STARK เปิดตัว 3 ผู้บัญชาการ

06 ก.ค. 2566 | 22:33 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ค. 2566 | 23:50 น.

คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ STARK เปิดตัว 3 ผู้บัญชาการ โดย...เจ๊เมาธ์ 

*** ถึงแม้คำสารภาพผ่านทางโทรศัพท์ นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน (CFO) ของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK จะไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานเพื่อเอาผิดได้ในทางกฎหมาย แต่คำสารภาพที่อ้างอิงไปถึงผู้ถือหุ้นใหญ่และอดีตผู้บริหารของบริษัทจำนวน 3 คน ซึ่งเป็นบุคคลที่ นายศรัทธา อ้างว่าเป็นผู้สั่งให้ตนดำเนินการในการแต่งบัญชี ก็ได้สร้างแรงกระเพื่อมอยู่ไม่น้อย 

โดยในส่วนของ นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ซึ่งเป็นบุคคลแรกที่ถูกพาดพิง บุคคลนี้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ STARK และผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด บริษัทที่ทำแทบทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมของ STARK ขณะนี้ได้ถูกปลดออกจากการเป็นกรรมการผู้มีอำนาจใน STARK ออกไปแล้ว ส่วนบุคคลที่สองคือ นายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานกรรมการของ STARK มีข่าวว่าได้เดินทางไปกบดานฮ่องกง หลังจากที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ได้ออกหมายเรียกให้นายชนินทร์ เข้ามาชี้แจ้ง 

ขณะที่ นายชินวัฒน์ อัศวโภคี อดีตบอร์ดของ STARK ซึ่งเป็นบุคคลที่สามที่ถูก นายศรัทธา อ้างอิง ตอนนี้ก็ถูก ก.ล.ต.กล่าวโทษ รวมทั้งอยู่ในข่ายที่จะถูก ดีเอสไอ ออกหมายเรียกเข้ามาให้ข้อมูล ซึ่งนายชินวัฒน์ คนนี้เป็นคนที่ได้ทำดีลซื้อหุ้น MPIC มูลค่า 650 ล้านบาท ก่อนที่ในท้ายที่สุดจะเปลี่ยนไปเป็นชื่อของ นายขันเงิน เนื้อนวล แร็ปเปอร์คนดังนั่นเอง  

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ในท้ายที่สุดผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทั้งหมดในครั้งนี้จะถูกดำเนินคดี หรือ ถูกปรับ รวมไปถึงอาจจะถูกยึดทรัพย์ แต่ก็เชื่อได้ว่าคงจะไม่สามารถชดเชยให้กับความเสียหายที่เกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน และหากจะว่ากันตามตรง เรื่องเช่นนี้มันไม่ควรจะเกิดขึ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นองค์กรที่มีการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดในทุกขั้นตอนเลยซะด้วยซ้ำ เพราะถ้าไม่โกง หรือ โกงไม่ได้ ก็จะไม่มีผู้เสียหาย และเมื่อไม่มีผู้เสียหายก็ไม่ต้องมาตามล้างตามเช็ด รวมไปถึงไม่ต้องชดเชยเยียวยา และไม่ต้องมาสูญเสียความเชื่อมั่น... เรื่องมันก็มีอยู่เท่านั้นเอง

*** ตอนนี้เจ๊เมาธ์กำลังให้ความสนใจกับ KTC เนื่องจากราคายังต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ในแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นกับหุ้นลีสซิ่ง อย่างหนึ่งก็เป็นเพราะว่า KTC มีโครงสร้างทางธุรกิจรวมไปถึงแหล่งที่มาของเงินทุนและรายได้ใกล้เคียงกับธุรกิจลีสซิ่งพอสมควร 

ดังนั้น สาเหตุที่ราคาหุ้นของ KTC ปรับลงมาต่อเนื่อง ก็มาจากเรื่องของความกังวลใจในเรื่องของต้นทุนทางธุรกิจ ที่มาจากเงินกู้ของสถาบันการเงิน และเรื่องของ NPL ที่มีแนวโน้มว่ายังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นได้อีกเหมือนกัน 

อย่างไรก็ตาม หากมองลงไปลึกๆ ถึงแม้ผลการดำเนินงานของบริษัทอาจจะปรับตัวขึ้นไปได้อีกไม่สูงนักเมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ แต่นักวิเคราะห์จากบางสำนักก็มองว่า KTC ยังอยู่ในระดับที่มีโอกาสทำสถิติสูงสุดได้อีกครั้ง ในขณะที่เรื่องของ NPL ถึงแม้ว่าอาจจะปรับสูงขึ้นบ้าง แต่ก็เพียงแค่ 1.9% ซึ่งอยู่ในวิสัยที่ยังควบคุมได้ ส่วนเรื่องของต้นทุนทางการเงิน เมื่ออัตราสินเชื่อยังคงเติบโตยังทำให้กำไรเพิ่มสูงขึ้นเพื่อชดเชยในส่วนที่ขาด ดังนั้น ถ้าเจ๊เมาธ์จะบอกว่า KTC เป็นหุ้นอีกหนึ่งตัวที่น่าสะสมก็น่าจะไม่ผิดนัก เพียงแต่ในจังหวะนี้ถ้าใครจะเข้าก็ต้องแบ่งไม้เล่น...รวมไปถึงหาราคาหุ้นตอนย่อที่เหมาะสมให้ได้ก็พอ

*** เจ๊เมาธ์ไม่อยากจะฟันธง หรือ ไม่สามารถบอกว่า การที่หุ้น IPO น้องใหม่อย่าง BLC TBN และ TPL ซึ่งเข้าทำการซื้อขายทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เพียงวันแรก หรือ วันที่สอง แล้วราคาหุ้นปรับร่วงลงอย่างรุนแรงนั้น เป็นเพราะว่ามีการเล่นเก็งกำไรหนัก จนเกิดทำให้เกิดการทุบ หรือตบเอาเงินจากนักลงทุน หรือเป็นเพราะคำเตือนของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ได้แจ้งว่า “ขอให้ผู้ลงทุนพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อขาย นอกจากนี้ ขอให้บริษัทสมาชิกทุกรายกำกับดูแลการซื้อขายและการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์นั้นอย่างใกล้ชิดและเคร่งครัด เพื่อป้องกันการส่งคำสั่งซื้อขายที่อาจไม่เหมาะสม หรือไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์” จนทำให้นักลงทุนรายใหญ่รายย่อยทั้งหลายต่างต้องรีบคัทหุ้นของบริษัทเหล่านี้ ที่มีอยู่ในมือทิ้ง ทั้งที่การเข้าซื้อขายหุ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงในวันแรกของการซื้อขายนั้น มันย่อมไม่สามารถที่จะกระจายหุ้นให้นักลงทุนจำนวนมากได้อยู่แล้ว

แน่นอนว่า คำเตือนของตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นสิ่งที่ดี และมีประโยชน์กับนักลงทุน เพียงแต่การออกมาบอกว่า หุ้นใหม่ที่พึ่งจะเข้าตลาดฯ ได้แค่วัน...ครึ่งวัน ว่ามีการซื้อขายกันแบบกระจุกตัว กลับทำให้ราคาหุ้นเข้าใหม่เหล่านี้ถูกทิ้งลงมาแรง เพราะนักลงทุนกลัวว่าจะติดแคชฯ หรือ มีอย่างอื่นตามมานั้นมันน่าจะสร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนมากกว่า การที่ปล่อยให้ราคาหุ้นเป็นไปตามธรรมชาติของการเก็งกำไร ภายใต้กติกาที่มีชัดเจนอย่างที่ควรจะเป็น 

ขณะเดียวกัน การที่ราคาหุ้น IPO ที่เข้าตลาดในวันแรก หรือวันที่สองปรับร่วงลงหนักเช่นนี้ ก็ทำให้นักลงทุนขยาด ไม่มั่นใจและไม่อยากยุ่งกับตลาดหุ้นที่เอาอะไรแน่นอนไม่ได้ก็เป็นได้ เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้ ...มันก็แล้วแต่ใครจะคิดยังไงเท่านั้นเอง

*** ราคาหุ้นโรงพยาบาลหลายแห่งเริ่มออกอาการถอยหลัง ไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก ทั้ง BDMS BCH CHG VIBHA PR9 รวมไปถึงหุ้นโรงพยาบาลน้องใหม่ไอพีโอ อย่างเช่น PHG ซึ่งทำราคาต่ำจองตั้งแต่นาทีแรกที่เข้าตลาดฯ แน่นอนว่าอย่างหนึ่งก็คงเป็นเรื่องของรายได้ ที่เคยมีจากเชื้อโควิดที่เคยทำได้อย่างเป็นกอบเป็นกำในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถึงแม้ว่ารายได้ที่ว่านี้แทบจะไม่ถูกนำมาพูด หรือ อ้างถึง แต่ก็ต้องยอมรับว่าหลายโรงพยาบาลมีผลการดำเนินงานที่ปรับลดลง และถึงแม้ว่าจะมีหลายโรงพยาบาลที่พยายามสร้างรายได้ในส่วนอื่นเข้ามาทดแทน แต่ก็ยังไม่สามารถทดแทนได้อย่างแท้จริง ขณะที่อีกอย่างก็มาจากกระแสของการเก็งกำไรที่เริ่มจะซาลงไปตามภาวะตลาดหุ้นไทย ที่แทบจะอยู่ในสุญญากาศในแทบทุกด้าน

เจ๊เมาธ์ยังคงมองว่าหุ้นในกลุ่มปัจจัย 4 โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลยังถือว่าเป็นหุ้นที่มีโอกาสเติบโตได้ในอนาคต ยิ่งถ้ามีปัจจัยจากการเมืองเริ่มนิ่งและภาวะเศรษฐกิจเริ่มกลับสู่การฟื้นเข้าไปด้วยก็น่าจะทำให้หุ้นปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้กลับไปดีได้อีกครั้ง เพียงแต่ถ้าจะเข้าก็ต้องแบ่งไม้เล่นและหาจังหวะตอนย่อที่ดีให้ได้ หลังจากนั้นก็รอ เรื่องมันก็มีเท่านั้นเองค่ะ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3903 ระหว่างวันที่ 9-12 ก.ค.2566