*** นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวคำปราศรัยที่ Capitol Hill ว่า “ข้อมูลทางเศรษฐกิจล่าสุดแข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์ไว้ บ่งชี้ว่าอัตราดอกเบี้ยขั้นสุดท้ายของเฟด จะอยู่สูงกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้” ซึ่งตีความได้ว่าเฟดอาจจะต้องปรับดอกเบี้ยให้ยืนอยู่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยขั้นสุดท้าย ที่ระดับ 5.1% ตามที่เจ้าหน้าที่เฟดคาดการณ์เอาไว้เมื่อปลายปี 65 จนเป็นสาเหตุให้ดัชนีหุ้นทั่วโลกปรับลดลง โดยเฉพาะในส่วนของตลาดหุ้นไทย ซึ่งมีตลาดหุ้นในกลุ่มธนาคารใหญ่อย่าง KBANK BBL SCB และ KTB แอบปรับฐานราคาลงไปรอก่อนการกล่าวคำปราศรัยของประธานเฟดหลายวัน
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของหุ้นกลุ่มธนาคารใหญ่ของไทย เช่น KBANK BBL SCB และ KTB ต่างก็เป็นบริษัทที่มีปัจจัยเฉพาะตัวที่ส่งผลให้ตัวเลขรายได้เพิ่มขึ้นหรือลดลง ซึ่งในมุมมองของเจ๊เมาธ์ ปัจจัยที่กดดันราคาหุ้นธนาคารไทยมากที่สุดในจังหวะนี้ ไม่ใช่ปัญหาการชำระหนี้ของลูกค้าธนาคาร แต่เป็นเรื่องของการตั้งสำรองหนี้เสีย (NPLs) ซึ่งแต่ละธนาคารต่างก็พากันจัดหนักจัดเต็ม จะกันเอาไว้มากแค่ไหนก็ไม่มีปัญหา เพราะไม่ต่างจากการแยกเงินสดไปไว้ในอีกบัญชี ซึ่งในอนาคตหากจำนวนหนี้เสียมีน้อยกว่าการตั้งสำรอง ก็สามารถนำเงินกลับมาบุ๊คเป็นกำไรพิเศษได้เช่นเดิม ดังนั้น โดยส่วนตัวของเจ๊เมาธ์จึงยังคงมองว่า หุ้นธนาคารยังเป็นหุ้นที่มีอนาคตที่สามารถสะสมไปได้เรื่อยๆ
*** หุ้นกลุ่มสถานเสริมความงามอย่าง MASTER และ KLINIQ ถือว่าเป็นหุ้นอีกกลุ่มที่เจ๊เมาธ์อยากให้แฟนๆ ของเจ๊พิจารณาเอาไว้ เพราะไม่ว่าจะเป็น KLINIQ ซึ่งเข้าตลาดมาก่อน หรือแม้แต่ทาง MASTER ที่เข้าตลาดตามมาต่างก็สามารถยืนราคาหุ้นเอาไว้เหนือราคาจองซื้อได้เกือบเท่าตัว
ส่วนหนึ่ง คือ หุ้นเหล่านี้เป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ของการดูแลสุขภาพและบุคลิกภาพที่ได้รับความสำคัญมากขึ้นมาโดยตลอด รวมถึงมีค่าใช้จ่ายในการเข้าใช้บริการต่อครั้งที่ค่อนข้างจะสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีอัตราส่วนในการทำกำไรที่สูงมาก เมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นในตลาดหุ้นไทยอีกหลายตัว ขณะที่นอกจากจะมีปันผลให้กับนักลงทุนตั้งแต่ไตรมาสแรกที่เข้าตลาด ราคาหุ้นของทั้ง MASTER และ KLINIQ ราคาขึ้นเรื่อย ๆ อย่างน่าสนใจ เอาเป็นว่า ลองจับตาดูให้ดี...
*** หลังจากที่ JAS เทขายแหล่งที่มาของรายได้ ไม่ว่าจะเป็นโครงข่ายเคเบิ้ลใยแก้วให้กับ JASIF เพื่อเปลี่ยนจากเจ้าของ มาเป็นผู้เช่าโครงข่ายเคเบิ้ลใยแก้วที่ว่า และต่อมาก็ได้ขายเงินลงทุนทั้งหมดในบริษัทย่อยและกิจการเกี่ยวข้องของบริษัท คือ บมจ.ทริปเปิลที บรอดแบนด์ (TTTBB) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) ให้แก่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ซึ่งในท้ายที่สุดทำให้ JAS กลายเป็นบริษัทที่มีเงินสด แต่ไม่มีแหล่งที่มาของรายได้ที่เป็นของตัวเองไปเลย
*** ล่าสุดเจ๊เมาธ์ได้ข่าวว่า JAS กำลังจะเดินหน้าเข้าไปสู่ธุรกิจพลังงาน ด้วยการเปลี่ยนชื่อบริษัทลูกที่ถือหุ้นอยู่ 100% จากเดิม คือ บริษัท ที.เจ.พี. เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เปลี่ยนมาเป็น บริษัท จัสกรีน จำกัด เพื่อทำกิจการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน และพลังงานอื่นทุกประเภท รวมถึงระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ และอื่นๆ ประมาณว่าเอาทุกอย่างที่เกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าไปโน้นเลย ส่วนที่ว่า JAS จะเอาจริงหรือไม่ แค่ไหน เจ๊เมาธ์ก็ยังไม่ชัดเจน เอาเป็นว่าเจ๊เมาธ์เล่าให้ฟังเพื่อเป็นการอัพเดทข้อมูลก็แล้วกันเจ้าค่ะ
*** อีกทางเลือกของนักลงทุน ยุคที่ตลาดหุ้นผันผวน เก็งกำไรหุ้นเล็ก ก็เจ็บหนัก ครั้นลงทุนหุ้นใหญ่ เงินไม่มากพอ หรือ ไม่ทันกองทุนต่างชาติ ต้องลองหันมามองหุ้นกู้ดูกันบ้าง ช่วงนี้ออกมารัวๆ ต่อเนื่อง แค่เลือกบริษัทมั่นคง ผู้บริหาร หรือ เจ้าของมีธรรมาภิบาล ผลดำเนินงานมีกำไร เป้าหมายระดมทุนชัดเจน ผลตอบแทนการลงทุนดี เมื่อมัดปัจจัยบวกเหล่านี้ได้แล้ว
แม้ดอกเบี้ยไม่แรง 7-8 % แค่พอหอมปากหอมคอ พอได้ค่าขนม ผลตอบแทนสูงกว่าแบงก์ เจ๊เมาธ์ ถือว่าดีแล้ว หุ้นกู้ที่เจ๊เมาธ์ เล็งๆ ไว้ตอนนี้ ก็เห็นจะมีหุ้นกู้ของ “อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป” หรือ EP ของ “เสี่ยยุทธ ชินสุภัคกุล” นี่แหละค่ะ อายุหุ้นกู้ ไม่สั้น-ไม่ยาว กำลังพอดี 2.6 ปี ดอกเบี้ย 5.65-5.75% จ่ายทุกๆ 3 เดือน เปิดให้จอง 27-28 มี.ค.นี้
** ภายหลังคอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ ฉบับที่แล้ว ได้เสนอผลการดำเนินงานปี 65 ของ TLI ทางบริษัทก็ได้ชี้แจงมาถึงเรื่องเงินเพิ่มทุน 12,489 ล้านบาท ไม่สามารถบันทึกเป็นรายได้ เพราะบริษัทลงบัญชีเงินเพิ่มทุนเป็นส่วนของผู้ถือหุ้นไม่ใช่รายได้ ส่วนเรื่องกำไรจากดอกเบี้ยก็ไม่ใช่ 325 ล้านบาท ...ก็ทราบกันไปตามนั้น
ที่มา : หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,869 วันที่ 12 - 15 มีนาคม พ.ศ. 2566