับการแต่งตั้งตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว และกรมรถไฟแผ่นดินมีอำนาจกำหนดพื้นที่ซึ่งเป็นที่ว่างเปล่าไม่มีเจ้าของเป็นที่หวงห้ามไว้เพื่อประโยชน์ในการก่อสร้างทางรถไฟได้
ข้าหลวงพิเศษและกรมรถไฟแผ่นดินจึงมีอำนาจเข้ายึดถือที่ดินที่ไม่มีเจ้าของในช่วง 4 กิโลเมตรหลังถัดไปด้วย
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินตามแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ตอนแยกที่ย่อยศิลา ตำบลเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375+650 เป็นส่วนหนึ่งของพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางรถไฟต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2462
เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยการก่อสร้างทางรถไฟเข้าไปลำเลียงหินที่บริเวณเขากระโดง และบ้านตะโก ทั้งยังใช้เป็นแหล่งวัสดุสำหรับการก่อสร้างทางรถไฟสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ย่อมถือได้ว่าที่ดินตามแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินดังกล่าวเป็นที่ดินที่จัดหามาเพื่อใช้ในกิจการรถไฟโดยชอบด้วยกฎหมาย
อยู่ในความหมายของคำว่า "ที่ดินรถไฟ" ตามมาตรา 3(2) แห่งพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง พระพุทธศักราช 2464 ที่มีผลบังคับใช้อยู่ในเวลานั้น ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมรถไฟแผ่นดินตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว