CPALL เจ็บนิดๆ อย่าคิดมาก

28 ก.พ. 2566 | 21:30 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2566 | 14:45 น.

CPALL เจ็บนิดๆ อย่าคิดมาก คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ โดย...เจ๊เมาธ์

*** นักวิเคราะห์จากหลายสำนัก พากันปรับลดราคาเป้าหมายของ CPALL เนื่องจากกำไรไตรมาส 4/65 ลดลงมากถึง 24% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเป็นเหตุให้ราคาหุ้นของ CPALL ปรับร่วงแรงตามไปด้วย ซึ่งเมื่อเจ๊เมาธ์มองกลับเข้าที่งบดุลของ CPALL อย่างละเอียด ก็พบว่า รายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นมาเหล่านี้ไม่มีอะไรพิเศษจนต้องแตกตื่นเลยสักนิด

หากจะว่ากันตามตรงแล้ว รายจ่ายที่ว่านี้เป็นรายจ่ายที่เกิดจากการสร้างแหล่งที่มาของรายได้ใหม่ ที่เกิดจากการดึงเอา Lotus’s เข้ามารวมอยู่กับ CPALL ไม่ว่าจะเป็นค่าไฟฟ้า ค่าดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการส่งสินค้าแบบ Delivery

ขณะที่ในส่วนของเงินโบนัสพนักงาน ก็เป็นภาระจ่ายปกติที่มีปัญหา แค่ไม่ได้ตั้งสำรองเอาไว้เท่านั้น ซึ่งนั่นก็ทำให้รายจ่ายที่ว่ามาเหล่านี้ไม่ใช่รายจ่ายที่ผิดปกติแต่อย่างใดทั้งสิ้นนั่นเอง 
     
อย่างไรก็ตาม การที่ราคาหุ้นของ CPALL ปรับลงแรงแบบนี้ คนที่เจ็บตัวส่วนหนึ่ง ก็ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มนักลงทุนรายย่อย ที่อาจจะอ่อนไหวกับการกำหนดทิศทางของนักวิเคราะห์ แต่ยังต้องนับรวมเอาส่วนที่เป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของ CPALL รวมอยู่ด้วยเช่นเดียวกัน ก็อย่างว่าการถือหุ้นใหญ่ที่อยู่ในกระแสมันก็เป็นแบบนี้ ถ้าไม่นิ่งพอ...อ่อนไหวมาก มันก็ต้องแพ้ไปเป็นธรรมดา

*** ในบรรดาหุ้นธนาคารใหญ่ดูเหมือนว่า นอกจาก KTB ที่โดดเด่นในเรื่องกำไรที่ปรับขึ้นมาแรงมากในปี 2565 ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นทางด้านของ SCB ที่น่าจะโดดเด่นที่ไม่แพ้กัน

เพียงแต่ในส่วนของ SCB กลับเด่นในเรื่องของผลตอบแทนที่มีให้กับผู้ถือหุ้น หลังจากที่บอร์ดอนุมัติให้มีการจ่ายเงินปันผลงวดครึ่งหลังปี 65 สูงถึง 5.19 บาทต่อหุ้น หลังจากที่ครึ่งแรกปี 2565 จ่ายไปแล้วที่ 1.50 บาทต่อหุ้น ทำให้ทั้งปี 2565 มีเงินปันผลรวมสูงถึง 6.69 บาทต่อหุ้น คิดเป็น Dividend payout ในปี 2565 ที่ออกมาสูงถึง 60% จากปกติปี 2564 ที่จ่ายเพียง 4.06 บาทต่อหุ้น ทำให้ Dividend yield ในปีนี้ออกมาสูงถึง 6.6% เลยทีเดียว  
     
ความน่าสนใจของ SCB นอกจากจะเป็นเรื่องของ Dividend payout ที่ถูกดันขึ้นมาเป็น 60% และน่าจะยังอยู่ในระดับ 60% ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย รวมไปถึงยังมีเรื่องของบริษัทลูกที่จะเริ่มสร้างรายได้ให้เห็นในปีนี้เต็มเป็นครั้งแรก

ขณะเดียวกันก็มีโอกาสที่บริษัทลูกของ SCB (บมจ.เอสซีบี เอกซ์) จะถูกดันเข้าตลาดฯ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในอนาคตอีกด้วย ดังนั้น จังหวะนี้เจ๊เมาธ์บอกเลยว่า SCB โดดเด่นไม่แพ้หุ้นตัวไหนในตลาดอีกตัวอย่างแน่นอน

*** หลังจากที่ ก.ล.ต. ได้แจ้งกล่าวโทษบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการ “ปล้นกลางแดด” ในกรณีของการซื้อขายหุ้น MORE แบบผิดปกติ เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 65 จำนวน 18 ราย ต่อ บก.ปอศ. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมาย

ดูเหมือนจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความเสียหายรอบใหม่อีกครั้ง

ยิ่งในการแจ้งผลการดำเนินงานงวดปี 2565 ที่ปรากฏว่า ถึงแม้ว่าบริษัทจะยังพอมีกำไรอยู่ 13.91 ล้านบาท แต่กลับพบว่าบริษัทมีกำไรสุทธิลดลงถึง 98.96% เมื่อเทียบกับปี 2564 จำนวน 1,158 ล้านบาท ซึ่งไม่รู้ว่าในอนาคตบริษัทนี้จะมีกำไรกลับมาเหมือนเดิมได้หรือไม่

นี่ยังไม่นับรวมไปถึงการอายัดทรัพย์ของผู้เกี่ยวข้อง ที่ยังไม่เห็นจุดสิ้นสุดทำให้มองไม่เห็นอนาคตหุ้นตัวนี้เพราะเส้นเลือดใหญ่ ที่เคยส่งเม็ดเงินมาหล่อเลี้ยงราคาหุ้น ออกอาการตีบตัน จนแทบจะมองไม่เห็นทางออก

บอกเลย...งานนี้หนัก ถ้าไม่เปลี่ยนชื่อก็คงต้องถึงขั้นขายเชลทิ้งบริษัทกันเลยทีเดียวเจ้าค่ะ
     
*** หุ้นเมกะเทรนด์อย่าง MASTER และ KLINIQ เป็นหุ้นที่เจ๊เมาธ์ยังคงมองว่า มีอนาคตที่น่าสนใจ โดยเฉพาะทางด้านของ MASTER ที่นอกจากผลการดำเนินงานจะค่อนข้างดีมาก ก็ยังมีแนวโน้มของตลาดความงามในประเทศที่โตขึ้นอย่างโดดเด่น  

ขณะเดียวกันหากมองไปที่กลุ่มผู้ถือหุ้นของ MASTER ก็จะได้รู้ว่าหุ้นตัวนี้ไม่ธรรมดา และยิ่งไม่ธรรมดามากไปกว่านั้น เมื่อรู้ว่าผู้ถือหุ้นใหญ่ของ MASTER กับผู้ถือหุ้นใหญ่ของ TRC มีความเกี่ยวพันกันในระดับที่ไม่ธรรมดาเป็นอย่างยิ่ง

ไม่ต้องพูดกันให้มาก...

เอาเป็นว่า MASTER มีแบ็คดี ไม่ว่าจะเป็นแบ็คทางธุรกิจ และแบ็คทางด้านเงินทุนก็แล้วกันเจ้าค่ะ

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,866 วันที่ 2 - 4 มีนาคม พ.ศ. 2566