*** STARK แจ้งงบการเงินปี 65 ด้วยผลการดำเนินงานที่ขาดทุนสุทธิไป 6,612 ล้านบาท พร้อมทั้งได้แก้ไขงบปี 64 โดยเปลี่ยนจากเดิมที่เคยแจ้งว่า มีกำไร 2.8 พันล้านบาท กลับมาเป็นขาดทุนรวม 5,965 ล้านบาท แบ่งเป็นรายการขายผิดปกติ 202 รายการ คิดเป็นมูลค่าขาย 8,063 ล้านบาท ในปี 65 และ 3,593 ล้านบาท ในปี 64
ขณะที่บริษัทได้จ่ายเงินค่าซื้อสินค้าล่วงหน้า เป็นเงินถึง 7,976 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นการจัดการระบบบัญชีที่ผิดปกติจนเข้าข่ายของการ “ตกแต่งบัญชี” โดยระบบบัญชีผิดปกติ ซึ่งผ่านการตรวจรับรองจากผู้ตรวจสอบบัญชีระดับ Big4 ของโลกอย่าง Deloitte (Deloitte Touche Tohmatsu) ในขณะที่ธุรกรรมที่ว่านี้ส่วนใหญ่จะดำเนินการผ่าน บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด โดยที่ทาง “เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง” มีผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 ราย ประกอบไปด้วย บริษัท ทีมเอ โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้นสัดส่วน 60% นายกิจจา คล้ายวิมุติ ถือหุ้นสัดส่วน 37.5% และ นายประเสริฐ คล้ายวิมุติ ถือหุ้นสัดส่วน 2.5%
น่าสนใจมากที่สุดก็คือ ประเด็นที่ “ทีมเอ โฮลดิ้ง” มี นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้ง 100% และที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นก็คือ “วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ” คนนี้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ STARK และยังเป็นคนเดียวกันกับคนที่เคยบอกว่า จะเข้ามาสางปัญหาของ STARK หลังจากที่ไม่สามารถปิดงบปี 65 ลงไปได้
เอาเป็นว่าเรื่องของ “เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง” และ “วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ” จะเกี่ยวพันไปถึงกรณีของการ “ไซฟอน” และเรื่องของการ “ตกแต่งบัญชี” ของ STARK หรือไม่นั้น ก็คงจะต้องรอฟังผลการสอบเชิงลึกจากทางผู้สอบบัญชี ที่จะส่งให้กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในเวลาอีกไม่นานนับจากนี้ แต่ตอนนี้คำอธิบายถึงราคาหุ้นของ STARK ในตลาด ก็คงไม่มีคำที่เหมาะสมไปกว่าคำว่า “มันจบแล้วครับนาย” ได้อีกแล้ว
*** มีเสียงลือว่าสาเหตุที่ราคาหุ้นของ OTO ปรับลงมารวดเดียวต่อเนื่องกันถึง 5 ฟลอร์ เนื่องจากตึกบัญชาการของ OTO เกิดมีปัญหาเรื่องของ “ผีช่องแอร์” ที่ได้แอบแทรกซึมเข้ามาดูดความลับประมาณว่า ดูดกันไปจนหมดไส้หมดพุง ดูดไปจนแทบจะไม่เหลือน้ำเลี้ยง จนเป็นเหตุให้ราคาหุ้นของ OTO ร่วงลงไปแตะจุดต่ำสุดที่ราคาไม่ถึง 2 บาท ทั้งที่ควรจะได้ราคายืนอยู่ในระดับที่เหมาะสมสำหรับการเพิ่มทุนที่ราคา 16 บาทต่อหุ้น ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วัน
แน่นอนว่าสาเหตุที่ราคาหุ้นของ OTO ร่วงลงแรงนั้น มีทั้งเรื่องของการช็อตเชล และเรื่องของโรบ๊อตเทรดเข้ามามีส่วน ในการสั่งขายหุ้นในทุกระดับราคา รวมไปจนถึงการสาดหุ้นออกมาในจำนวนมหาศาล ในขณะที่ผู้ดูแลหุ้นของ OTO ก็อยู่ในมุมอับ เพราะไม่สามารถนำวงเงินจากบัญชีมาร์จิ้นมาพยุงราคาหุ้นได้เลย
อย่างไรก็ตาม การเข้ามาดูดข้อมูลของกลุ่ม “ผีช่องแอร์” ก็มีส่วนไม่น้อยที่ทำให้หุ้นตัวเล็กที่แทบจะไม่มีใครสนใจอย่าง OTO ได้ขยับขึ้นมาเป็นหุ้นในตำนานของปี 2566 ได้อีก 1 ตัว ทั้งที่ไม่มีใครอยากให้เป็น ส่วนเรื่องราวจะซับซ้อนแค่ไหน...เอาไว้เจ๊เมาธ์จะค่อยๆ นำมาเล่าให้ฟัง เรื่องมันก็มีอยู่เท่านั้นเองเจ้าค่ะ
*** เฮ้อ...เจ๊เมาธ์พึ่งจะบอกว่า DELTA เป็นหุ้นค้ำตลาดได้ไม่กี่วัน แต่ในสุด DELTA ก็ปิดบังความเป็นจริงของตัวเองเอาไว้ไม่ได้ อย่างหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่นักลงทุนทั่วไปที่ต้อง “เอาเงินไว้ก่อน” เนื่องจากราคาหุ้นที่ปรับขึ้นไปมากขนาดนี้ มันดึงดูดและเชิญชวนให้แปรสภาพจากหุ้นมาเป็นเงินสด โดยที่ไม่ต้องคิดมากอะไรเลยสักนิด
ส่วนอย่างที่สองก็คือ เรื่องมุมมองของนักวิเคราะห์ที่ต่างก็บอกว่า ราคาหุ้นของ DELTA มาไกลมากกว่าพื้นฐานทางธุรกิจมากแล้ว ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จะแนะนำให้ “ขาย” มากกว่าแนะนำให้ทำอย่างอื่น ท้ายที่สุดเป็นมุมมองของเจ๊เมาธ์เองที่บอกมาตลอดอยู่แล้วว่า...ไม่ว่าหุ้นอย่าง DELTA จะมีทรงที่ดีแค่ไหน แต่การที่ราคาหุ้นมาได้ไกลขนาดนี้ ก็ถือว่ามาไกลมากแล้ว และจะต้องดูหน้างานประมาณว่าลงขาย...ขึ้นซื้อ ล็อคกำไรเป็นเงินสดไปเรื่อยๆ รวมไปถึงไม่แนะนำให้ปล่อยยาวจนเกินไป ประมาณว่าเอาเงินมาไว้ก่อน แล้วอย่างอื่นค่อยมาว่ากันใหม่นั่นเอง
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,898 วันที่ 22 - 24 มิถุนายน พ.ศ. 2566